เผยมีความแม่นยำสูง ตรวจได้ทั้งโรคอารมณ์ 2 ขั้ว
สำนักข่าวเอ็มเอสเอ็นบีซีรายงานความสำเร็จครั้งล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ค้นพบวิธีการตรวจเลือดซึ่งสามารถบอกได้ว่าคนคนนั้นมีความบกพร่องทางจิตหรือเป็นโรคจิตหรือเปล่าและบอกได้อีกด้วยว่ามีความรุนแรงในขั้นไหน
ด้านผู้เชี่ยวชาญบางคนได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับประเด็นเรื่องจริยธรรมทางการแพทย์ที่เมื่อวิทยาการในการตรวจหาความบกพร่องทางจิตมาถึงขั้นที่สามารถตรวจพิสูจน์ทราบกันได้อย่างง่ายดายขนาดนี้อาจจะนำไปสู่การใช้ในทางที่ขัดต่อเรื่องสิทธิของคนไข้
อย่างไรก็ดีประโยชน์ของการตรวจวินิจฉัยโรคจิตที่สามารถทำได้ด้วยการตรวจจากเลือดนั้นนับเป็นคุณูปการต่อวงการการรักษาโรคทางจิตหรือจิตเวชเป็นอย่างมากเพราะในปัจจุบันโรคจิตชนิดต่างๆ เป็นต้นว่า โรคอารมณ์ 2 ขั้ว และโรคซึมเศร้านั้นแพทย์จะวินิจฉัยได้จากอาการของคนไข้เท่านั้นซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากในการให้การวินิจฉัยอยู่มากพอสมควรในบางครั้ง
แต่ล่าสุดนี้ทีมนักวิจัยทีมนี้ได้ศึกษาพบยีนจำนวน 10 ตัวที่ช่วยให้แพทย์ทำงานง่ายขึ้นในการตรวจวินิจฉัยหาโรคทางจิตในคนไข้ “คนไข้หลายคนก็ไม่แน่ใจว่าเขาป่วยมากแค่ไหนและเช่นเดียวกันแพทย์ผู้รักษาบางครั้งก็ละเลยอาการบางอย่างของคนไข้ไป และบางครั้งก็อาจประเมินอาการของคนไข้สูงเกินไปได้” นพ.อเล็กซ์ซานเดอร์ นิคูเลสคู ซึ่งเป็นจิตแพทย์ประจำที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยอินเดียนา และเป็นผู้นำการวิจัยนี้กล่าว
ผลการวิจัยของเขาได้รับการตีพิมพ์ในวารสารด้านจิตเวชศาสตร์ระดับโมเลกุล molecular psychiatry “การมีวิธีการตรวจที่ปราศจากซึ่งการใช้ความคิดเห็นส่วนตัวสำหรับการตรวจหาโรคจิต และความรุนแรงของโรค นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของประโยชน์ต่อการประเมินผลการตอบสนองต่อการรักษาของคนไข้” นพ. นิคูเลสคูกล่าว
ทั้งนี้นพ.นิคูเลสคูกล่าวว่าก่อนที่จะสามารถนำการตรวจนี้ไปสู่ผลิตออกมาและทำการตลาดได้นั้นยังจำเป็นจะต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมอีกก่อนเพื่อเป็นการยืนยันผลการศึกษาที่ได้ในครั้งนี้อีกชั้นหนึ่ง และเชื่อว่าอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปีในกระบวนการดังกล่าวทั้งหมดก่อนจะได้ใช้การตรวจเลือดหาโรคจิตนี้กันจริงๆ ในวงการแพทย์
เดิมทีนั้นทีมของนพ. นิคูเลสคูทำการวิจัยนี้ขึ้นมาเพื่อหาทางในการตรวจจากตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ หรือไบโอมาร์คเกอร์เพื่อหาว่าคนไข้มีระดับความรุนแรงของโรคซึมเศร้ามากน้อยแค่ไหน โดยทำการศึกษาจากคนที่ถูกวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคซึมเศร้าแต่หลังการทดลองนักวิจัยพบว่าไบโอมาร์คเกอร์ที่ศึกษาสามารถเป็นตัวบ่งชี้ถึงความมีอยู่ของความบกพร่องทางจิตได้ด้วยในตัวเดียวกันจึงสามารถใช้ในการวินิจฉัยหาโรคจิตในขั้นเริ่มต้นได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากการศึกษาการตรวจหาโรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์ 2 ขั้วแล้วนพ.นิคูเลสคูก็ยังได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการใช้การตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัย ภาวะวิตกกังวล และภาวะรับรู้ที่ผิดปกติไปซึ่งเป็นอาการหลักอย่างหนึ่งของโรคจิตเพศ อีกด้วย
“ด้วยการตรวจนี้ต่อไปการแพทย์สาขาจิตเวชก็จะขึ้นมาเทียบเทียมกันกับการแพทย์สาขาอื่นๆ ได้แล้ว” นพ. นพ.นิคูเลสคู กล่าว
ที่มา : สำนักข่าวต่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th
update 29-02-51
คุณคิดอย่างไรกับการนำเสนอข่าว/บทความนี้
แสดงความคิดเห็น