อย.ห่วงกลุ่มไม่ชัดเจนทางเพศ เดี๋ยวอยากเป็นชาย เดี๋ยวอยากเป็นหญิง จนต้องซื้อฮอร์โมนเพศมากินสลับกันมั่วไปหมด ระวังทำร่างกายเสี่ยงขาดสมดุล ต่อมไร้ท่อถูกรบกวน ฮอร์โมนต่างๆ ออกฤทธิ์ไม่สมดุลกัน ชี้กินระยะยาวพ่วงเสี่ยงมะเร็ง บางรายแพ้อาจถึงตาย
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และโฆษก อย. กล่าวว่า กลุ่มหลากหลายทางเพศ เช่น สาวประเภทสองมักซื้อยาคุมกำเนิด ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงมากิน เพื่อลดขนตามร่างกายและขยายขนาดหน้าอก หรือกลุ่มสาวทอมบอยที่ซื้อฮอร์โมนเพศชายมากิน แม้จะน่าเป็นห่วง แต่ยังไม่น่าห่วงเท่ากลุ่มที่มีความสับสนคือ อยากเป็นผู้ชายบ้าง อยากเป็นผู้หญิงบ้าง จนต้องพึ่งยาฮอร์โมนมากินสลับกันไปมา ซึ่งจะมีความเสี่ยงคือ ต่อมใต้สมองหรืออวัยวะที่ผลิตฮอร์โมนจะถูกกระตุ้นจนทำให้กลไกการทำงานสับสน จนภาวะสมดุลของร่างกายเกิดความสับสนตามไปด้วย และหากยิ่งกินฮอร์โมนหลากหลายสลับไปมาก็จะทำให้ต่อมไร้ท่อต่างๆ ในร่างกายถูกรบกวน จนส่งผลให้ตัวฮอร์โมนในแต่ละที่ไปออกฤทธิ์ได้ไม่ สมดุลกัน
ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า หากต้องการรับประทานฮอร์โมนเพศควรปรึกษาแพทย์ และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากหากรับประทานเองจะเกิดสภาวะเสี่ยงที่จะทำให้เป็นมะเร็งได้ในระยะยาว นอกจากนี้ การกินฮอร์โมนยังมีความจำกัดในคนไข้บางราย เช่น ในกลุ่มที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดอักเสบ หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะหากรับประทานโดยไม่ดูขนาดก็อาจก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของตัวโรคต่างๆ ตามมาจนอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
"ระยะเวลาของการกินฮอร์โมนเพศจนเกิดมะเร็งนั้น แต่ละคนจะมีระยะเวลาต่างกัน เพราะมีความไวต่อยาต่างกัน อย่างยาบางชนิดหากใครแพ้อย่างเฉียบพลันก็จะมีผลทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ก็มี และเนื่องจากตัวฮอร์โมนต่างๆ เกิดจากการสังเคราะห์ของเคมีภัณฑ์และสารสังเคราะห์ทั้งสิ้น ดังนั้น กรณีของการกินฮอร์โมนที่มากเกินไปก็จะส่งผลให้อวัยวะภายในมีโอกาสเป็นมะเร็ง ซึ่งมีรายงานเป็นทางการว่าการรับประทานฮอร์โมนมากไปก็จะทำให้อวัยวะภายในมีโอกาสเป็นมะเร็งหลายที่ โดยการรับประทานฮอร์โมนในเพศชายจะมีความเสี่ยงมะเร็งลูกอัณฑะ และต่อมลูกหมาก ส่วนในเพศหญิงจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ และมะเร็งเต้านม" รองเลขาธิการ อย. กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
แสดงความคิดเห็น