กรมอนามัย จับมือภาคี หนุนเด็กไทย ยืนกรานกระต่ายขาเดียว ไม่ลอง ไม่สูบบุหรี่
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพทันตแพทย์ในการควบคุมยาสูบ ทันตแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทย ชมรมทันตแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แจกทุนการศึกษา 120 ทุน แก่เด็กนักเรียนที่ร่วมกิจกรรมกระต่ายขาเดียว เขียนข้อความปฏิเสธบุหรี่
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในงานแถลงข่าวโครงการรณรงค์สัญลักษณ์กระต่ายขาเดียว ป้องกันนักสูบหน้าใหม่โดยทันตบุคลากร ว่า กรมอนามัยร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพทันตแพทย์ในการควบคุมยาสูบ ทันตแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทย ชมรมทันตแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดกิจกรรมรณรงค์สัญลักษณ์ NoNo กระต่ายขาเดียว โดยให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5ทั่วประเทศ ฝึกเขียนข้อความปฏิเสธบุหรี่ และมีกระต่ายเป็นสัญลักษณ์แทนทันตแพทย์ เนื่องจากมีฟันที่แข็งแรง ส่วนชื่อ โนโน่ และกระต่ายขาเดียว หมายถึงการยืนกรานที่จะปฏิเสธบุหรี่ เพื่อให้เด็กกล้าปฏิเสธเมื่อถูกชักชวนและสามารถพัฒนาทักษะจนสามารถป้องกันตนเองได้ ซึ่งจากการสำรวจเด็กประถมศึกษาอายุ 8 - 12ปี ในปี 2557จำนวน 3,532คน พบร้อยละ 22มีเพื่อนที่สูบบุหรี่ ร้อยละ 1.5คิดว่าจะลองสูบบุหรี่ถ้าเพื่อนชวน ร้อยละ 7.6เคยลองสูบบุหรี่แล้ว และร้อยละ 40เคยถูกผู้ใหญ่ใช้ไปซื้อบุหรี่ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่แสดงว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสูบบุหรี่ของเยาวชนมากที่สุดคือ ครอบครัว เช่น คนใกล้ชิดในครอบครัวสูบบุหรี่ รวมทั้งเด็กยังขาดความรู้ความเข้าใจถึงพิษภัยของบุหรี่ มีพฤติกรรมเลียนแบบจากสื่อภาพยนตร์ การต้องการแสดงพฤติกรรมต่อต้านสังคม รวมถึงถูกจูงใจจากกลยุทธ์การโฆษณา กิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ และการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมที่แฝงโฆษณาของบริษัทบุหรี่
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า การป้องกันไม่ให้เด็กสูบบุหรี่ควรเริ่มในเด็กอายุน้อยกว่า 12ปี โดยใช้โรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้น เบี่ยงเบนความสนใจของเด็กให้ไปทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น กีฬา ซึ่งกิจกรรมและการรณรงค์ต่างๆ จะต้องได้รับความร่วมมือจากเด็ก ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน โดยที่กรมอนามัยเป็นหน่วยงานหลักในการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน มุ่งเน้นส่งเสริมให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยปฏิบัติตนตามหลัก 3อ. 2ส. 1ฟ. คือ 3อ. ได้แก่ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย 2ส. ได้แก่ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา และ 1ฟ. ได้แก่ ใส่ใจสุขภาพฟัน โครงการรณรงค์สัญลักษณ์กระต่ายขาเดียวจึงสอดรับกับภารกิจของกรมอนามัย เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้มีการจับสลากมอบทุนการศึกษา 100ทุน ทุนละ 2,000บาท แก่เด็กนักเรียนที่ร่วมกิจกรรมเขียนข้อความปฏิเสธบุหรี่ 50,000คน จาก 56จังหวัด โดยแบ่งออกเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร โดยรายชื่อนักเรียนที่ได้ทุนการศึกษาจะแจ้งไปทางโรงเรียน และประกาศทางเว็บไซต์ของสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย www.anamai.ecgates.com หรือเว็บไซต์ของเครือข่ายวิชาชีพทันตแพทย์ในการควบคุมยาสูบ www.thaidentistagainsttobacco.org
ทางด้าน ศ.(พิเศษ) พลโท.พิศาล เทพสิทธา นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า บุหรี่ทุกรูปแบบเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพช่องปาก การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงอย่างมากที่จะก่อให้เกิดปัญหารุนแรงในช่องปาก คือ มะเร็งช่องปาก โรคปริทันต์ ทำให้สูญเสียฟันเร็ว ช่องปากสกปรก ฟันเปลี่ยนสี เกิดกลิ่นปาก ความสามารถในการรับกลิ่นและรสลดลง ขัดขวางการรักษาทางทันตกรรม อาทิ การรักษาโรคเหงือก การฝังรากฟันเทียม ทันตแพทยสมาคมฯ ได้ส่งเสริมให้ทันตแพทย์ทุกคนมีบทบาทในการควบคุมและป้องกันการสูบบุหรี่ โดยชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในช่องปากที่เกิดจากการสูบบุหรี่ และรอยโรคในช่องปากที่อาจกลายเป็นมะเร็งต่อไป แนะนำโปรแกรมช่วยเลิกบุหรี่ควบคู่ไปกับการให้บริการทันตกรรม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความตั้งใจของผู้ป่วยเอง ซึ่งวันที่ 31พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ถือเป็นวันดีที่ผู้สูบบุหรี่จะเริ่มต้นเลิกสูบบุหรี่
ทางด้าน ทพ.ดร.ณัฐวุธ แก้วสุทธา รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยยังสูงถึงร้อยละ 40 และจำนวนผู้สูบบุหรี่มีถึง 11 ล้านคน บุหรี่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาอันดับที่สองของคนไทย เด็กไทยอายุต่ำกว่า 18 ปี ติดบุหรี่แล้ว 4 แสนคน โดยในแต่ละปีมีเยาวชนติดบุหรี่ใหม่ 100,000 คน การเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่เด็กจะทำให้สมองเด็กถูกกระตุ้น เสพติดง่ายและเลิกไม่ได้ จากสถิติพบว่าเด็กไทย 10 คนที่ติดบุหรี่ 7 คนจะเลิกไม่ได้จนตลอดชีวิต การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเด็กจึงเป็นมาตรการที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ สำหรับประเทศไทย พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ใช้ปัจจุบัน ใช้มากว่า 20 ปีแล้ว ทำให้ล้าสมัย ไม่สามารถควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ๆ และกลยุทธ์การตลาดของบริษัทยาสูบที่มีการพัฒนาต่อยอดเชิงธุรกิจมาโดยตลอด ทั้งนี้ ข้อบัญญัติใน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ได้จำกัดกลยุทธ์ส่งเสริมการขาย การห้ามแบ่งซองขายบุหรี่เป็นรายมวน ห้ามการโฆษณาบนซองบุหรี่ รวมถึงห้ามผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ๆ ที่เย้ายวนจูงใจเยาวชน คนไทยทุกคนจึงควรให้การสนับสนุน พรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่นี้เพื่อปกป้องลูกหลานให้เติบโตแข็งแรงเป็นกำลังที่สำคัญของประเทศในอนาคต
ที่มา : เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ
แสดงความคิดเห็น