กลุ่มผะญาเม็งรายสามัคคีเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ต้องการทำงานเพื่อชุมชนโดยให้บริการในด้านการฝึกอบรมและเป็นที่ปรึกษาในด้านวิชาการในมิติทางด้านสุขภาวะแบบองค์รวม ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558 เคยได้รับงบประมาณสนับสนุนการทำงานจากกองกิจการอาสาสมัครและภาคประชาสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการจัดทำ “โครงการสันติรัก กระบวนการสันติวิธีเพื่อสร้างศักดิ์ศรีความเป็นคน” ให้กับกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส โดยเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนซึ่งไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร์ กลุ่มผะญาเม็งรายสามัคคี ได้เลือกนักเรียนโรงเรียนวัดแม่แก้ดน้อย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ จำนวน 30 คนเป็นกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย แม้ว่าบางคนจะถือกำเนิดในผืนแผ่นดินไทยแต่ด้วยเพราะพ่อแม่เป็นแรงงานอพยพที่ยังไม่ได้รับสัญชาติแม้จะเดินทางมาทำงานในประเทศไทยเนิ่นนานแล้วก็ตาม
กระบวนการให้ความรู้เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการใช้เวลา 3วันกับ 2 คืน โดยเนื้อหามีการใช้กระบวนการสันติวิธีผนวกกับเรื่องราวของสิทธิมนุษยชนเบื้องต้น เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจสถานภาพของตนเอง และมองเห็นข้อจำกัดต่าง ๆ ในสังคมที่ได้กระทำต่อเขา ในขณะเดียวกันได้จัดกระบวนการเสริมศักยภาพภายในให้พวกเขามีภาวะผู้นำที่จะสามารถลุกขึ้นต่อสู้และเรียกร้องป้องกันสิทธิของตนเองได้ สุดท้ายจึงได้จัดเวทีสรุปบทเรียนการทำงานร่วมกันอีกเป็นเวลา 2 วันกับ 1 คืน
ผลจากการอบรมเชิงปฏิบัติการพบว่า เยาวชนกลุ่มนี้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น มีความตระหนักและเข้าใจว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เห็นอยู่ในสังคมเกิดจากอะไรและจะหาทางออกของปัญหาได้อย่างไร หลังจากการอบรมเสร็จสิ้นลงแล้ว กลุ่มผะญาเม็งรายสามัคคีได้มีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์ในทำกิจกรรมต่าง ๆ ของเยาวชนแกนนำในโรงเรียนพบว่า เยาวชนมีความกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์และรับผิดชอบมากขึ้น กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ นอกจากนั้นยังพบว่า เยาวชนเข้าใจตัวเองมากขึ้น เข้าใจคนอื่นที่มีความแตกต่าง และที่สำคัญคือเข้าใจสังคมที่พวกเขาอยู่ว่าเป็นอย่างไร
ข้อมูลจากการถอดบทเรียนพบว่า เยาวชนกลุ่มนี้ต้องการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษามากขึ้น เนื่องจากหลักสูตรของโรงเรียนยังไม่ได้ให้ความรู้ในเรื่องนี้เท่าที่ควร และตัวครูเองก็ไม่สามารถสอนเพศศึกษาได้อย่างรอบด้าน กลุ่มผะญาเม็งรายสามัคคีจึงเขียน “โครงการรักต้องรู้ : กระบวนการพัฒนาทักษะชีวิตในเรื่องเพศให้กับนักเรียนไร้สัญชาติโรงเรียนวัดแม่แก้ดน้อย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่” เสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนโรงเรียนวัดแม่แก้ดน้อยจำนวน 30 คน ทั้งหมดเป็นชาวไทยใหญ่ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ส่วนหนึ่งเคยผ่านการอบรม“โครงการสันติรัก กระบวนการสันติวิธีเพื่อสร้างศักดิ์ศรีความเป็นคน” มาแล้ว
โครงการ “โครงการรักต้องรู้ : กระบวนการพัฒนาทักษะชีวิตในเรื่องเพศให้กับนักเรียนไร้สัญชาติโรงเรียนวัดแม่แก้ดน้อย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่” มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ
1. เพื่อให้แกนนำนักเรียนไร้สัญชาติมีความรู้ในเรื่องเพศ
2. เพื่อให้แกนนำนักเรียนนำความรู้เรื่องเพศไปขยายผลต่อในโรงเรียนและชุมชนและนำไปใช้ในชีวิตจริงได้
กิจกรรมประกอบด้วย 3 กิจกรรม
กิจกรรมที่ 1: ค่ายรักต้องรู้จัดค่ายระยะเวลา 3 วันกับ 2 คืนรวม 24 ชั่วโมงให้ความรู้เรื่องเพศแก่ แกนนำเยาวชนไร้สัญชาติจำนวน 30 คนสถานที่อบรมคือวัดศรีเกิด อ.เมือง จ.เชียงใหม่เนื้อหาหลักสูตรประกอบด้วย
เมื่อถามนักเรียนว่าได้อะไรจากการเข้าค่าย นักเรียนตอบว่า ...
กิจกรรมที่ 2 : กิจกรรมสื่อสารในพื้นที่ เป็นกิจกรรมในโรงเรียนหรือในชุมชนให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศกับกลุ่มเป้าหมายประมาณ 50 คน เดือนละ 1 ครั้ง ๆ ละ 2 ชั่วโมง ซึ่งจะทำทั้งหมด 8 ครั้ง โดยแบ่งแกนนำออกเป็น 3 กลุ่ม ๆ ละ 10 คน แต่ละกลุ่มเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 คละรวมกัน โดยให้แกนนำแต่ละคนผลัดเปลี่ยนกันเป็นผู้นำกิจกรรม สร้างการเป็นผู้นำในการสื่อสาร กิจกรรมที่นำไปใช้ในการเผยแพร่ส่วนหนึ่งมาจากความรู้ที่ได้รับจากการเข้าค่าย ส่วนหนึ่งนักเรียนศึกษาจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ แล้วนำมาเสนอในกลุ่มเพื่อให้กลุ่มให้ความเห็นชอบก่อนนำไปใช้ในการเผยแพร่
แกนนำนักเรียนเล่าประสบการณ์ในการนำความรู้ไปเผยแพร่ให้กับนักเรียนคนอื่น ๆ ในโรงเรียนว่า ...
กิจกรรมที่ 3: ค่ายถอดบทเรียนเป็นเวทีค่ายถอดบทเรียนระยะเวลา 2 วันกับ 1 คืน โดยทำ 2 ครั้งคือ หลังจากลงพื้นที่ไปแล้ว 4 ครั้ง และเมื่อโครงการสิ้นสุดลง โดยเนื้อหาประกอบด้วย
ผลการถอดบทเรียนพบว่า ...การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายมี “ความสุข” มี “ความสนุกสนาน” ได้คิด ได้ทำอะไรที่ตนเองอยากจะทำ กิจกรรมที่ชอบมากที่สุดคือ กิจกรรม “รับฟังด้วยหัวใจ” เพราะได้ ”รู้จักใจตนเอง” มากขึ้น และ“รู้จักใจเพื่อน”มากขึ้นด้วย สิ่งที่ประทับใจคือ “กระบวนการ”ของค่ายที่เป็นกิจกรรมไม่ใช่การบรรยาย มีการกระตุ้นให้กล้าคิดกล้าทำ ไม่บอกว่าสิ่งใดถูกหรือผิด แต่ให้พวกเราช่วยกันคิดทบทวนและตัดสินใจร่วมกันว่าควรจะทำอย่างไร ถ้าดีก็ทำต่อไป ถ้าไม่ดีก็ปรับปรุงแก้ไข ไม่เคยเจอค่ายไหนที่เป็นแบบนี้มาก่อน อยากจะให้มีค่ายแบบนี้บ่อยๆ เพราะจะทำให้เราได้คิดได้เติบโตและมีความสร้างสรรค์รวมทั้งมีความสามัคคีในหมู่คณะมากขึ้นด้วย เสียดายที่กิจกรรมมีปีเดียวอยากจะให้น้องๆทุกคนในโรงเรียนได้เรียนรู้ด้วย
เมื่อถามว่านักเรียนได้อะไรจากการเข้าร่วม “โครงการรักต้องรู้ : กระบวนการพัฒนาทักษะชีวิตในเรื่องเพศให้กับนักเรียนไร้สัญชาติโรงเรียนวัดแม่แก้ดน้อย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่” นักเรียนบอกว่า ...
นักเรียนที่ผ่านการเข้าค่ายและได้นำความรู้ไปเผยแพร่บอกว่าตนเองได้รับอะไรมากมายจากการเข้าร่วมโครงการ แล้ว ครูกีรติกานต์ เตชาวัฒนากูลผู้รับผิดชอบโครงการล่ะได้อะไร “เจ๊มีนา” ชื่อที่เด็กๆในโครงการเรียกด้วยความคุ้นชินได้เล่าว่า“ลึก ๆ แล้วต้องการให้นักเรียนตื่นรู้จากข้างใน (Empowerment) เพราะการรู้คุณค่าของตนเป็นสิ่งสำคัญ การตระหนักรู้ตรงนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตและสามารถนำมาเป็นเกราะป้องกันตัวเองได้ตลอดไป โรงเรียนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยสอนให้เด็กรู้จักตัวตนข้างในของตัวเอง สอนแต่ให้คิดให้จดจำและให้หลงไปกับสิ่งที่สังคมบอกเขาว่ามันดี มันควรทำ แต่ไม่เคยสอนให้เขาได้เข้าใจว่าเพราะอะไรหรือทำไมต้องทำหรือไม่ทำ ไม่เคยสอนให้เด็กตั้งคำถามแต่สอนให้เด็กแค่ทำตาม เรื่องเพศถ้าจะมาแค่บรรยายให้ฟังนักเรียนก็ไม่ได้อะไร ฟังแล้วก็ผ่านเลยไป เด็กก็แค่รู้แต่ไม่เข้าใจและไม่ใส่ใจ ปัญหาต่างๆในเรื่องเพศจึงเกิดขึ้น เวลาเด็กมีปัญหาเด็กแก้ไขด้วยตนเองไม่ได้เพราะเขาไม่เคยฝึกให้แก้ไขปัญหาเอง ด้วยเหตุนี้จึงนำเรื่องเพศซึ่งเด็กในวันนี้สนใจ ใคร่รู้ มาเป็น “หัวข้อ” และใช้ “กระบวนการ”ที่มีเทคนิคอันมีประสิทธิภาพในการเป็น “เครื่องมือ” ที่จะดึงความเป็นตัวตนของนักเรียนออกมา เท่าที่ได้รับการรายงานจากครูในโรงเรียนวัดแม่แก้ดน้อยพบว่า พฤติกรรมของนักเรียนเปลี่ยนไปเป็นไปตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ ก็รู้สึกดีใจเพราะบรรลุเป้าหมายอันแท้จริงที่ได้วางไว้”
ครูรุ่งนภา เมืองอินทร์ ครูผู้ประสานงานของโรงเรียนวัดแม่แก้ดน้อย แสดงความรู้สึกที่มีต่อ“โครงการรักต้องรู้ : กระบวนการพัฒนาทักษะชีวิตในเรื่องเพศให้กับนักเรียนไร้สัญชาติโรงเรียนวัดแม่แก้ดน้อย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่” ว่า...
นายณรงค์ ลุมมา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดแม่แก้ดน้อย แสดงความรู้สึกว่า ... “สสส. เป็นหน่วยงานที่ให้โอกาสแก่เด็กด้อยโอกาสอย่างเป็นรูปธรรม“โครงการรักต้องรู้ : กระบวนการพัฒนาทักษะชีวิตในเรื่องเพศให้กับนักเรียนไร้สัญชาติโรงเรียนวัดแม่แก้ดน้อย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่” ช่วยงานโรงเรียนได้เป็นอย่างดี การสอนเรื่องเพศกันเองโดยครูภายในโรงเรียนได้ผลน้อยกว่าการสอนของวิทยากรภายนอก เด็กได้รับประโยชน์มาก ขอบคุณจริง ๆ ”
จากการสนทนากับแกนนำนักเรียนพบว่า ... นักเรียนกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออกจริง ๆ สมกับที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพภายใน เพราะ “การตื่นรู้จากภายใน ที่เป็นเสมือนการระเบิดจากข้างในเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง” เมื่อถามว่าเรื่องต่อไปที่นักเรียนสนใจใคร่อยากรู้คือเรื่องอะไร นักเรียนตอบพร้อมกันว่า “ยาเสพติด เพราะขณะนี้ ยาเสพติด กำลังระบาดมากในชุมชนและกำลังคืบคลานเข้ามาในโรงเรียน แต่ก็จะไม่เลิกการให้ความรู้เรื่องเพศกับนักเรียนและชุมชน เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากพอ ๆ กัน เราคงต้องแบ่งหน้าที่กันทำต่อไป” เป็นคำตอบของนักเรียนที่ “คิดเองได้ คิดเองเป็น” ซึ่งตรงกับยุคการศึกษา 4.0 ที่เราจะต้องเริ่มต้นเชื่อและลงมือทำกันอย่างจริงจังในเรื่องที่ว่า “เด็กคิดนำ ผู้ใหญ่หนุนเสริม” จริงๆ