ชมรมเชียงใหม่ร้านอาหารปลอดภัยก่อเกิดมาจากการรวมตัวของผู้รักสุขภาพ ที่เรียกกลุ่มของตัวเองว่า “ชมรมล้านนาแมคโครไบโอติคส์” เป็นชมรมที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีและมีสุขภาพแข็งแรงและการมีชีวิตที่ยืนยาว ซึ่งสมาชิกในกลุ่มเป็นบุคคลที่ผ่านการอบรม “การใช้ชีวิตแบบแมคโครไบโอติคส์” จากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมาแล้วทั้งสิ้น
วิถีการดำเนินชีวิตแบบแมคโครไบโอติคส์นี้เป็นการดำเนินชีวิตแบบที่มีสุขภาพดีทั้งสุขภาพกายและใจ สุขภาพกาย หมายถึงการรับประทานอาหารที่ผลิตโดยวิธีธรรมชาติไม่มีสารเคมีปนเช่นพืชผักอินทรีย์ ข้างกล้องอินทรีย์ และมีวิธีการปรุงอาหารที่ถนอมคุณค่าของอาหารและใช้น้ำมันน้อยที่สุด ทานอาหารให้สมดุลและออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน ส่วนสุขภาพใจให้คิดในทางบวกไว้ก่อนและรู้จักพิจารณาไตร่ตรองมีสติตลอดเวลา โดยสมาชิกจะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปรุงอาหารและการออกกำลังกาย สมาชิกคนใดมีเมนูอาหารใหม่ๆ ก็จะนำมาแลกเปลี่ยนกัน เนื่องจากเราบริโภคผลผลิตที่มาจากเกษตรอินทรีย์ จึงทำให้เราต้องหาวัตถุดิบที่มาจากเกษตรอินทรีย์ เราจึงพบตลาดที่จำหน่ายพืชผักอินทรีย์ที่ใกล้บ้าน เช่นที่ตลอดนัดเจเจมาร์เก็ต ตลาดนัดผักปลอดภัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ตลาดหนองหอย นอกจากเราจะปรุงอาหารเองแล้วยังต้องหาร้านอาหารที่เป็นร้านอาหารสุขภาพเพื่อจะได้ทานอาหารนอกบ้านได้ด้วย เรายังได้เพื่อนสมาชิกเพิ่มจากเจ้าของร้านอาหารนั้นๆ ด้วย การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพนี้ได้ขยายแนวคิดจนเข้าถึงคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดของเรา เราจึงมีหน้าที่หลักก็คือหาร้านอาหารเพื่อสุขภาพ และหาวัตถุดิบในการปรุงอาหารมาจากเกษตรอินทรีย์
ความทราบถึงสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ โดยแผนงานพืชอาหารเชียงใหม่ปลอดภัยด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยงานที่ห่วงใยสุขภาพของคนเชียงใหม่เนื่องจากเห็นว่าส่วนหนึ่งในสมาชิกของเราเป็นเจ้าของร้านอาหารจึงชัดชวนให้พวกเราก่อตั้งชมรมร้านอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อขยายผลไปให้ประชาชนทั่วไปได้บริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพซึ่งไม่ได้มีแต่อาหารแมคโครไบโอติคส์เพียงอย่างเดียว ยังมีทั้งอาหารมังสวิรัติ อาหารเจ อาหารพื้นเมือง อาหารไทย ก๋วยเตี๋ยว ล้วนแล้วแต่เป็นอาหารสุขภาพทั้งนั้น เพียงแต่มีการเลือกและเตรียมวัตถุดิบที่ดีปลอดจากสารเคมีตกค้างในอาหาร พวกเราจึงได้มารวมตัวกัน เพื่อส่งเสริมให้ร้านอาหารต่างๆ เหล่านี้เป็นร้านอาหารปลอดภัย โดยเริ่มจากการเชิญร้านอาหารที่ได้รับป้ายมาตรฐานอาหารสะอาดรสชาติอร่อย clean food good taste จาก 25 อำเภอ มาประชุมบอกกล่าวว่าเราจะมาร่วมกันทำร้านอาหารของเราให้มีเมนูที่เกลือวัตถุดิบและปรุงด้วยวิธีที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ทุกร้านตกลงเห็นความสำคัญของเรื่องนี้มาก เราได้คณะกรรมการร่วมทำงานจากแต่ละอำเภอ จำนวน 35 คน หลังจากนั้นเราได้ประชุมปรึกษาหารือกันอีกครั้งจนได้เกิดชมรมขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมและมีชื่อชมรมว่า “ชมรมเชียงใหม่ร้านอาหารปลอดภัย”
จากการประชุมได้กำหนดแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ การทำงานของชมรม คือจะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร จากร้านที่มีป้าย cfgt ทั้งในอำเภอเมืองและอำเภอรอบนอก รวมถึงร้านอาหารภายในอุทยานแห่งชาติในจังหวัดเชียงใหม่ และร้านอาหารที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมการทำเกษตรที่ปลอดจากสารเคมี เปิดช่องทางการซื้อวัตถุดิบที่นำมาปรุงประกอบอาหารในร้านอาหาร ซึ่งก็จะส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพดี นักท่องเที่ยวได้ทานอาหารที่ปลอดภัย ได้ตั้งเป้าหมายว่า เราจะมีร้านอาหารปลอดภัยในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 150 ร้านภายในปี พ.ศ. 2553 โดยจะมีการมอบป้ายรับรองและประชาสัมพันธ์ให้บุคคลทั่วไปได้ทราบด้วย
กิจกรรมของชมรมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เราได้ไปสาธิตการเลือกซื้อวัตถุดิบและการล้างผักด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนต การปรุงผัดไทยให้อร่อยโดยใช้น้ำมันน้อยให้กับพ่อครัวแม่ครัว และเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ ณ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และไปแนะนำวิธีการทำอย่างไรให้ร้านอาหารของเรามีเมนูเพื่อสุขภาพกับที่ประชุมของเครือข่ายร้านอาหาร 8 จัวงหวัดภาคเหนือตอนบนที่จังหวัดเชียงราย และจากนี้ไป “ชมรมเชียงใหม่ร้านอาหารปลอดภัย” จะดำเนินงานในด้านการส่งเสริมให้เกิดร้านอาหารปลอดภัยในเชียงใหม่ เพื่อเป็นต้นแบบแก่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป
ที่มา : วารสารอาหารเชียงใหม่ปลอดภัย วารสารเพื่อคนเชียงใหม่สุขภาพดี ฉบับที่ 14 ประจำเดือน พฤศจิกายน 2552 – กุมภาพันธ์ 255
ผุ้เขียน : พิมพ์วลัญช์ พินธุประภา
update: 01-04-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร
คุณคิดอย่างไรกับการนำเสนอข่าว/บทความนี้
แสดงความคิดเห็น