เครื่องมือที่ช่วยคนทำงานประจำพัฒนางานของตัวเองให้เกิดคุณค่า และประโยชน์ต่อสังคมในวงการสาธารณสุขได้นั้น รู้จักกันดีในเครื่องมือที่ชื่อ R2R (Routine to Research) หรือ การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย
รศ.นพ. เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ หัวหน้าทีมที่ปรึกษาโครงการสนับสนุนการพัฒนางานประจำสู่การวิจัยระดับประเทศ เล่าให้ฟังถึงที่มาของโครงการฯ ว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่และนำความรู้นั้นมาแก้ปัญหาหน้างานของตัวเอง นำมาสู่การพัฒนาคุณภาพของงานด้านสาธารณสุข
“ใน 3 ปีแรก มีผู้เข้าร่วมพัฒนางาน โดยเอางานวิจัยมาใช้ประกอบพัฒนาจนเกิดผลดีกับการบริการผู้ป่วย คนทำงานประจำสามารถสร้างความรู้และใช้ความรู้นั้นได้ มีผลงานที่ออกมาตีพิมพ์เผยแพร่ในเชิงวิชาการ ผู้ที่สามารถพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยนั้นสามารถทำได้ทุกหน่วยในโรงพยาบาลตั้งแต่แพทย์ พยาบาล พนักงานออฟฟิศ ฯลฯ”
ภายหลังดำเนินโครงการฯ ได้ 3 ปี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กรรมการนโยบาย โครงการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเห็นว่าควรขับเคลื่อนเครื่องมือช่วยพัฒนางานนี้ไปทั่วประเทศ จึงร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) มาขับเคลื่อนโครงการฯ ทั่วประเทศไทยในภาคสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนและพัฒนาให้เกิดระบบการทำงาน R2R ของบุคลากรในระดับพื้นที่ รวมถึงมีกิจกรรมการจัดประชุมวิชาการประจำปี กิจกรรมฝึกอบรม และประชุมเชิงปฏิบัติการต่างๆ
“จากนั้นในปี 2556 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้ามาร่วมด้วยเพื่อยกระดับทางวิชาการให้กับนักสร้างเสริมสุขภาพทั่วประเทศ โดยร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) เพื่อกำหนดเกณฑ์พัฒนาคุณภาพสถานพยาบาลให้ขั้นสูงขึ้นไป” รศ.นพ. เชิดชัย กล่าวเพิ่มเติม
เมื่อ “คน” คือหัวใจของการทำงานสำหรับเครื่องมือ R2R พลังของเครื่องมือนี้จะสร้างความเชื่อและเติมศักยภาพให้คนสร้างความรู้ขึ้น นำความรู้เหล่านั้นมาใช้ในงานได้ ทั้งนี้ ตำแหน่งที่ขาดไม่ได้ในระบบ R2R คือ คุณเอื้อ (Chief Knowledge Officer : CKO) ที่โดยทั่วไปแล้วจะเป็นตำแหน่งของผู้บริหาร หัวหน้าหอผู้ป่วย หัวหน้าแผนก ฯลฯ ที่คอยสนับสนุนให้คนหน้างานได้แสดงศักยภาพที่เหมาะสม รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้เป็นทีม (Group learning) เช่น จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่เกิดจากงานวิจัย ติดตั้งอินเทอร์เน็ตเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และเพิ่มช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นต้น
ด้าน คุณอำนวย (Facilitator) ตำแหน่งนี้เป็นนักจุดประกายความคิดและเป็นนักเชื่อมโยง ทำหน้าที่กระตุ้น ขับเคลื่อนคนที่อยากใช้ความรู้ให้เข้ามาทำงานร่วมกัน มีคุณสมบัติเป็นที่ปรึกษาของผู้ร่วมงานได้ดี และมีความรู้ทางด้านงานวิจัยด้วย เช่น การจัดสุนทรียสนทนาเพื่อให้คนเห็นคุณค่าองค์กร และให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอน/กระบวนการทำงานและการวิจัย เป็นต้น
โดยมี 4 องค์ประกอบ R2R ดังนี้
1.คำถามที่คนทำวิจัยตั้งขึ้นมา เป็นปัญหาได้เกิดขึ้นในงานประจำหรือไม่
2.คนทำวิจัย ควรเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ที่มีปัญหาอยู่กับงาน และมีอำนาจตัดสินใจในระดับหนึ่ง
3.การวัดผลลัพธ์ จะต้องสรุปได้ว่างานวิจัยนี้มีการปรับปรุงพัฒนาดีหรือไม่ แสดงถึงปัญหาได้ดีหรือไม่
4.การนำผลลัพธ์ที่แก้ปัญหาได้แล้วนั้นกลับมาใช้ประโยชน์ และสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาได้
ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยได้จัดขึ้นทุกปี เพื่อให้คนหน้างานในระบบสาธารณสุขได้แก้ไขปัญหา และสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง แล้วมานำเสนอเป็นนวัตกรรม ผลงาน หรือแนวคิดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทำงานด้านสาธารณสุขทั่วประเทศ...
แสดงความคิดเห็น