การสร้างพื้นที่โล่งและพื้นที่สีเขียวที่สามารถเข้าถึงได้โดยสาธารณะ เป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนกำลังให้ความสนใจ ทั้งเพื่อเป็นพื้นที่การศึกษาและวัฒนธรรม รวมถึงเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ
เช่นเดียวกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี 2555 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเป็น “แกนกลาง” (Platform) เชื่อมต่อและบูรณาการความรู้แขนงต่างๆ ผ่านการมองแบบองค์รวม และประสานงานระหว่างภาคีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการฟื้นฟูเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ที่สามารถเป็นพื้นที่นำร่องต้นแบบการฟื้นฟูเมืองประเภทต่างๆ (Urban Renewal Prototype) สำหรับการพัฒนาพื้นที่สำคัญอื่นๆ ต่อไปได้ อีกทั้งยังเป็นคลังสมองที่รวบรวมความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการดำเนินการโครงการฟื้นฟูเมือง เพื่อการเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาเมืองของประเทศไทย และร่วมผลิตบุคลากรเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการออกแบบและพัฒนาเมืองในอนาคตต่อไป
UddC ใช้สัญลักษณ์องค์กรเป็นรูป "มือขวา" (RIGHT HAND) ซึ่งสื่อถึงนัยสำคัญของการลงมือนำโครงการฟื้นฟูเมืองสู่การปฏิบัติจริง และการอาสาเป็นแกนกลางในการเชื่อมต่อภาคียุทธศาสตร์ โดยมือขวานี้ประกอบด้วยนิ้วทั้งห้า ที่สื่อความหมายถึงหลักการของการทำงานของเราทั้ง 5 ประการ ได้แก่
ซึ่งหากนำอักษรตัวแรกของหลักการทั้ง 5 นี้มารวมกัน จะได้คำว่า RIGHT ที่สามารถสื่อความหมายได้ทั้ง มือขวาซึ่งเป็นสัญลักษณ์องค์กร และความถูกต้อง เหมาะสม เป็นธรรม อีกด้วย
พันธกิจหลักในการทำงานของ UddC ได้แก่ การประสานงานภาคีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง ทั้งในและนอกประเทศ เนื่องจากการนำโครงการฟื้นฟูเมืองสู่การปฏิบัตินั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป
ถัดมาคือ การสร้างสรรค์พื้นที่นำร่องต้นแบบของการฟื้นฟูเมืองที่เป็นรูปธรรม และสามารถทำซ้ำได้ กล่าวคือ ต้องผลักดันโครงการการฟื้นฟูเมืองในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ได้ศึกษาไว้ เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์พื้นที่นำร่องต้นแบบของการฟื้นฟูเมืองที่เป็นรูปธรรม และเป็นต้นแบบในการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงสำหรับพื้นที่อื่นๆ ในโอกาสต่อๆ ไป
นอกจากนี้ UddC ต้องรวบรวมประสบการณ์และบทเรียนจากการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาเป็นองค์ความรู้สำหรับการดำเนินการโครงการฟื้นฟูเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเผยแพร่องค์ความรู้นี้แก่สาธารณะ เพื่อเป็นกลไกในการเสนอแนะทิศทางการออกแบบและพัฒนาเมืองของประเทศไทย
ที่สำคัญ คือ การร่วมผลิตบุคลากรทางด้านการออกแบบและพัฒนาเมือง ต้องบูรณาการโครงการฟื้นฟูเมืองที่ได้ดำเนินการอยู่เข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลิตบุคลากรทางด้านการออกแบบและพัฒนาเมืองสำหรับตอบสนองความต้องการของสังคมในอนาคตต่อไป
คงถึงเวลาแล้วที่กรุงเทพมหานครต้องหันกลับมาปรับกลยุทธ์ในการพัฒนาเมือง โดยควรมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมให้เกิดการดำเนินการโครงการฟื้นฟูเมืองอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ติดตามข่าวสารของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ได้ที่ http://www.uddc.net
เรื่องโดย : ภาวิณี เทพคำราม Team Content www.thaihealth.or.th
คุณคิดอย่างไรกับการนำเสนอข่าว/บทความนี้