เสริมสุขภาพวัยทองพร้อมสู่ “สังคมผู้สูงอายุ”
ข้อมูลจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ(unfpa) ระบุว่านับจากนี้ไปโลกกำลังจะเต็มไปด้วย “ผู้สูงอายุ” โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา จากการสำรวจสถิติประชากรโลกพบว่าประชากร 1 ใน 10 เป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ นั่นหมายความว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (ageing society) อย่างรวดเร็ว
สำหรับประเทศไทยพบว่าในปี 2513 มีผู้สูงอายุร้อยละ 4.5 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.5 ในปี 2543 สถิติล่าสุดในปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11.8 หรือ 7.5 ล้านคน ทำให้มีคาดการณ์กันว่าในปี 2563 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากถึงร้อยละ 15.28 ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาความเสื่อมถอยของสมรรถนะของร่างกายจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ “อาหาร” ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยเสริมสร้าง ซ่อมแซม ต้านทาน หรือลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ
ด้วยเหตุนี้นักคณะนักวิชาการ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ จึงได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนา “ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มวัยทองและวัยสูงอายุ” โดยนำพืชผักและผลไม้ในท้องถิ่นที่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ มาพัฒนาเป็นสูตรอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่เหมาะสมกับวัย โดยมีจุดเด่นที่กระบวนการ “เพาะงอก” ธัญพืชชนิดต่างๆ เพื่อสร้างคุณค่าอาหารเสริม เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางพนอจิต นิติสุข หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารฯ เปิดเผยว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในเรื่องของการรับประทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะก่อนที่จะเข้าสู่วัยทอง ฮอร์โมนต่างๆ จะผลิตน้อยลง อวัยวะต่างๆ เริ่มทรุดโทรม แคลเซียมจะถูกดูดซึมและสลายไป โรคกระดูกพรุน มะเร็ง เบาหวาน และโรคระบบทางเดินอาหารจึงพบได้บ่อยมากในผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน
“ถ้าหากผู้สูงอายุมีความรู้ว่าอาหารจำพวกไหนสามารถไปซ่อมแซมสร้างเสริมร่างกายได้ เขาควรรับประทานก่อนที่จะแก่ตัว ประกอบกับทำงานวิจัยเรื่องถั่วเพาะงอกและข้าวกล้องงอก ซึ่งข้าวและถั่วเพาะงอกจะดีกับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องย่อยอาหารยาก เพราะถูกเปลี่ยนสภาพทำให้ย่อยง่าย และการเพาะงอกทำให้มีสารอาหารเพิ่มขึ้นสูงมาก จึงเป็นโจทย์ให้ทีมงานคิดค้นอาหารเช้าและเครื่องดื่ม ที่ชาวบ้านสามารถทำได้ง่ายๆ หาวัตถุดิบได้จากในท้องถิ่น เช่นข้าวกล้อง ข้าวเหนียว ข้าวเหนียวดำ ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง งาดำ ซึ่งถ้าหากเขาเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยทองโดยการรับประทานอาหารในกลุ่มนี้ ซึ่งจะสร้างความแข็งแรงเตรียมความพร้อมให้ร่างกายได้” นางพนอจิตระบุ
คณะผู้วิจัยได้พัฒนาอาหารสำหรับผู้สูงอายุไว้ 2 เมนูคือ “โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป และเครื่องดื่มธัญพืชเพาะงอก” ที่มีจุดเด่นคือการนำเมล็ดธัญพืชชนิดต่างๆ ไปผ่านกระบวนการเพาะงอกเพื่อเพิ่มสารอาหารที่สำคัญและมีคุณประโยชน์ต่อรายกาย อาทิ “สารกาบา” และ “สารต้านอนุมูลอิสระ” ในข้าวกล้องเพาะงอกที่มีผลต่อฮอร์โมน ระบบประสาท การเผาผลาญไขมันในร่างกาย รวมไปถึงโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ จากถั่วเพาะงอกที่ร่างกายสามารถย่อยและดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายกว่า
นางสาวหนูเดือน สาระบุตร อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารฯ และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า นอกจากงานวิจัยในห้องทดลองแล้ว สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน โดยร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ และ สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ จัดการอบรมให้ความรู้และคำแนะนำในการดูแลตนเอง รวมถึงการผลิตอาหารที่เหมาะสม ให้กับกลุ่มเป้าหมายวัยทองและผู้สูงอายุในพื้นที่อำเภอยางตลาด และอำเภอกุฉินารายณ์ รวมกว่า 300 คน โดยเน้นการใช้วัตถุดิบที่ปลูกได้ในท้องถิ่นที่มีราคาถูก และมีวิธีการปรุงหรือเตรียมการผลิตที่ไม่ยุ่งยากสามารถทำได้ในครัวเรือน
“ปัญหาที่ชาวบ้านกังวลคือเรื่องของการเพาะงอก ซึ่งก็อธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ ว่าใช้การสังเกตดู คือนำข้าวหรือเมล็ดถั่วแช่น้ำห่อผ้าขาวบางใส่ในถุงดำกะเวลานับชั่วโมงไป หมั่นคอยเปลี่ยนน้ำ แล้วก็คอยดูติ่งในส่วนที่เป็นเจิมของข้าวว่ามีการงอกออกมานิดหนึ่งก็เป็นอันใช้ได้ ชาวบ้านก็เข้าใจเพราะเหมือนกับการนำข้าวเปลือกไปแช่น้ำเพื่อเพาะกล้า พอเพาะงอกทุกอย่างแล้วก็เอาทุกอย่างมาปั่นรวมกัน เสร็จแล้วก็นำไปต้ม ง่ายเหมือนทำข้าวต้ม แต่แตกต่างตรงที่เราจะเอาวัตถุดิบทุกอย่างไปทำให้งอกก่อน ซึ่งการทำโจ๊กและเครื่องดื่มธัญพืชในลักษณะต้มสดมีข้อดีคือ ทำง่าย สะดวก วัตถุดิบหาได้ในท้องถิ่น ใช้ระยะเวลาสั้นในการปรุง ทำให้มีคุณค่าทางอาหารและโภชนาการค่อนข้างสูง เพราะไม่ได้ผ่านความร้อนนาน และยังได้คุณค่าทางอาหารเพิ่มจากส่วนหรือกระบวนการเพาะงอก อย่างข้าวก็ได้สารกาบา หรือข้าวเหนียวดำก็จะได้พวกสารสีแดงที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ” อาจารย์หนูเดือนระบุ
งานวิจัยและพัฒนาชิ้นนี้ทางคณะทำงานกล่าวว่าไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในเชิงพาณิชย์ แต่เน้นไปที่การถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้สู่ชุมชนให้เกิดการนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง ซึ่งทีมวิจัยมีแนวคิดที่จะต่อยอดออกไปในเชิงลึกเพื่อให้เห็นถึงคุณค่าและสารอาหารต่างๆ ในผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตขึ้นมา
“งานวิจัยชิ้นนี้เราตั้งใจที่จะต่อยอดด้วยทำงานวิจัยในเชิงลึกเพื่อตรวจหาสารสำคัญหลังการผ่านกระบวนการทำให้แห้ง เช่นเมื่อเติมน้ำร้อนลงในถ้วย แล้วต้องตอบได้ว่าโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปซองนี้ ปริมาณเท่านี้ มีสารสำคัญอยู่เท่าไหร่ และอาจจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของ ถั่วชนิดต่างๆ ที่ต่างสีต่างสายพันธุ์ จะให้สารสำคัญต่างกันหรือไม่ รวมไปถึงการนำเนื้อสัตว์หรืออาหารทะเลเข้ามาใส่ นี่คือสิ่งที่ทางทีมงานอยากจะขยายผลต่อไป” อาจารย์พนอจิตกล่าวถึงแนวทางการวิจัยในอนาคต
ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มวัยทองและวัยสูงอายุ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้กลุ่มผู้สูงวัย ได้มีความรู้ความเข้าใจ และเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคที่พบได้ในกลุ่มผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี
ที่มา : สำนักข่าว สสส.
update: 24-06-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: คีตฌาณ์ ลอยเลิศ
คุณคิดอย่างไรกับการนำเสนอข่าว/บทความนี้
แสดงความคิดเห็น