จัดมหกรรมกีฬาไทยเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา หนุนกาย ใจ อารมณ์ สังคม จิตวิญญาณดี
อากาศช่วงเวลา 07.00 น. ของวันที่ 16 ธันวาคม 2550 กำลังเย็นสบายเหมาะแก่การออกกำลังกายยิ่งนักสร้างความกระฉับกระเฉงแก่ทัพนักกีฬาไทยจากโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงราย และนักกีฬาไทยที่เป็นชาวบ้านจากองค์การบริหารส่วนตำบลของจังหวัดเชียงราย จำนวนประมาณ 1,600 คน ต่างเตรียมตัวลงสนามกันแต่เช้าตรู่ ทุกคนมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสเสียงกองเชียร์แต่ละทีมดังกระหึ่มสนามกีฬาจังหวัดเชียงราย
มนต์ขลังของการแข่งขันกีฬาภูมิปัญญาไทยเริ่มขึ้นโดย อาจารย์วิชิต ชี้เชิญ อาจารย์สถาบันอาศรมศิลป์ และกรรมการแผนงานส่งเสริมการออกกำลังกายตามชนิดกิจกรรมเพื่อสุขภาพ สสส. ประกาศให้นักกีฬาทุกคนเอาข้าวห่อที่เตรียมไว้มาตั้งรวมกันบนโต๊ะกลางสนามเพื่อเป็นของบูชาครูร่วมกับเครื่องบูชาครู อื่น ๆ ที่จัดเตรียมไว้แล้ว และในช่วงพักกลางวันนักกีฬาจะรับประทานข้าวห่อที่ลามาจากการบูชาครูนี้พร้อมกัน จากนั้นทุกคนสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย ระลึกถึงคุณพ่อแม่ ครูอาจารย์ แสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเปล่งวาจา “ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้อง
ความซาบซึ้งปกคลุมทั่วบริเวณเมื่อ นายมังกร หริรักษ์ ที่ปรึกษานโยบายและแผนอาชีวศึกษา ประธานพิธีไหว้ครูมอบแป้งเจิมให้แก่ผู้นำนักกีฬา และครูโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อทำพิธีรับมอบศิษย์ บรรดาศิษย์ต่างเข้าแถวคุกเข่ากราบแทบเท้าให้คุณครูบรรจงเจิมหน้าผากและสวมมงคลสีขาวเหนือศีรษะเพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนแข่งขัน โดยมี คุณหญิงณฐนนท์ ทวีสิน นายกสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และรองศาสตราจารย์ ดร.วีระ สัจกุล อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย
อาจารย์วิชิต บอกว่า กีฬาไทยให้คุณค่าสมบูรณ์ทั้งกาย ใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณของความเป็นไทย ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้เล่นมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์แล้ว ยังเพิ่มพูนสติปัญญา ความเฉลียวฉลาด สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สามารถวางแผนอนาคตได้เป็นอย่างดี และยังมีการอบรมสั่งสอน คุณธรรม จริยธรรม ความกตัญญูรู้คุณ เคารพพ่อแม่ สำนึกและภาคภูมิใจในความเป็นไทย ซื่อสัตย์ รู้คุณแผ่นดิน เคารพครูอาจารย์
กิจกรรมกีฬาไทยประกอบด้วย การวิ่งไทยช่วยไทย เป็นการวิ่งกันทั้งทีม ส่วนใหญ่ทีมละ 200 คน น้อยที่สุดคือ 107 คน มีกติกาคือเมื่อปล่อยตัวนักกีฬาแล้วจะจับเวลานักวิ่งคนสุดท้าย ทีมจะใช้วิธีการใดก็ได้นำนักวิ่งคนสุดท้ายเข้าเส้นชัยให้เร็วที่สุด การเล่นชนิดนี้ฝึกให้สมาชิกในทีมช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีม
การแข่งขันพรมวิเศษ กีฬาชนิดนี้มีผู้เล่น 9 คน มี 2 คนช่วยกันดึงกระสอบที่มีเพื่อน ๆ ในทีมอยู่ด้านบน นักกีฬาต้องพร้อมใจกันดึงกระสอบให้เคลื่อนที่ไปถึงเส้นชัยโดยใช้เวลาน้อยที่สุด กีฬาชนิดนี้ฝึกความพร้อมเพรียง และการทำงานเป็นทีม
การแข่งขันกระโดดเชือกหมู่ กีฬาชนิดนี้ใช้นักกีฬาทีมละ 20 คน โดยนักกีฬา 2 คนคอยแกว่งเชือกนักกีฬาในทีมแต่ละคนทยอยกันออกมากระโดดเชือกตามแรงเหวียงโดยไม่ให้สะดุดเชือก ทีมใดมีผู้เข้ากระโดดเชือกได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ กีฬาชนิดนี้ฝึกความพร้อมเพรียงและการร่วมแรงร่วมใจกันจึงจะประสบความสำเร็จ
กีฬาที่เป็นไฮไลท์ของงาน คือการแข่งขันวิ่งชิงธงหรือวิ่งวัวคน ใช้นักกีฬาทีมละ 60 คน การแข่งขันแบ่งเป็น 2 ทีม มีกติกาว่านักกีฬาจะต้องจับมือกันไว้ให้มั่นห้ามหลุดแยกจากกัน ผู้นำทีมใดสามารถคว้าธงที่เส้นชัยได้ก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ กีฬาชนิดนี้ฝึกให้นักกีฬาช่วยเหลือกัน การทำงานเป็นทีม การร่วมแรงร่วมใจกัน
งานมหกรรมกีฬาภูมิปัญญาไทยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ ในการพระราชทานถ้วยรางวัลให้แก่ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันทุกทีมโดยเรียงลำดับตามคะแนนรวม ทีมแรกที่ครองถ้วยพระราชทานได้แก่โรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา แต่ละทีมที่เข้าร่วมแข่งขันจะได้ครองถ้วยทีมละ 33 วัน เมื่อถ้วยรางวัลอยู่ที่โรงเรียนใด โรงเรียนนั้นจะฉลองถ้วยด้วยการเล่นกีฬาไทยในโรงเรียนทุกวัน
การจัดงานครั้งนี้สถาบันอาศรมศิลป์ ได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายและสมาคมกีฬาจังหวัดเชียงราย โดยการสนับสนุนทุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้โครงการ”การส่งเสริมการออกกำลังกายด้วยกีฬาภูมิปัญญาไทย” จัดให้มีกิจกรรมการแข่งขันกีฬาภูมิปัญญาไทยใน 4 ภาค ได้แก่ ภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา ภาคกลางที่จังหวัดกาญจนบุรี ภาคตะวันออกที่จังหวัดปราจีนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จังหวัดนครราชสีมา และภาคเหนือที่ จังหวัดเชียงราย ทุกคนที่ได้เข้าร่วมต่างมีความพอใจ สังเกตจากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอย่างสนุกสนาน และภาคภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภาพประกอบ : www.thaihealth.or.th
Update 20-12-50
คุณคิดอย่างไรกับการนำเสนอข่าว/บทความนี้
แสดงความคิดเห็น