หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการส่งเสริม และสนับสนุนให้พลเมืองของตนตระหนักถึงประโยชน์ของ "การเดิน" และ "การใช้จักรยาน" ในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในสังคมไทยก็เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ โครงการผลักดันการเดิน และการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันสู่นโยบายสาธารณะประเทศไทย (I BIKE I WALK) โดย ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นหนึ่งในแรงผลักดันส่งเสริม และจุดประกายให้การใช้จักรยานและการเดินเข้าไปมีบทบาทในวิถีชีวิตของคนไทยมากขึ้น โดยมีการจัดระบบโครงสร้าง การรณรงค์เพื่อส่งเสริมการใช้จักรยาน และการเดินในชีวิตประจำวันให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณะ
อัจจิมา มีพริ้ง ผู้จัดการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) อธิบายเพิ่มเติมว่า ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 ทั้งนี้คำว่า ‘สุขภาพ’ ไม่ได้หมายถึงเพียงสุขภาพกายของประชากรเท่านั้น แต่รวมถึงสุขภาพของสังคมอีกด้วย ทั้งในเรื่องของการแก้ปัญหาจราจร มลพิษ และพลังงาน ซึ่งกิจกรรมของชมรมฯ โดยหลักจะเน้นในเชิงการรณรงค์ทั้งการให้ความรู้ จัดกิจกรรม รวมถึงการลงพื้นที่สำรวจรวบรวมข้อมูลการใช้จักรยานของคนไทยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับโครงการผลักดันการเดิน และการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันสู่นโยบายสาธารณะประเทศไทย (I BIKE I WALK) จุดประสงค์การจัดทำโครงการเรามองว่าการขับคลื่อนรณรงค์เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นประชาชนทุกคนให้ออกมาใช้จักรยาน และเดินในประจำวันได้ จึงมีแนวคิดที่จะสร้างให้เกิดเป็นยุทธศาสตร์ที่สามารถวัดผลได้ มีการออกแบบจัดทำโลโก้ I BIKE I WALK ขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของวงการการเดิน และการใช้จักรยานในประเทศ
อัจจิมา เล่าต่อว่า การสร้างชุมชนจักรยาน และการเดินผ่านกระบวนการสร้างความร่วมมือกับผุ้นำในชุมชนก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะ เรามองมองว่าการสร้างความมั่นคงคือ เริ่มจากฐาน และฐานของการพัฒนาประเทศคือหมู่บ้านและชุมชน ทำให้เกิดการลงพื้นที่สร้างความมั่นคงในเรื่องของการใช้จักรยาน และการเดินหล่อหลอมหลอมเป็นพลังค่านิยมที่แพร่หลายไปทั่วทุกพื้นที่ รวมถึงกำหนดพันธกิจให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมสร้างนโยบาย กฏหมาย โครงสร้างที่ส่งเสริมพร้อมกับการสร้างค่านิยมให้ประชาชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้จักรยาน และการเดินเป็นวิถีชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ชมรมฯ ยังได้ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ ผู้นำชมรม-กลุ่มต่างๆมาร่วมมือกันตามแนวทางประสานความร่วมมือเชิญชวนผู้นำท้องถิ่นหัวหน้าหน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมสนับสนุนจัดประชุม เสวนา ศึกษาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ การเดิน และการใช้จักรยานอีกด้วย
ผู้จัดการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ย้ำว่า ผลจากโครงการในระยะเวลาที่ผ่านมาทำให้การใช้จักรยานและการเดินเข้าไปมีบทบาทในวิถีชีวิตของคนไทยมากขึ้น เกิดชมรมจักรยานในจังหวัดต่าง ๆ อยู่ทั่วประเทศ ฉะนั้นการขับเคลื่อนการเดิน และการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันสู่นโยบายสาธารณะ จึงเป็นเรื่องใหญ่ ชมรมฯ เปรียบเสมือนเป็นกลไกเล็กๆ ที่ช่วยขับเคลื่อน และมีความคาดหวังอยู่เสมอว่าจะเห็นสังคมไทยเป็นสังคมจักรยานและการเดินอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป
“การปั่นจักรยาน และการเดินทำให้เกิดอิสระ ให้ความสุขใจ ช่วยให้ลืมความเครียด ได้เห็นชีวิตมากขึ้น และได้ออกกำลังกายอีกด้วย เป็นวิถีชีวิตที่ทุกคนสามารถทำได้เพียงแค่เริ่มต้นเปลี่ยนแปลง” อัจจิมา กล่าวทิ้งท้าย
สามารถติดตามข้อมูลกิจกรรมของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย(TCC) ได้ที่ http://www.thaicyclingclub.org/
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
แสดงความคิดเห็น