เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก งานแถลงข่าวรณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สัปดาห์นมแม่โลกในเดือนวันแม่แห่งชาติ และหนังสือคู่มือแม่ทำงานเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ให้สัมภาษณ์โดย ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร รองประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

“ควรคิดพินิจให้ดี ค่าน้ำนมแม่นี้จะมีอะไรเหมาะสม โอ้ว่าแม่จ๋า ลูกคิดถึงค่าน้ำนม เลือดในอกผสมกลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน” เชื่อว่าคงไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยินเพลงนี้ ลูกทุกคนน่าจะเคยได้ยินผ่านหู หรือได้ร้องเพลงนี้กันมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว เพลงนี้มีชื่อว่า “ค่าน้ำนม” ซึ่งเปรียบเสมือนบทเพลงประจำช่วงเทศกาลวันแม่ที่เปิดทุกปีในช่วงเวลาเช่นนี้ เพื่อให้ลูก ๆ ได้ระลึกถึงพระคุณของแม่ ที่ต้องเสียสละมากมายกว่าจะเลี้ยงดูลูกให้เติบโตขึ้นมาได้
“น้ำนมแม่” นั้นมีประโยชน์และคุณค่ามากกว่าที่หลายคนได้รับรู้ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วงเวลา 6 เดือนแรกของชีวิตเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่สุดสำหรับทารก ประโยชน์ของนมแม่นั้นจะมีต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ทารกควรได้รับนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวจนถึงอายุ 6 เดือน และกินนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยอย่างเหมาะสมต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี หรือนานกว่านั้น ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นเส้นทางเดียวที่จะทำให้สุขภาพของทารกแข็งแรง และได้รับภูมิคุ้มกันอย่างเต็มที่ ช่วยลดปัญหาสุขภาพลูกเมื่อโตขึ้น เช่น โรคอ้วน เบาหวาน และมะเร็งหลายชนิด

ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร รองประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงเวลาระหว่าง 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เป็นช่วงนาทีทองที่แม่กับลูกควรจะได้สานสายใยกัน ซึ่งทั้งแม่และลูกจะต้องรู้สึกตัวทั้งคู่ แม่ควรจะได้อุ้มลูก สบตากัน สัมผัสลูกอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะทำให้เกิดความรัก ความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองของทารก ช่วยกระตุ้นร่างกายของแม่ให้สามารถผลิตน้ำนมได้มากขึ้น รวมทั้งลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ของแม่ด้วย หากแม่ไม่ได้มีอาการป่วย มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ปกติ ควรอย่างยิ่งที่จะให้นมลูกเพียงอย่างเดียวให้ครบ 6 เดือน

นมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด น้ำนมแม่ในช่วงแรกหลังคลอด คือ หัวน้ำนมที่มีสีเหลืองข้น อุดมด้วยสารอาหารจำเป็น และมีสารภูมิคุ้มกันในปริมาณที่สูงมากเปรียบเหมือน “วัคซีนหยดแรก” ช่วยป้องกันการติดเชื้อในทารกแรกเกิด และจะได้รับภูมิคุ้มกันต่อเนื่องตราบเท่าที่เด็กยังกินนมแม่
สารอาหารสำคัญที่พบในนมแม่ ประกอบด้วย
1.โปรตีน มีปริมาณที่พอเหมาะกับการเจริญเติบโตของร่างกาย และสมองของทารก ย่อยง่าย และดูดซึมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีคุณสมบัติที่สำคัญอื่น ๆ เช่น สารป้องกันเชื้อโรค สารช่วยในการเจริญเติบโต
2.ไขมัน มีกรดไขมันที่จำเป็น "ไลโนเลนิค" เเละ "ไลโนเลอิค" จำนวนมากเช่นเดียวกับกรดไขมันไม่อิ่มตัวสายโซ่ยาว อาทิ ดีเอชเอเเละเอเอ ซึ่งช่วยพัฒนาระบบสมอง เเละจอตา ช่วยสร้างความเเข็งเเรงให้เเผ่นหุ้มเส้นประสาท ทำให้การรับส่งสัญญาณของเส้นประสาทระหว่างสมอง เเละร่างกายมีประสิทธิภาพ
3.คาร์โบไฮเดรต เเลคโตส มีมากที่สุดในน้ำนมเเม่ เป็นส่วนสำคัญสำหรับพัฒนาการของสมองและระบบประสาท
4.วิตามิน มีทั้งวิตามินที่ละลายในไขมัน และละลายในน้ำ เป็นตัวช่วยเพิ่มความสามารถในการดูดซึมของแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น วิตามินซีช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก และสังกะสี
5.เเร่ธาตุในนมเเม่ มีปริมาณที่เหมาะสมเเละดูดซึมได้ดี
6. ฮอร์โมน และเอ็นไซม์ มีอยู่มากมาย เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ โปรเเลคติน ออกซิโทซิน และอื่น ๆ ทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต เผาผลาญสารอาหาร และการทำงานของอวัยวะ เช่น เอ็นไซม์ไลเปสช่วยย่อยไขมันในนมแม่ ทำให้ดูดซึมเเละนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การเด็กแห่งสหประชาชาติ พบว่า คนไทยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวตลอดช่วงระยะเวลา 6 เดือนแรกหลังคลอดเพียงแค่ 23 % หรือเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การส่งเสริมให้เด็กได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด เป็นสิ่งที่ สสส.ให้ความสำคัญ เพราะจะมีผลดีต่อตัวเด็ก ทำให้เด็กเจริญเติบโตสมวัย ลดโอกาสการเกิดโรค NCDs ในอนาคต และช่วยส่งเสริมให้เกิดความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ ของตัวแม่เองด้วย
“ในนมแม่มีสารอาหาร และปริมาณน้ำที่เพียงพออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้อาหารเสริมใดๆ ในช่วง 6 เดือนแรก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่แม่จะต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม มีความแข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อที่จะสามารถผลิตน้ำนมได้เพียงพอในการ เลี้ยงลูกตลอดช่วงระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน โดยปัจจัยอื่น ๆ จะต้องเกื้อหนุนตัวของแม่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของคุณพ่อ ในการหาเวลามาช่วยดูแลลูก ให้กำลังใจภรรยา หรือบทบาทขององค์กรที่จะส่งเสริมให้สามารถลางานได้ตามกฎหมาย หรือมีพื้นที่สำหรับให้คุณแม่หลังคลอดที่อยู่ในช่วงให้นมลูก สามารถนำลูกมาเลี้ยงในที่ทำงานได้” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
สสส. ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกท่านเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวตลอดช่วงระยะเวลา 6 เดือน โดยการสนับสนุนการมีพื้นที่สำหรับให้แม่ได้ให้นมลูก หรือปั๊มนมให้ลูก เพื่อส่งเสริมให้เเม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สะดวกมากขึ้นจนครบกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม
แสดงความคิดเห็น