Active School คืนความสุขสู่ห้องเรียน
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ลืมไปได้เลยกับการเรียนการสอนที่เด็กๆ เอาแต่นั่งฟังคุณครูบนเก้าอี้ มาทำความรู้จักกับโมเดลห้องเรียนแนวใหม่ในศตวรรษที่ 21 ที่เรียกว่าActive School "โรงเรียนฉลาดเล่น" โรงเรียนที่จะพร้อมจะคืนความสุขให้เด็กไทย ฉลาด แข็งแรง สุขกายสุขใจไปพร้อมๆ กัน ..และที่ดีงามไปกว่านั้น คือ ไม่ต้องใช้งบมากมาย และไม่เพิ่มภาระคุณครู
ตัวอย่างนี้เกิดขึ้นแล้วที่ โรงเรียนวัดบ่อแดง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา การท่องสูตรคูณที่น่าเบื่อกลายเป็นความสนุกสนานขึ้นมาทันที เมื่อคุณครูสร้างสรรค์เกมตบมือท่องสูตรคูณเป็นจังหวะ
"สองหนึ่งสอง สองสองสี่ ตบขา ตบมือ ตบไหล่" อาจารย์ฉวีวรรณ จุนโท ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ่อแดง เล่าพลางทำท่าให้ดูเป็นตัวอย่าง เมื่อถามถึงกิจกรรมเรียนรู้ผ่านการเล่นที่เด็กๆ ชื่นชอบ
"เมื่อไม่มีความรู้สึกว่า ฉันต้องท่อง ทำให้เด็กสนุก เมื่อเล่นเสร็จ เราถามอะไร เด็กตอบได้หมด เป็นการเรียนรู้โดยที่เขาไม่รู้ตัว"
อีกหนึ่งกิจกรรมที่คุณครูเล่าว่า เด็กๆ ชอบกันมาก คือ เกมแรลลี่หาของ วิ่งไปหา สิ่งของ หาตัวอักษร พยัญชนะต่างๆ นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ของการนำกิจกรรมการเล่นแบบ Active Play มาผสานกับการเรียนรู้ในหลักสูตร ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ตามความคิดของคุณครูก็คือ การเรียน ปนเล่น เรียนอย่างมีความสุข ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้เรียน
โรงเรียนวัดบ่อแดง จังหวัดสงขลา นับเป็นหนึ่งในตัวแทน 12 โรงเรียนนำร่องจากทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ "โรงเรียนฉลาดเล่น : Active School" โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โครงการวิจัยนี้ เกิดมาจากปัญหาใหญ่ระดับประเทศของเด็กไทยในยุคสังคมก้มหน้า ซึ่งมีผลสำรวจพบว่า ปัจจุบันเด็กไทยใช้เวลามากถึง 13 ชั่วโมง 8 นาทีต่อวัน หมดไปกับการมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง เพราะเอาแต่นั่งเรียน นั่งหน้าจอ เล่นเกม ดูทีวี ฯลฯ
ถามว่าตัวเลขนี้น่าตกใจแค่ไหน? ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าโครงการวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปรียบเทียบ ให้เห็นภาพว่า ไม่ต่างจากการนั่งรถทุกวัน จากกรุงเทพฯ ไปปัตตานีที่กินระยะทาง 1,056 กิโลเมตร ! และเมื่อเทียบกับเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกที่ให้คำแนะนำว่า ในแต่ละวันเด็กๆ ควรมีกิจกรรมเคลื่อนไหวทางกายอย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน ตัวเลขที่สำรวจพบ คือ มีเด็กไทยไม่ถึงครึ่งที่ผ่านเกณฑ์ ดังกล่าว
"นี่คือสิ่งที่เด็กไทยกำลังเผชิญอยู่ในแต่ละวัน ตัวเลขนี้ทำให้ทีมงานวิจัยของเราปรึกษาร่วมกับสสส. เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาการขาดกิจกรรมทางกายที่กำลัง เกิดขึ้นกับเด็กไทย"
แนวทางหนึ่งที่หลายๆ ประเทศพูดถึง และถูกนำมาใช้อย่างได้ผล คือ Active School โดยการปรับเปลี่ยนให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่เด็กๆ มีความสุขกับการเรียนรู้ ผ่านการเล่น การมีกิจกรรมทางกาย การเคลื่อนไหวร่างกาย ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ในเนื้อหาวิชาการต่างๆ ในห้องเรียน
ข้อดีของการจัดการศึกษาแบบ เล่น-เรียน-รู้ เช่นนี้ นอกจากจะส่งผลต่อ พัฒนาการด้านความแข็งแรงของร่างกายแล้ว ยังส่งผลต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการรู้คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ส่งผลต่อการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์และสังคม ทักษะ ในการสื่อสาร เจรจาต่อรอง รวมไปถึงทักษะความสามารถทางวิชาการ
อาจารย์ปิยวัฒน์ บอกว่า ในต่างประเทศ มีผลงานวิจัยมากมายที่ยืนยันว่า เด็กที่มีกิจกรรมทางกาย มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ที่มากพอ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใน Active School จะมีการทำงานของสมองที่ดีกว่า มีความผูกพันกับโรงเรียนที่มากกว่า เด็กมีความสุขและสนุกที่ได้มาโรงเรียน และ มีผลสัมฤทธิ์การเรียนดีขึ้น รวมถึงการ มีทักษะในการใช้ชีวิตในระยะยาว
"ในเมืองไทย เรามีงานวิจัยโครงการ 'เด็กไทย ไม่เฉื่อย' ซึ่งทำร่วมกับสสส. โดยทดลองให้เด็กๆได้ร่วมกิจกรรมการเล่นแบบ Active Play ซึ่งจากการวิจัยค้นพบว่าสามารถปรับเปลี่ยนลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆได้"
คำว่า Active Play หมายถึง การเปิดโอกาสให้เด็กๆได้เล่นอย่างอิสระ ไม่ใช่การเล่นอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่การเล่นกีฬาอย่างเป็นรูปแบบอย่างที่บางคนมักเข้าใจผิด แต่กุญแจสำคัญอยู่ที่การจัดสรร "เวลา"และ "โอกาส"ให้เด็กๆ ได้เคลื่อนไหวร่างกายควบคู่กับการเรียนในหลักสูตร ผ่านกิจกรรมในห้องเรียนที่แบ่งคาบเรียนออกเป็น 3 ช่วง คือ "เล่น-เรียน-รู้" "ตัวอย่างเช่น เริ่มจาก 15 นาทีแรก ให้เด็กได้ 'เล่น' ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาการเรียนในชั่วโมงนั้น เช่น กิจกรรมสร้างหอคอยเพื่อให้เด็กได้ดีไซน์ออกแบบ ประกอบการเรียนเรื่องหน่วยวัดความสูง กิจกรรมการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่ให้เด็กๆ ได้พุ่งจรวดออกไป เพื่อฝึกวิธีการวัดระยะทาง ควบคู่กับการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กโดยการพับจรวด ช่วงของการเล่นจะทำให้เด็กๆ รู้สึกสนุก ไม่ต่างจากการเคลียร์ คลื่นสมองเพื่อเชื่อมต่อไปสู่ช่วงถัดไป คือ การ 'เรียน' ซึ่งจะช่วยให้เด็กซึมซับบทเรียนทุกอย่างโดยที่เขาไม่รู้ตัว และช่วงสุดท้ายก่อนจบคาบ คือ ช่วง 'รู้' โดยการฝึกทักษะ ในการอภิปราย แสดงความคิดเห็น" อาจารย์ ปิยวัฒน์ กล่าวถึงกระบวนการสร้างเด็กไทยยุคใหม่ที่สอดคล้องกับแนวคิดการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่กระทรวงศึกษาโดยสพฐ.พยายามผลักดัน ผ่านนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" อีกทั้งยังตอบโจทย์ Active Play ที่สสส.พยายามผลักดันการเพิ่มกิจกรรมทางกายของเด็กไทย
ขยับกาย ขยายสมอง
การทำกิจกรรมทางกายส่งผลดีต่อสมองของเด็กๆ อย่างไร ลองมาฟังคำอธิบายจากนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีวัดคลื่นสมอง ผศ.ดร. ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ หนึ่งในทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรม ชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์ยศชนัน อธิบายว่า ช่วงเวลา ที่ดีที่สุดที่สมองมีความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ เมื่อเข้ามาในห้องเรียนแล้ว เด็กจำเป็นต้องรีแลกซ์ที่สุด ซึ่งภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อทดลองให้เด็กๆที่เข้าร่วมโครงการ Active Play ได้ทำกิจกรรมผ่านการเล่น ผลลัพธ์ที่ได้จากการตรวจวัดคลื่นสมอง ด้วยอุปกรณ์ที่สวมใส่บนหัวในช่วงก่อนและหลังทำกิจกรรม แสดงให้เห็น ความแตกต่างอย่างชัดเจน
"เมื่อเด็กๆ ได้ทำกิจกรรมทางกายที่กระตุ้นให้สมองทุกส่วนทำงานในปริมาณที่พอเหมาะ จะส่งผลให้สมองเกิดความตื่นตัว เด็กสามารถเปิดรับความรู้ได้มากขึ้น"
กระบวนการเล่นจึงไม่ต่างจากการเคลียร์สมองของเด็กๆ ให้เปลี่ยนจากที่เป็นเพียงแก้วใบเล็กๆ กลายมาเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่พร้อมเก็บความรู้ โดยจาก งานวิจัย "เด็กไทย ไม่เฉื่อย" ทำให้ได้ค้นพบ ชุดกิจกรรมทางกายแบบ Active Play มากมายที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการรำ การละเล่นในแบบไทย เช่น มอญซ่อนผ้า หมากเก็บ ฯลฯ ซึ่งทำให้สมองทุกส่วน ได้ทำงานประสานกัน
"ตรงนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า การทำกิจกรรมActive Play นั้นดีแน่ๆ งานวิจัยที่เราจะทำต่อยอดผ่านโครงการนี้เพื่อวัดในขั้นสุดท้าย คือ เมื่อนำไปใช้ในกิจกรรมการเรียน การสอนจริงในห้องเรียน ส่งผลลัพธ์ต่อ การเรียนรู้ของเด็กๆมากน้อยแค่ไหน" อาจารย์ยศชนัน กล่าว
ครู คือหัวใจ
เมื่อเอ่ยถึงการส่งเสริมกิจกรรม ทางกายผ่าน Active Play สิ่งที่เกิดขึ้น คือ คุณครูหลายคนมักมีข้อถกเถียงในใจว่า.. โรงเรียนก็มีชั่วโมงวิชาพละแล้ว ทำไมถึงยังไม่พอ?
ก่อนอื่นจึงต้องทำความเข้าใจกับทั้งคุณครูและผู้ปกครอง เปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะ Active Play ไม่ใช่การพาเด็กวิ่งออกกำลังกายแล้วจบ แต่ต้องทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น โดยเฉพาะบทบาทของโรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่ที่เด็กใช้ชีวิตเวลาถึงประมาณ 1 ใน 3 ของวัน
"กิจกรรมการเล่นแบบ Active Play สามารถทำได้กับทุกวิชา เช่น เอาวิชาคณิตศาสตร์มาบวกกับคอนเซปต์วิ่งเปี้ยว กลายเป็นกิจกรรมวิ่งเปี้ยวคิดเลขเร็วการทำกิจกรรมสร้างจินตนาการโดยนำกิจกรรม วาดรูปมาผสานกับการเรียนคณิตศาสตร์ผ่านกิจกรรมตุ๊กตาเรขาคณิตการฝึกออกเสียง และทำท่าทางเพื่อเรียนรู้คำเป็นคำตาย ในวิชาภาษาไทย" อาจารย์ปิยวัฒน์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ยกตัวอย่าง
การจัดสรรเวลาและเพิ่มโอกาส ในการเคลื่อนไหวร่างกาย ยังต้องทำควบคู่ไปกับ "นอกห้องเรียน" เช่น ทำทางเดินที่ปลอดภัยให้เด็กๆ เดินจากหน้าโรงเรียนมาถึงตึกเอง โดยไม่ต้องให้พ่อแม่เอารถมาส่งถึงหน้าตึก การสร้างกิจกรรมความรับผิดชอบ เช่น เก็บขยะ รดน้ำต้นไม้ กิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายหน้าเสาธง
ในมุมมองของอาจารย์ปิยวัฒน์ หัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อน "โรงเรียนฉลาดเล่น" ได้สำเร็จ คุณครูจึงเป็นผู้มีส่วนสำคัญ อย่างมาก รวมถึงผู้บริหารโรงเรียนที่ต้องกำหนดนโยบายให้ชัดเจนว่าคุณครูทุกคนต้องมีส่วนร่วม เพราะถ้ามีเพียงไม่กี่คนที่ทำ ความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนคงไม่เกิดขึ้น
โครงการวิจัยดังกล่าวได้จัดทำผ่านความร่วมมือกับโรงเรียน 12 แห่งเพื่อนำร่องประเมินพัฒนาการเด็กนักเรียนชั้น ป.4 อย่างน้อย 700 คน โดยมีคุณครูอย่างน้อย 150 คน เพื่อเข้าร่วมเวิร์คช็อป นำแนวทางกิจกรรม Active Play ไปปรับใช้โดยเปิดให้แต่ละโรงเรียนสามารถเลือกโมเดลต้นแบบที่เหมาะกับบริบทของตัวเองผ่าน 3 โมเดล คือ โมเดลที่ 1 เน้นส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย ในทุกโอกาสของแต่ละวัน รวมถึงในห้องเรียน, โมเดลที่ 2 เน้นส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย ในช่วงเวลาพัก เวลาว่าง และชั่วโมงกิจกรรม และโมเดลที่ 3 เน้นส่งเสริมพื้นที่สำหรับการวิ่งเล่นและการเคลื่อนไหวร่างกาย
"เรามั่นใจว่าผลงานวิจัยครั้งนี้จะไม่เป็น เพียงงานวิจัยขึ้นหิ้งหรือเปเปอร์ที่ออกมา ตีพิมพ์ แต่จะทำให้สามารถพัฒนาโมเดลที่โรงเรียนต่างๆ สามารถนำไปใช้ และถูกไปขยายผลในระดับพื้นที่และระดับประเทศ ต่อไป" อาจารย์ปิยวัฒน์ ย้ำถึงเป้าหมายของการทำงานวิจัยร่วมกัน
ทั้งหมดก็เพื่อใช้ "องค์ความรู้" เป็นฟันเฟืองให้เกิดโรงเรียนแนวใหม่ที่จะทำให้เด็กไทยฉลาด และมีความสุขไปพร้อมๆ กัน