เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th
“โลกนี้โหดร้ายเกินไป ไม่อยากอยู่แล้ว” “อยู่ไปก็ไร้ค่า ตายไปคงดี” “ขอโทษทุกคนที่ทำแบบนี้ รักแม่นะ” “ขอโทษที่ทำให้ผิดหวัง เหนื่อยพอแล้ว ลาก่อน”
หากคนใกล้ตัวคุณโพสต์โซเชียลมีเดียแบบนี้ คุณจะทำอย่างไร เมื่อเห็นสัญญาณเตือนเสี่ยงฆ่าตัวตายในโลกออนไลน์
การโพสต์ตอบให้กำลังใจ ปลอบใจ หรือให้ข้อคิดเตือนสติ อาจจะช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่อาจจะไม่เพียงพอที่จะสกัดยับยั้งความพยายามฆ่าตัวตาย เพราะอย่าลืมว่าผู้ที่ประสบปัญหา กำลังตกอยู่ในห้วงของความทุกข์ ชีวิตมืดมนและหมดหวัง
จะดีกว่าหรือไม่ ถ้ามีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ คอยให้ความช่วยเหลือได้ในทันที นับเป็นโอกาสดีเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และกองบังคับการปราบปราม ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือในการประสานเชื่อมโยงข้อมูล พร้อมเปิดตัวทีมปฏิบัติการพิเศษ ชื่อว่า “HOPE Task Force” เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย
โดยมีจุดเด่นคือ การได้เพจเฟซบุ๊กยอดนิยม เช่น หมอแล็บแพนด้า, Drama-addict และแหม่มโพธิ์ดำ มาคอยประสานข้อมูลและเเจ้งเบาะเเส กรณีมีเคสเสี่ยงมายังชุดปฏิบัติการพิเศษนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับมาเป็นปกติ
“ชาติวุฒิ วังวล” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เผยว่า ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย หรือ HOPE Task Force ตรงกับจุดเน้นหลักของ สสส. ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพจิต อีกทั้งการผลักดันและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ เพื่อสร้างสุขภาพจิตของคนไทยให้ดีขึ้น จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะนำมาช่วยเหลือผู้ที่เสี่ยงฆ่าตัวตาย
ด้าน นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ ให้ข้อมูลว่า ในแต่ละปีมีคนไทยที่พยายามฆ่าตัวตายเฉลี่ย 5.3 หมื่นคน ซึ่งทีม HOPE Task Force สามารถช่วยชีวิตคนที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเฉลี่ยแต่ละเคสใช้เวลาสูงสุดในการช่วยเหลือ จนจบภารกิจไม่เกิน 3 ชั่วโมง และเร็วที่สุดคือไม่กี่นาทีหลังรับแจ้ง
นพ.ณัฐกร อธิบายต่อว่า ทีม HOPE Task Force ประกอบไปด้วย กองบังคับการปราบปราม, สถานีตำรวจในพื้นที่, กรมสุขภาพจิต, โรงพยาบาล ร่วมกับเพจเฟซบุ๊กยอดนิยมชื่อดัง 3 เพจ ได้แก่ หมอแล็บแพนด้า, Drama-addict และแหม่มโพธิ์ดำ
สำหรับกระบวนการทำงานของทีม HOPE Task Force เริ่มตั้งแต่
1. ประชาชนส่งข้อมูลบุคคลที่มีสัญญาณเสี่ยงฆ่าตัวตาย ที่ปรากฏอยู่บนโลกโซเชียลให้กับ 3 เพจเฟซบุ๊ก เพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม
2. ร่วมกันวางแผนเข้าช่วยเหลือ หลังจากกองปราบปรามและกรมสุขภาพจิต ได้รับข้อมูลจาก 3 เพจเฟซบุ๊กแล้ว จะประสานกับตำรวจในท้องที่และโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อรองรับบุคคลที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย และให้การดูแลจนหมดภาวะฉุกเฉิน
3. จัดทีมติดตามดูแลรักษาและบำบัดเยียวยา อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายซ้ำในอนาคต
ขณะที่ “ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน” หรือหมอแล็บแพนด้า บอกว่า พลังของโลกโซเชียล สามารถช่วยรวบรวมข้อมูลมหาศาลได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นก็เกิดจากความรักและความห่วงใย ที่พวกเรามีให้กันในสังคม
“ผมดีใจมากที่ประชาชนทางบ้าน หรือแฟนเพจพวกเรา กำลังช่วยกันสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากเกิดขึ้นในประเทศไทย หากพบเห็นคนที่โพสต์ส่งสัญญาณฆ่าตัวตายในโลกออนไลน์ ส่งมาให้พวกเราทั้ง 3 เพจได้เลย คุณยังมีพวกเรา HOPE Task Force อยู่เคียงข้างเสมอ” หมอแล็บแพนด้า กล่าว
ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ ขอเพียงตั้งสติค่อยๆ คิดแก้ปัญหาเหล่านั้น สสส. ขอร่วมเป็นกำลังใจให้กับทุกคน สามารถก้าวข้ามทุกปัญหาไปได้ด้วยดี
แสดงความคิดเห็น