ที่มาเเละภาพประกอบ : สสส.
สสส. ร่วมประชุมโลกด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 10 ภายใต้หัวข้อ "สุขภาวะ ความเท่าเทียม และ การพัฒนาที่ยั่งยืน" ยกระดับงานสร้างเสริมสุขภาพ สร้างสังคมสุขภาวะ ขณะที่ WHO-SEARO เดินหน้าโรดแมปส่งเสริมกิจกรรมทางกายระดับภูมิภาคขับเคลื่อนสู่ระดับโลก สสส. ร่วมผลักดัน Healthy Meeting สำเร็จ
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการประชุมโลกด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 10 (10th WHO Global Conference on Health Promotion - 10th GCHP) ภายใต้หัวข้อ "สุขภาวะ ความเท่าเทียม และ การพัฒนาที่ยั่งยืน" (Well-being, Equity, and Sustainable Development) ในหัวข้อ “ความเป็นอยู่ที่ดี : ทางข้างหน้า – การสนับสนุนงานสร้างเสริมสุขภาพ” ผ่านทางออนไลน์เสมือนจริง จัดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นเวทีประชุมวิชาการที่สำคัญที่สุดในการสร้างเสริมสุขภาพขององค์การอนามัยโลก ที่จัดขึ้นทุกๆ 3-4 ปี ว่า ประเทศไทยนับตั้งแต่มีการปฏิรูประบบสุขภาพ และจัดตั้งหน่วยงานด้านสุขภาพที่ทำงานร่วมกันและสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข สสส. ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ทำหน้าที่จุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลังบุคคล ชุมชนและองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ระบบสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี
ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า สาเหตุหลักของการเจ็บป่วยของคนไทยมาจากรูปแบบวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานใหม่เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการรองรับ พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถของประชาชน และทุกภาคส่วนมาร่วมกัน ไม่เพียงแต่ภาคสุขภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ที่สำคัญทุกคนต้องตระหนักรู้ว่า สุขภาพดีเริ่มต้นที่ตัวเราเอง ไม่ใช่โรงพยาบาล หรือ แพทย์ที่จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีได้ สำหรับการประชุมครั้งนี้ฯ มุ่งยกระดับงานสร้างเสริมสุขภาพไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะภาวะความเสี่ยงจากโควิด-19 โดย สสส. จะนำผลลัพธ์สำคัญจากการประชุมมาต่อยอดการทำงานในประเทศไทย ขยายงานสร้างเสริมสุขภาพ ไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะอย่างยั่งยืน
"นอกจากนี้ สสส. โดยสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ และสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ ได้เป็นเจ้าภาพร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายระดับภูมิภาค (Regional Meeting on Physical Activity) ร่วมกับองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก (WHO-SEARO) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดตัวโรดแมปของภูมิภาคในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการกิจกรรมทางกายโลก (Global Action Plan for Physical Activity 2018-2030 หรือ GAPPA 2018-2030) และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศในภูมิภาคของความก้าวหน้า นวัตกรรม และ ปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อนแผน GAPPA 2018-2030 โดย สสส. ร่วมกับ IHPP กรมอนามัย สธ. ผลักดันนโยบายจนเกิดข้อมติเรื่องการจัดประชุมแบบสร้างเสริมสุขภาพ (Healthy Meeting) และการรับรองแนวปฏิบัติระดับภูมิภาคว่าด้วยการประชุมเพื่อสุขภาพ (Regional Guideline on Healthy Meeting) ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร WHO-SEARO เมื่อเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ สสส.ได้จัดทำและนำเสนอวีดิทัศน์ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย “จังหวะไทย จังหวะหัวใจ” (Thai Rhythm of the Heart) ประกอบการออกกำลังกายในช่วงพักการประชุม เพื่อเป็นต้นแบบของการสร้างเสริมสุขภาพระหว่างการประชุม แบบ Healthy Meeting อีกด้วย" ดร.สุปรีดา กล่าว
แสดงความคิดเห็น