ผศ.(พิเศษ) พญ.ชนนิกานต์ วิสูตรานุกูล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า อินนูลิน (Inulin) คือ ใยอาหารละลายน้ำชนิดฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ เป็นอาหารของจุลินทรีย์สุขภาพ หรือพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) พบมากในหัวหรือรากของพืช ผัก ผลไม้ และสมุนไพรบางชนิด เช่น หอมหัวใหญ่ ชิโครี กระเทียม กล้วยหอม ข้าวบาร์เลย์ และพบมากที่สุดในแก่นตะวัน (Jerusalem artichoke)
เพราะอินนูลินเป็นอาหารของจุลินทรีย์สุขภาพ หรือพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ที่ดีต่อการทำงานของระบบลำไส้ ดังนั้นจึงำทให้ระบบลำไส้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รศ. ดร.ครรชิต จุดประสงค์ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ใยอาหารที่ละลายน้ำได้ของอินนูลิน เมื่ออยู่ในกระเพาะอาหาร จะมีลักษณะเป็นเจล ทำให้อาหารอยู่ในกระเพาะนานขึ้น (delay gastric emptying time) จึงรู้สึกอิ่ม ทานอาหารได้น้อยลง จึงเหมาะกับการรับประทานระหว่างลดความอ้วน
นอกจากนี้ อินนูลินซึ่งเป็นใยอาหารจะดูดซับน้ำตาลและไขมันในอาหารที่เรากินเข้าไป ทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลและไขมันในระบบทางเดินอาหารได้น้อยลง ร่างกายจึงได้รับพลังงานน้อยลงอีกด้วย
อินนูลิน จะดูดซับน้ำและน้ำตาล จนมีลักษณะเป็นเจล ทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลได้ช้าลงและน้อยลง
ร่างกายของเรา ไม่มีเอนไซม์ที่จะย่อยอินนูลิน ดังนั้นเมื่อเราทานหัวแก่นตะวัน เข้าไป จึงไม่ไปเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด บวกกับเมื่อกินแก่นตะวันจะรู้สึกอิ่มจากคุณสมบัติการเป็นใยอาหารของอินนูลิน ทำให้ทานอาหารอย่างอื่นได้น้อยลง ทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลน้อยลง
อินนูลิน ดูดซับไขมันในอาหารที่เราทานเข้าไป ทำให้ร่างกายดูดซึมไขมันได้น้อยลง และน้ำดีซึ่งผลิตจากตับ มีคอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบ มีบทบาทในกระบวนการย่อยไขมันในลำไส้เล็ก ซึ่งปกติจะถูกร่างกายดูดซึมและนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก แต่เมื่อมันถูกดูดซึมไปโดยใยอาหารละลายน้ำ (อินนูลิน) มันก็จะกลายเป็นของเสียถูกขับออกจากร่างกาย ทำให้ตับต้องผลิตน้ำดีใหม่ โดยการดึงคอเลสเตอรอลในเลือดมาผลิตเป็นน้ำดีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดจึงลดลง
โรคหัวใจที่พบบ่อยเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด ซึ่งเกี่ยวข้องกับระดับคอเลสเตอรอลและโฮโมซิสเตอีน (Homocysteine) ในเลือด และเราก็ทราบว่าแก่นตะวันช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ ดังนั้นจึงลดความเสี่ยงภาวะหัวใจขาดเลือดได้
ด้วยคุณสมบัติของใยอาหาร ซึ่งจะเพิ่มน้ำหนักของอุจจาระ ทำให้อุจจาระชุ่มน้ำ นอกจากนี้ กรดไขมันสายสั้น (Short-chain fatty acid) ซึ่งผลิตโดยไบฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) จะช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้นด้วย
การขับถ่ายที่ดีขึ้น ช่วยลดการสะสมของเสีย หรือสารพิษก่อมะเร็งในลำไส้ใหญ่ อินนูลิน และ ฟรุกโต โอลิโกแซคคาไรด์ (Fructo Oligosaccharide หรือ FOS) จากแก่นตะวันเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น แลคโตบาซิลลัส ไบฟิโดแบคทีเรีย ทำให้จุลินทรีย์ดังกล่าว มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นภายในลำไส้ใหญ่
สภาวะความเป็นกรดในลำไส้ใหญ่ จากการได้รับอินนูลินและ ฟรุกโต โอลิโกแซคคาไรด์ ทำให้การดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกายเพิ่มมากขึ้น ลดความเสี่ยงโรคกระดูก
ไบฟิโดแบคทีเรีย สามารถผลิตวิตามิน บี1 บี2 บี6 บี12 กรดนิโคตินิก และ กรดโฟลิค อินนูลินและ ฟรุกโต โอลิโกแซคคาไรด์ จากแก่นตะวันทำให้จำนวนไบฟิโดแบคทีเรียมากขึ้น ร่างกายจะได้รับวิตามินเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น