จุดเล็กๆ ย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่
ไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่แน่ใจ และเดาไม่ถูกเหมือนกันว่าเหตุการณ์บ้านเมืองนับจากวันพรุ่งนี้เป็นต้นไปจะเป็นอย่างไร...ออกมาในรูปไหน
แต่ที่เชื่อได้ และค่อนข้างแน่ใจ คือ การนัดหมายของกลุ่มผู้รักประชาธิปไตยในครั้งนี้ จะไม่มีชาวบ้านในชุมชนและสมาชิกของเครือข่ายอินแปง ทิ้งถิ่นร่วมแห่แหนไปชุมนุมกลางเมืองหลวงด้วย

ไม่ใช่เพราะเครือข่ายอินแปงที่มีศูนย์ตั้งที่บ้านบัว ตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร โดยมีสมาชิกกระจัดกระจายอยู่ 5 จังหวัด 87 ตำบล แถบเทือกเขาภูพานในอุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธิ์ และมุกดาหาร เป็นคนเสื้อเหลือหรือเสื้อน้ำเงินนะครับ ทว่า...พวกเขามีวิถีชีวิตและวิธีคิดที่เป็นตัวของตัวเอง มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ อิสระต่างหากล่ะ
ชาวบ้านอินแปงเชื่อว่า "ภูมิปัญญาน้ำหน้า เงินจะมาตามหลัง"
ชื่อเสียงของ "อินแปง" คือการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และมีกินตลอดชีวิต
เพราะเขาเชื่อมั่นว่า สังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมที่มีความสุข เพราะสามารถกำหนดชีวิต มีความเป็นอิสระ เกื้อหนุน และเคารพธรรมชาติ อันเป็นแรงบันดาลใจตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
การไม่หวังพึ่งพาใคร การไม่คิดรอความช่วยเหลือจากคนอื่นและการไม่เคยแบมือขอใครก่อนที่จะลงมือทำด้วยตัวเองนี่เอง ที่ให้ผมคิดว่า ชาวเครือข่ายอินแปงไม่รู้สึกว่าติดหนี้บุญคุณ "คนนอก" หรือระบอบประชานิยม จนต้องออกจากบ้านไปทวงความเป็นธรรม
จู่ ๆ ผมทำไมจึงนึกไปถึงอินแปง?!? การันตีเป็นตุเป็นตะน้ำไหลไฟดับ โยงใยระหว่างอินแปงกับม็อบเสื้อแดง
อย่างนี้ต้องเฉลย....................
เป็นความโชคดีครับ ที่ผมได้ร่วมในขบวนของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่นำพาคณะที่ปรึกษาเพื่อส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ ไปทัศนศึกษา แลกเปลี่ยน เรียนรู้ เพื่อการดำเนินงาน ภายใต้โครงการ "เมืองไทยหัวใจมนุษย์" และโครงการ "ส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ" เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่สกลนครและอุดรธานี โดยมีคุณหมอมงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้นำทีม
โอกาสนี้มีการตั้งวงเสวนาที่ชุมชนอินแปงในหัวข้อ "เหลียวหลัง แลหน้า "อินแปง"
ทำให้รับรู้และเข้าใจว่า ชุมชนไหนมีสุขภาวะที่ดี มีความสามารถเข้มแข็ง มีการจัดการ มีความเป็นตัวของตัวเอง มีความหวังในการดำรงอยู่ ชุมชนนั้นย่อมมีอิสระในความคิด และไม่ตกเป็น "เหยื่อ" ของใครง่ายๆ
เหลียวหลังไปในอดีต ชุมชนอินแปงมิได้แตกต่างจากชาวอีสานท้องถิ่นทั่วไป ที่ต้องหลังสู้ฟ้าหน้าสู้แดดเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพแต่บังเอิญที่บ้านบัวมี "ผู้เฒ่า" ที่เป็นผู้นำที่ดี ช่วยกันคิดช่วยกันใช้ประสบการณ์สร้างเป็นบทเรียนจากชีวิต กระตุ้นให้คนในชุมชนได้ช่วยกันคิดว่า เรามี "ต้นทุนชีวิต" จากป่าภูพานที่อุดมสมบูรณ์ จากน้ำจากฟ้า จะมีวิธีการอย่างไรที่จะใช้ทุนชีวิตนี้อย่างมีความสุขและยั่งยืน
ปราชญ์ชาวบ้าน ที่ระดมสมองคนในชุมชน และสร้างองค์ความรู้ "ปฏิรูป" การใช้ชีวิตของตนเอง จากไร้รากปราศจากแก่นกลายเป็นรูปแบบหรือโมเดลที่นำเอาการสำรวจวิจัย มาใช้กับภูมิปัญญาชาวบ้านนี้เอง ทำให้เกิดโครงการต่างๆ ในกลุ่มอินแปง อาทิ การยกป่าภูพานมาไว้ในสวนหลังบ้าน ขยายสู่การผลิตสินค้าและยาสมุนไพร โดยทุกคนอยู่อย่างเคารพธรรมชาติ แตกต่างจากการใช้ชีวิตดั้งเดิมที่ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติใกล้ตัวเพื่อแลกกับเงิน โดยมองข้ามปัญหาการทดแทน
วันนี้อินแปงจากชุมชนเล็กๆ ที่รวมตัวกันเป็นจุ้มๆ (รู้จากงานนี้ว่า "จุ้ม" เป็นศัพท์พื้นบ้าน แปลว่า การรวมตัวของคนไม่เกิน 3 คนเล็กกว่ากลุ่มที่จะมี 5 คนขึ้นไป) กลับกลายเป็นชุมชนเข้มแข็งตัวอย่าง เป็นมหาวิทยาลัยชีวิต สถาบันการเรียนรู้ของปวงชน เพราะผู้มีปัญญาสร้างคน คนสร้างเครือข่าย และเครือข่ายก็สร้างสังคมชุมชนเกษตรกรรมพอเพียง
เมื่อสังคมหรือชุมชนไหน รู้จักการใช้ชีวิตที่พอเพียง ก็คงไม่คิดที่จะดิ้นรนออกไปเป็น "เหยื่อ" บนถนนการเมืองของใครอย่างแน่นอน หากพิเคราะห์ด้วยความเป็นอิสระแล้วว่า การต่อสู้เรียกร้องที่เป็นอยู่นั้น มิได้ยังประโยชน์โดยรวม
ผมปรบมือดังๆ ให้กับชุมชนอินแปงหลายครั้ง ในเวทีเสวนาดังกล่าว โดยเฉพาะคำถามของคุณหมอมงคลที่อยากรู้ว่า อินแปงรู้สึกแปลกแยกแตกต่างจากคนทั่วไปไหมที่อยากได้ใคร่มีเงินทองไปซื้อรถเครื่อง มือถือ หรือปัจจัยอื่นๆ ที่กำลังอินเทรนด์
ทุกคนในอินแปงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การรู้จักตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ของเก่าที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายให้มา หากเราไม่รู้จักให้ถ่องแท้ก่อน เราะจะไปรับของใหม่มาทำไม ของใหม่มีประโยชน์แน่แต่ถ้าใช้อย่างไม่มีสติ ก็อาจจะทำให้เป็นหนี้เป็นสิน ดังนั้น ข้างหน้าของอินแปงคือการสืบสานทายาท ชนรุ่นหลังให้ดำเนินการตามวิถีอยู่อย่างพอเพียง และมีศักดิ์ศรีที่น่าภาคภูมิใจ เพราะมหาวิทยาลัยที่ดีคงจะดำเนินต่อไปไม่ได้ หรือขาดความยั่งยืน หากมไมการรับไม้วิ่งต่อไปในเส้นทางที่คนรุ่นเก่าได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเส้นทางแห่งความสุขและยั่งยืน
โมเดลอินแปง..ผมว่าไม่จำกัดอยู่แค่ชุมชนเกษตรกรรมหรอกครับ หากเราจะรู้จักประยุกต์กับการดำรงชีวิต
เพราะหลักปรัชญาของอินแปงคือ ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดีที่สุดและเพิ่มมูลค่า ก่อนที่จะดิ้นรนออกไปหาข้างนอกไกลตัวเอง
การปฏิรูปใด ๆ หากเริ่มจากตัวเอง จุดเล็กๆ ย่อมจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่หรือระลอกคลื่นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เป็นครอบครัวชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภูมิภาค และทั้งประเทศในที่สุด เหมือนกับความพยายามขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่พยายามผลักดันให้มีจังหวัดที่น่าอยู่ แม้กระทั่งเครือข่ายการปฏิรูปประเทศไทย ก็คาดหวังจะหาทางทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกเหมือนกัน
จากวันนี้ไป ผมขอแนะนำว่า อย่าไปถามหาการปฏิรูปจากรัฐบาล หรือใครเลยครับ แต่ลองถามตัวเองก่อนว่า
พร้อมที่จะปฏิรูปตัวเองให้มีชีวิตที่ดีกว่า มีสุขภาวะทั้งกายและใจหรือยัง!
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
Update 26-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์
แสดงความคิดเห็น