กว่า 7 ปีแล้วที่ “หุ่นสายคณะช่อชะคราม” หรือที่รู้จักกันในนาม “ละครหุ่นสายยี่สาร” ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์และสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนใน “ชุมชนเขายี่สาร” ณ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม...
ปาริชาติ นวลิมป์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนวัดเขายี่สาร ผู้ดูแลคณะละครหุ่นซึ่งมีหน้าที่หลักในการจัดทำหุ่นและสร้างบทละคร ให้มุมมองว่าปัจจุบันการเล่นละครหุ่นสายของสังคมไทยค่อยๆ เลือนหายไปตามยุคสมัย หากคนรุ่นหลังไม่ทำต่อ ก็อาจสูญหายเข้าจริงๆ ในสักวันหนึ่ง
“เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2550 การเขียนบทในช่วงแรกสะท้อนออกมาจากชีวิตของคนในชุมชน เพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัว พอเอาโจทย์มาให้เด็กๆ พากย์ พวกเขาก็เข้าใจในสิ่งที่ตนเองต้องพากย์ คนดูเองก็เข้าถึงสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ” ครูชำนาญการพิเศษเล่าเสียงสดใส
เอกลักษณ์ของ “หุ่นสายช่อชะคราม” คือทำจากผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ใช้นักเรียนโรงเรียนวัดเขายี่สารเป็นผู้แสดง ซึ่งประกอบด้วย คนเชิดหุ่น คนพากษ์ (คนร้อง) และมีดนตรีเล่นประกอบจังหวะ เมื่อเยาวชนร่วมเป็นสื่อในการแสดงด้วยหัวใจเพื่อสะท้อนวิถีชีวิตที่บรรพบุรุษของตนดำรงกันมา ละครหุ่นสายยี่สาร จึงเป็นที่นิยม และได้รับเชิญไปแสดงในที่ต่างๆ มากมาย อาทิ งานประจำจังหวัด, โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์, ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ฯลฯ
ปาริชาติบอกเพิ่มเติมว่า การทำ “ละครหุ่นสาย” การทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทุกองค์ประกอบล้วนเกื้อกูลกันให้มีเสน่ห์มากขึ้น
“ตอบไม่ได้ว่า การทำละครหุ่นสาย สิ่งใดสำคัญที่สุด เพราะแต่ละส่วน อย่างการพากษ์ การเชิดหุ่น ดนตรี ทุกจังหวะต้องส่งเสริมกันลงตัว โชคดีว่าเด็กๆ ที่มาสมัครเข้าคณะฯ จะเป็นเด็กที่มีพื้นฐานภาษาไทยดี พอเขามาสมัคร ครูก็จะให้ฝึกอ่านซ้ำๆ จนคล่อง จากนั้นให้ฝึกใส่อารมณ์ในการพากย์ เด็กต้องฝึกอ่านออกเสียงให้ชัด อ่านจนดีถึงจะปล่อย”
เมื่อเด็กๆ รวมใจ การทำละครหุ่นสายฯ ในระยะต่อมา จึงเป็นการสื่อสารกับเรื่องราวในวงกว้างของสังคมเพิ่มมากขึ้น เช่น การได้เข้าร่วมอบรมความรู้จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการส่งเสริมการพัฒนาการจัดการรณรงค์งดเหล้า โดยใช้สื่อหุ่นสายในสถานศึกษา และล่าสุดเป็นการใช้หุ่นละครสายเพื่อสื่อสารประเด็นการลดพุงลดโรคด้วย
“ผลตอบรับค่อนข้างดี เมื่อเราเข้าใจโจทย์ของเรื่องที่ บทที่เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอก็จะออกมาดี ซึ่งภาษาไทยมีส่วนสำคัญมากกับการทำหุ่นละครสาย เด็กๆ รุ่นใหม่ จึงควรจะอนุรักษ์ภาษาของเราไว้ ฝึกพูดให้ถูก เขียนให้ถูกต้อง หมั่นอ่านหนังสือบ่อยๆ เพราะมีส่วนช่วยให้การสื่อสารหรือการพากษ์ละครดีขึ้นจริงๆ”
ในฐานะที่เป็นครูสอนภาษาไทยด้วย ปาริชาติ เล่าว่า พยายามย้ำกับเด็กๆ ว่าภาษาสมัยใหม่ รู้ไว้ดี แต่อย่าไปใช้บ่อย เพราะถ้าติดปากแล้ว จะทำให้การใช้ภาษาไทยเพี้ยนไป
ล่าสุด ในปี พ.ศ.2554 ปาริชาติ นวลิมป์ ครูผู้อนุรักษ์ ผู้ดูแล “หุ่นสายคณะช่อชะคราม” ก็ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัล บุคคลเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ด้านวัฒนธรรม จากกระทรวงวัฒนธรรมด้วย
"ละครหุ่นสายกับภาษาไทยนั้นคล้ายกัน เป็นสมบัติของประเทศชาติที่สะท้อนความเป็นไทย ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาไว้ ใครจะช่วยเรา” ครูผู้ชำนาญการให้สัมภาษณ์ทิ้งท้าย
เรื่องโดย : ชัชวรรณ ปัญญาพยัตจาติ Team Content www.thaihealth.or.th
แสดงความคิดเห็น