‘มูลนิธิสื่อชาวบ้าน’ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘มะขามป้อม’ กลุ่มคนเล็กๆ แต่พลังยิ่งใหญ่ ที่มองเห็นปัญหาของชุมชน และนำกระบวนการละครเป็นสื่อกลางเพื่อสะท้อนปัญหาของชุมชนสู่สังคมเมือง
“การเดินทางยาวนานกว่า 30 ปี ของมะขามป้อม เริ่มต้นจากกลุ่มรุ่นพี่ที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ที่มีความเห็นตรงกันว่า สื่อมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาชุมชน จึงรวมตัวกันขึ้น โดยใช้ชื่อภายหลังว่า สื่อชาวบ้าน” ญาดา เกรียงไกรวุฒิกุล หรือ พี่หมวย ผู้จัดการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน เล่าถึงความเป็นมา
พี่หมวย เล่าให้ฟังต่อว่า เนื่องจากสมัยก่อนต้องเดินทางไปอบรมครูตามสถานที่ต่างๆ การใช้ชื่อ ‘สื่อชาวบ้าน’ค่อนข้างฟังยาก ไม่ติดหูและไม่น่าสนใจ จึงตั้งชื่อกลุ่มกันใหม่ว่า ‘มะขามป้อม’ โดยสาเหตุที่ชื่อนี้ เพราะธรรมชาติของทีมงานคือ “เป็นคนติดดิน” ใช้ชีวิตเรียบง่ายและอยู่กับชุมชน บางครั้งการแต่งกายอาจดูไม่น่าเชื่อถือบ้าง แต่การทำงานของเราที่พยายามสร้างเครื่องมือ ทำให้ชาวบ้านร่วมวงพูดคุย แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชนของเขา
“สิ่งเหล่านี้ทำให้ครู ชาวบ้าน เยาวชนประทับใจ คงเหมือนกับมะขามป้อมที่ลิ้มรสครั้งแรกจะมีรสฝาด แต่เมื่อดื่มน้ำตามเข้าไปแล้วจะมีรสหวานชุ่มคอนั่นเอง”
มะขามป้อมใช้กระบวนการละคร ทั้งละครหุ่น ละครเวที ละครใบ้ สื่อพื้นบ้าน ลิเก เพื่อพัฒนาชุมชน และทำให้ชาวบ้านเกิดการแลกเปลี่ยน ทำงานร่วมกัน บางเรื่องที่เป็นประเด็นอ่อนไหวก็สามารถพูดคุยกันได้ง่ายขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็คือ การฝึกอบรมชาวบ้านและเยาวชนในชุมชนให้ผลิตสื่อเอง นอกจากนี้เรายังนำข้อมูลจากการลงพื้นที่ในชุมชน มาผลิตเป็นสื่อการแสดงในเมืองหรือสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นตัวกลางในการสื่อสารและสะท้อนปัญหาของชุมชนชนบทสู่สังคมเมือง เพื่อให้คนเมืองได้รับรู้และร่วมกันผลักดันเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนแก้ไข
“สำหรับชาวดาระอั้ง บ้านปางแดง แห่งเชียงดาว เป็นอีกชุมชนที่ได้รับการฝึกอบรม โดยเด็กๆ ชาวดาระอั้ง ได้รับการฝึกฝนกายกรรม เนื่องจากพี่อาสาสมัครมะขามป้อมมีความสนใจเรื่องกายกรรม และมีความเห็นตรงกันว่า ทักษะกายกรรมเหมาะกับเด็กๆ และยังเป็นการฝึกวินัย ฝึกการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และช่วยให้เด็กๆ เติบโตขึ้นด้วย เราจึงนำกายกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดประเด็น ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชนเผ่าดาระอั้ง” พี่หมวยบอกเล่าเพิ่มเติม
ปัจจุบันมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) มีสำนักงานใหญ่ อยู่ที่กรุงเทพฯ จะทำงานเกี่ยวกับการศึกษา งานอบรม งานการแสดง ส่วนงานด้านชุมชนจะตั้งอยู่ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยมีพื้นที่ถูกจัดแบ่งเป็นสัดส่วนไว้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นโรงละครชุมชน มะขามป้อม art space พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อรวบรวมผลงานศิลปะของศิลปินในพื้นที่
นอกจากนี้ยังแบ่งการทำงานเป็นฝ่ายศึกษา และฝ่ายงานนานาชาติ เป็นโปรแกรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมชุมชน วิถีชีวิต อาหารการกิน และโปรแกรมการแสดงละครชุมชน ที่มีทั้งการแสดงละครเด็ก ละครหุ่น ละครหุ่นเงา ละครคน โดยผู้ฝึกอบรมต่างก็เป็นอาสาสมัครของมะขามป้อม
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิชาวบ้าน ( มะขามป้อม) โดยการพัก เที่ยว เรียนรู้กับมะขามป้อม ศูนย์เชียงดาว 477 ม. 7 ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ. เชียงใหม่ 50170 โทรศัพท์/โทรสาร 053-456-016 E-mail : ctmkp@yahoo.com , Inter@makhampom.net, makhampom3@gmail.com
ร่วมบริจาคสนับสนุนกิจกรรมได้ที่ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) 222-224 ถ. สุทธิสาร แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพ 10400 โทร. 0-2616-2274 โทรสาร. 0-2616-2275. หรือ E-mail : makhampom3@gmail.com (แนบเรื่อง ร่วมบริจาคสนับสนุนกิจกรรม) ทางมูลนิธิจะดำเนินการจัดส่งใบเสร็จรับเงินให้ท่านต่อไป)
เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th
แสดงความคิดเห็น