ที่มา : SOOK Magazine No.71
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
อาการปวดศีรษะเป็นหนึ่งในอาการที่ทุกคนเคยเจอมาแล้ว แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าอาการปวดศีรษะนั้น มีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคืออาการปวดศีรษะแบบชุด ๆ หรือปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache) ที่อาจร้ายแรงและสร้างความทรมานจนไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ดังนั้นการรู้เท่าทันจะช่วยให้รับมือได้อย่างถูกต้อง
รู้จักกับปวดศีรษะคลัสเตอร์
1. ปวดศีรษะที่มักพบในลักษณะปวดซีกเดียว หรือหน้าครึ่งซีก
2. ปวดแบบเป็นชุด ๆ บริเวณกระบอกตาลึก หลังตา หรือบริเวณขมับ
3. มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
4. ปวดแต่ละครั้งจะนานติดต่อกันทุกวัน หรือติดต่อกันหลายสัปดาห์ หรือปวดในช่วง ระยะเวลาเดียวกันของทุกปี
5. บางวันปวดหลายครั้ง หากมีอาการเรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกวิธี
ตัวการความปวด
สาเหตุของปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมอง คู่ที่ 5 ที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกบนใบหน้า ระบบประสาทอัตโนมัติและหลอดเลือด ซึ่งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่พบเป็นจำนวนน้อย
สำหรับปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะคลัสเตอร์ ได้แก่
- ดื่มแอลกอฮอล์
- สูบบุหรี่
- ออกกำลังกายอย่างหนัก
- กลิ่นที่รุนแรง
- อุณหภูมิที่สูงขึ้น
อาการร่วม เมื่อปวดศีรษะคลัสเตอร์
- น้ำตาไหล
- น้ำมูกไหล
- ลืมตาลำบาก
- ตาแดง
- คัดจมูกด้านเดียวกับที่ปวด
- หนังตาบวม
- เหงื่อออกที่หน้าและหน้าผาก
ดูแลรักษาและป้องกัน
การรักษาโรคปวดศีรษะคลัสเตอร์มีทั้งการให้ยาแก้ปวด ยาป้องกันอาการปวดศีรษะในระยะยาว การให้สูดดมออกซิเจนขนาด 10 ลิตรต่อนาทีผ่านหน้ากาก ร่วมกับการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของ แพทย์เป็นสำคัญ สำหรับการป้องกันโรคปวดศีรษะคลัสเตอร์นั้นคือการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ ใช้สายตาอย่างเหมาะสม ที่สำคัญ หากมีอาการปวดหัวจนส่งผลกระทบกับกิจวัตรประจำวันควรตรวจเช็กกับแพทย์ทันที
แสดงความคิดเห็น