ACT4HEALTH ละครสนุก สุขภาวะดี
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต และhttp://www.prvariety.net
ศิลปะการละครนอกจากสร้างความบันเทิงที่ผู้ชมแล้ว ละคร ยังสามารถถ่ายทอดเรื่องราว สะท้อนแง่มุม ค่านิยม และสภาพสังคม ในยุคนั้นๆ ขณะเดียวกันละครยังมี บทบาทในการใช้เป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงทางสังคม นอกจากนี้ ละครยังสามารถช่วยสร้างเสริมสุขภาวะได้อีกทางหนึ่ง
ดังเช่นละคร "กลุ่มหน้ากากเปลือย"ที่ขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการละครโรงเรียนและชุมชนสุขภาวะ ACT4HEALTH ด้วย การส่งเสริมเยาวชนระดับมัธยมศึกษา ทั้งจากโรงเรียนและชุมชนจำนวน 30 กลุ่ม สร้างสรรค์ละครเพื่อสร้างสุขภาวะ ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ กาย ใจ ชุมชน และจิตปัญญา
นินาท บุญโพธิ์ทอง ผู้จัดการโครงการ ACT4HEALTH กล่าวว่า เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เยาวชนในโรงเรียนและชุมชนนำกระบวนการละครไปใช้เพื่อถ่ายทอดและเล่าเรื่องราวในเชิงสุขภาวะรูปแบบไหนก็ได้ ซึ่งโครงการแบ่ง การทำงานออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกกลุ่มเป้าหมายเป็นโรงเรียน 13 แห่ง ซึ่งน้องๆ แต่ละโรงเรียนจะนำเสนอเนื้อหาละครในแง่มุมของวัยรุ่น และเป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น ปัญหาสุขภาพ ยาเสพติด ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ปัญหาการทะเลาะวิวาท หรือการส่งเสริมแง่คิดเชิงบวก เป็นต้น
เมื่อน้องๆ ผลิตโปรดักชั่นเสร็จแล้วในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ 2560 ก็จะทำละครทัวร์ทั้งในโรงเรียนและรอบโรงเรียน ในเดือนมีนาคมทางโครงการก็จะจัดมหกรรมใหญ่ของโครงการ โดยการนำเอาทั้ง 13 โครงการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
ส่วนเฟส 2 จะเป็นในส่วนของชุมชนหรือกิจกรรมเชิงหัวข้ออีก 17 แห่ง ซึ่ง อาจจะเพิ่มเติมเรื่องของละครเฉพาะแนวมากขึ้น เช่น ละครเต้น ละครเพลง ละครใบ้ โดยจะเริ่มขั้นตอนการผลิต โปรดักชั่นในเดือนมกราคม และจะ ออกแสดงในช่วงมีนาคม-เมษายน ด้วยการให้เลือกลงพื้นที่แสดงด้วยตัวเอง และพฤษภาคม จึงจะจัดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของเฟส 2 อีกครั้งหนึ่ง โดยให้โครงการในเฟสแรกมาร่วม แลกเปลี่ยนด้วย
"ทั้ง 30 กลุ่มจะเป็นผู้คิดโจทย์ด้วยตัวเอง โดยเราจะทำหน้าที่เป็นแค่พี่เลี้ยงในส่วนของเทคนิคการเขียนบท และกระบวนการละครเท่านั้น ส่วนเนื้อหาของละครจะมาจากกระบวนการที่น้องๆ ช่วยกันจับประเด็นและสร้างขึ้นมา ซึ่งจะต้องตอบโจทย์สุขภาวะ 4 มิติ กาย ใจ ชุมชน และจิตปัญญา โดยทางโครงการเฟสแรกมุ่งเน้นใน 3 ส่วนแรก ส่วนโครงการ ในเฟส 2 จะมุ่งเน้นประเด็นของชุมชนเป็นหลัก" นินาท เล่า
อย่างไรก็ตาม "ละคร" ในโครงการ ACT4HEALTH ต้องตอบโจทย์ 4 ข้อ ให้ได้ คือ 1.ละครต้องเล่าเรื่องได้ 2. ละครต้องทำให้คนดูสนุกกับการเรียนรู้ 3.ละครต้องมีศิลปะ มีความงดงาม และ 4. ละครให้แง่คิดอะไรกับผู้ชม
ละครช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรนั้น นินาท บอกว่า ประการแรก คือ กระบวนการคิด ทำให้เกิดการตระหนักและรู้จักตัวเอง นำไปสู่การรับรู้ว่าคนรอบข้างต้องการอะไร เกิดกระบวนการสื่อสาร ระหว่างตัวปัจเจก บุคคลกับสังคม นำไปสู่การสร้างจุด มุ่งหมายที่กำลังทำอยู่ ประการต่อมา คือ กระบวนการเชิงร่างกาย ซึ่งกระบวนการละครจะฝึกการใช้ร่างกายเพื่อสื่อสารตลอดเวลา การใช้เสียง การเคลื่อนไหว ทำให้น้องๆ เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ ได้เรียนรู้การทำงานของร่างกายและ การรักษาร่างกายเพื่อทำให้เกิดพลังในการใช้ร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ด้าน ศศิธร นวลจันทร์ อาจารย์จากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก กล่าวถึง การใช้ละครกับการสอนนักเรียนว่าทางโรงเรียนได้ตั้งชมรมการละครขึ้น ซึ่งสมาชิกชมรมก็ได้เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
ประโยชน์ของละครที่เห็นได้ชัด คือ ด้านร่างกาย เพราะเวลาเด็กๆ ทำกิจกรรม ได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วน และอีกด้านคือวิธีคิด รู้จักความรับผิดชอบ มีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยสอนเรื่องของการใช้อารมณ์และ สุขภาวะ เด็กจะเรียนรู้ผ่านตัวละครทั้งนักแสดงและผู้ชม สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะการใช้อารมณ์ ถ้าไม่ควบคุมอารมณ์ อารมณ์ก็จะควบคุมตัวเอง จนอาจเกิดผลลัพธ์ ไม่พึงประสงค์ได้
อย่างไรก็ตามละครจะช่วยปรับพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวเด็กด้วย ถ้าเด็กยอมรับได้ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งขั้นแรก คือ ต้องสื่อสารกับเด็กให้ได้ก่อนเมื่อเด็กเกิดการยอมรับถึงจะนำไปสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงต่อไป
ACT4HEALTH มีเยาวชนเป็นตัวละครหลักที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะ ซึ่งเป็นผู้ที่น่าจะถ่ายทอดอารมณ์ ความนึกคิดของวัยรุ่นได้ดีกว่าใคร เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เขาสามารถถ่ายทอดมาได้อย่างตรงใจ และโดนใจผู้ชม
ปฏิมา กล่อมกระโทก นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย กล่าวถึงละครช่วยส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาวะอย่างไร ว่า บางทีการพูดเฉยๆ ผู้ฟังอาจจะไม่สนใจ การใช้ละครซึ่งมีความตื่นเต้น ก็น่าสนใจกว่า โดยสื่อให้เห็นชัดๆ แฝงด้วยความรู้ด้านสุขภาพ ผู้ชมก็จะเก็บไปคิดตาม อย่างไรก็ตาม การจะใช้ละครสื่อออกไปให้เข้าใจหรือสื่อไปแล้วจะเข้าใจหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยาก ซึ่งคนทำละครต้องฝึกฝน และเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ในส่วนละครของกลุ่มนักเรียนจากสันติราษฎร์วิทยาลัย จะมุ่งเน้นไปปัญหายาเสพติด เพศศึกษา และเรื่องอารมณ์ เพราะพวกเขาคิดว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นประเด็นหลักของปัญหาวัยรุ่น ซึ่งที่โรงเรียนมีปัญหาเรื่องของยาเสพติด การพนัน ซึ่งปฏิมามุ่งมั่นว่าจะใช้ละครเข้าไปช่วยแก้ปัญหานี้ได้อีกทางหนึ่ง ขณะที่ กุลภัสส์ ผิวผา จากโรงเรียนศึกษานารี เล่าถึงละครของกลุ่มเธอว่า ต้องการนำเสนออีกด้านของเด็กคนหนึ่งที่มีปัญหากับทางบ้าน มีทัศนคติด้านลบ โดยต้องการจะสื่อ ว่าเกิดปัญหาอะไร หลังจากนั้น แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร โดยนำเสนอมุมมองด้านบวกเข้าไป
เพราะพวกเธอเชื่อว่า ถ้ามองโลกในแง่บวก จะช่วยสร้างเสริมสุขภาพจิตให้ดีขึ้นได้ และเมื่อสุขภาพจิตดีอย่างอื่นก็จะดีตามไปด้วย