BABY’S LAZY EYE ทำความรู้จักโรคตาขี้เกียจ

ที่มา : SOOK Magazine No.69


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


BABY'S LAZY EYE ทำความรู้จักโรคตาขี้เกียจ  thaihealth


หนึ่งในปัญหาดวงตาของเด็กที่พ่อแม่และผู้ปกครองไม่ทันสังเกต และอาจขาดความรู้ความเข้าใจ กว่าจะพบก็รักษาไม่ทัน คือ โรคตาขี้เกียจ เป็นโรคที่เด็กใช้ดวงตาในการมองเห็นเพียงข้างเดียวจนเคยชิน และดวงตาข้างที่ไม่ได้ใช้บอดลงในที่สุดหากไม่รีบรักษา เพราะฉะนั้นการใส่ใจหมั่นตรวจเช็กดวงตาของเจ้าตัวเล็กจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย


ทำความรู้จักโรคตาขี้เกียจ


โรคตาขี้เกียจ (Lazy Eye หรือ Amblyopia) พบในเด็กอายุไม่เกิน 7 ปี เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่กำลังมีการพัฒนาการทางด้านการมองเห็น หากตรวจพบว่าเป็นต้องรีบรักษา เพราะหากอายุเกิน 7 ปีขึ้นไปแล้วการรักษาอาจทำได้ยากหรือไม่สามารถรักษาได้เลย ส่งผลให้มีปัญหาด้านสายตา หรือร้ายแรงถึงขั้นตาบอดไปตลอดชีวิต


สาเหตุของโรค สาเหตุหลักของการเกิดโรคตาขี้เกียจ ได้แก่


– ภาวะตาเขหรือตาเหล่ โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นตาเหล่ข้างเดียวชนิดเหล่เข้าใน ตาข้างที่เหล่เป็นประจำจะเกิดโรคตาขี้เกียจขึ้น


– สายตาสั้น ยาว เอียงมากเกินไปหรือสายตาสองข้างไม่เท่ากัน ส่งผลให้ใช้ตาเพียงข้างเดียว ส่วนอีกข้างที่ไม่ได้ใช้งานก็จะเสื่อมสภาพลง จนทำให้มองเห็นภาพมัว


– มีอะไรมาบดบังการมองเห็นอันนี้อันตรายที่สุด เช่น โรคต้อกระจก หนังตาตก หากไม่รีบรักษา อาจร้ายแรงถึงขั้นตาบอดได้


สังเกตควงตาเจ้าตัวเล็ก ๆ


โรคตาขี้เกียจค่อนข้างสังเกตได้ยาก เพราะ ตัวเด็กเองไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวเองมีอาการหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยหมั่นสังเกตดวงตาของเด็ก ๆ โดยอาศัยหลักการดังนี้


– เด็กแรกเกิด สังเกตลักษณะขนาดของตาทั่ว ๆ ไปว่าปกติดีหรือไม่มีอะไรมาปิดตาดำของเด็กหรือไม่


– เด็กอายุ 2-3 เดือน สามารถจ้องหน้าพ่อ แม่ หรือพี่เลี้ยงเวลาให้นมได้


– เด็กอายุ 6 เดือน ควรมองตามและจับจ้องนิ่ง ๆ ที่วัตถุได้ ตาดำต้องอยู่ตรงกลาง ตาต้องนิ่งเมื่อมองวัตถุ


– เด็กอายุ 3 ปี เป็นวัยที่สามารถใช้แผ่นภาพรูปสัตว์หรือสิ่งของที่เด็กคุ้นเคยในการวัดสายตา รวมถึงสังเกตเด็กว่าตาเหล่หรือไม่


หากสังเกตเห็นว่าดวงตาของเด็กมีความผิดปกติ และพฤติกรรมของเจ้าตัวเล็กไม่เป็นไปตามที่กล่าวข้างต้นควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันที


เรื่องต้องรู้


องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ตรวจตาเด็กเพื่อป้องกันโรคตา และหากเกิดความผิดปกติจะได้รักษาได้ตั้งแต่แรกเริ่ม ได้แก่


– เด็กคลอดก่อนกำหนด ควรตรวจโรคจอประสาทตาเสื่อม


– เด็กแรกเกิด ควรตรวจโรคต้อกระจก ต้อหิน ความผิดปกติส่วนหน้าของตา


– เด็ก 3-5 ขวบ ควรตรวจโรคตาขี้เกียจ ตาเข สายตาสั้น ยาว เอียงมากเกินไปหรือสายตาสองข้างไม่เท่ากัน


– เด็ก 6 ขวบขึ้นไป ควรตรวจโรคสายตาผิดปกติ

Shares:
QR Code :
QR Code