"งานด้านการศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมนั้น คือ งานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญาและทางจิตใจ ซึ่งเป็นทั้งต้นเหตุทั้งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของความเจริญด้านอื่น ๆ ทั้งหมด และเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เรารักษาและดำรงความเป็นไทยไว้ได้สืบไป" พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยศิลปากร วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2513
ก่อนก้าวสู่ปี 2558 นี้ ขออัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับงานวัฒนธรรม มาเป็นเครื่องเตือนใจ คนไทย และชาวกระทรวงวัฒนธรรม ให้ร่วมแรงร่วมใจอนุรักษ์ สืบสาน มรดกทางวัฒนธรรมที่งดงามของชาติให้คงอยู่ โดยในรอบปี 2557 ที่ ผ่านมาในภาพรวมแล้วงานด้านวัฒนธรรมดูจะไม่มีอะไรหวือหวา โดยมากเป็นการทำงานตามโครงการที่ได้วางแนวทางไว้ ไม่ได้มีไอเดียแปลกใหม่ออกมาให้ประชาชนได้ตื่นตาตื่นใจ
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ซึ่งมีหน่วยงานในสังกัดตั้งแต่ กรมศิลปากร กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมการศาสนา สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และอีก 3 องค์การมหาชน คือ ศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร หอภาพยนตร์ ศูนย์คุณธรรม ยังคงพยายามผุดโครงการที่จะทำให้สังคมหันกลับมาเห็นความสำคัญของงานวัฒนธรรม และภูมิปัญญา แต่ยังคงไปไม่ถึงฝัน เพราะยึดติดอยู่กับกรอบความคิดเดิมที่เน้นราชการจ๋า ทั้งที่ความจริงแล้ว วธ.น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้
อย่างโครงการนำมิติทางวัฒนธรรมไปพัฒนาเมือง หน้าด่าน เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน ซึ่งอดีตพ่อบ้าน ปรีชา กันธิยะ ได้สานงานเอาไว้ ก่อนที่จะถูกคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) โยกย้ายให้ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นโครงการดีอีกโครงการหนึ่งที่ควรจะเดินหน้าให้สุด ๆ ซึ่งในปีงบประมาณปี 2557 มีแผนพัฒนาเมืองหน้าด่านใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงราย ตาก สระแก้ว และ สงขลา โดยจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดละ 10 ล้านบาท ซึ่ง วธ.มีแผนจะทำให้ครบทั้ง 32 ด่านในประเทศไทย เพื่อให้เมือง หน้าด่านเป็นเสมือนเมืองรับแขกบ้านแขกเมือง ในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนในกลุ่มอาเซียน หรือนักท่องเที่ยว ทั้งเรื่องเส้นทางเมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม การศึกษาวิจัยผลกระทบทางด้านชุมชนวัฒนธรรมจากความเชื่อมโยงระหว่างกันของภูมิภาคอาเซียนที่จะทำให้เกิดการพัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจ แต่พอเกิดเปลี่ยนแปลงผู้บริหารนโยบายเหล่านี้ก็ดูจะเลือนหายไป
คงต้องรอดูว่า ในปี 2558 ซึ่งเป็นการเปิดประชาคมอาเซียน พ่อบ้าน อภินันท์ โปษยานนท์ จะขยับตัวเช่นไร จะสานต่อโครงการดี ๆ ที่จะรองรับประชาคมอาเซียนเหล่านี้หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ อานิสงส์ คสช.ทำให้ท่านอภินันท์ ได้กุมบังเหียนบริหารงาน วธ.ช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะดึงเอาลูกหม้ออย่าง วีระ โรจน์พจนรัตน์ มาเป็นเจ้ากระทรวง ซึ่งระยะเวลาที่ปลัด วธ.เป็นผู้บริหารสูงสุดของ วธ.ก็ขยันเดินสายไปร่วมเปิดงานทุกกิจกรรม เท่าที่จะทำได้ แต่อาจลืมไปว่า กิจกรรมวัฒนธรรมที่จัดขึ้นส่วนใหญ่เป็น เพียงกระแสชั่วคราว วูบวาบที่ไม่นานคนก็ลืม ดังนั้น ควรหวนคิดไหมว่า จะทำอย่างไรให้กิจกรรมวัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งที่น่าจดจำ หรือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนในสังคม เพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืนไม่ใช่สิ่งฉาบฉวย
ไม่เพียงเท่านั้น การรณรงค์ให้คนไทยมีค่านิยมไทย ทั้งเรื่องของการไหว้ ยิ้ม ความมีน้ำใจ โอบอ้อมอารี ความกตัญญู ก็ถูกมองข้ามไป ทั้งที่ผลการวิจัย หรือข้อมูลข่าวสารทางสื่อ และโลกออนไลน์ ออกมาตีแผ่ให้เห็นว่า ขณะนี้สังคมไทยขาดรอยยิ้ม ใจร้อน ขาดน้ำใจให้แก่กัน แต่หน่วยงานอย่าง วธ. ยังคงกลับนิ่งเฉย ทั้งที่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวคนไทยมากที่สุด และถือเป็นความมั่นคงของชาติ ที่จะสามารถหาวิธีการต่าง ๆ รณรงค์ให้คนไทยหวนกลับมา ระลึกถึงค่านิยมอันงดงามเหล่านี้ได้ และการรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึก ถือเป็นงานรูปธรรม ที่จะสามารถจับต้องได้ ไม่ใช่เป็นงานนามธรรมอย่าง ที่ผู้บริหารมองอีกต่อไป
หากการรณรงค์ทำซ้ำ ก็จะเกิดผลให้คนได้รับรู้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ โดยมีตัวอย่างให้เห็นแล้วกับโฆษณาของบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง ทางสถานีโทรทัศน์ที่สื่อออกมาได้อย่าง กินใจ สะดุดใจคนไทยหลาย ๆ คน การเปิดเพลงปลุกใจของ คสช. รณรงค์เรื่องความสามัคคี การรณรงค์งดเหล้าของ สสส. เหล่านี้ย่อมเกิดผลให้เห็น นอกจากการรณรงค์แล้ว วธ. ต้องอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะทำให้การรณรงค์ หรือนโยบายต่าง ๆ เกิดการขับเคลื่อนได้รวดเร็วและเกิดผลยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา วธ.ก็มีเครือข่ายอยู่ไม่น้อย แต่ก็ยังขาดการสร้างเครือข่ายใหม่ในวงกว้าง โดยเฉพาะสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด สำนักศิลปากรในพื้นที่ น่าจะมีส่วนสำคัญในการปรับบทบาทจากหน่วยงานราชการที่คอยสั่งการมาเป็นหน่วยประสานงาน ให้ความรู้ และมองประชาชนเหมือนเพื่อน เหมือนญาติ ไม่ใช่คนที่ด้อยกว่า ซึ่งเชื่อว่าคนวัฒนธรรม งานวัฒนธรรมจะเข้าถึงใจชาวบ้านเป็นแน่ และความร่วมมือก็จะเกิดแล้วความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมย่อมมีผลตามมาในไม่ช้า
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงจุดอ่อนบางส่วนของงานวัฒนธรรมเท่านั้น ปีหน้าฟ้าใหม่คงต้องฝากความหวังไว้กับท่านวีระ โรจน์พจนรัตน์ เจ้ากระทรวงวัฒนธรรม ในการกำจัดจุดอ่อน สร้างจุดแข็งงานวัฒนธรรมให้เห็นผลเป็น รูปธรรมให้ได้ โดยขอให้ยึดพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" หากข้าราชการและทุกคนที่เกี่ยวข้อง ยึดแนวทางการทำงานเหล่านี้ได้ งานวัฒนธรรมจะไม่ใช่งานที่ยาก และจะไม่ใช่งานนามธรรม แต่เป็นงานระดับชาติที่น่าท้าทาย สุดท้ายนี้ขอให้กำลังใจคนทำงานวัฒนธรรมทุกคน อย่าท้อถอย สู้ต่อไป เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองของเรา.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แสดงความคิดเห็น