ขยับแล้ว! แฮปปี้ เวิร์กเพลสในองค์กรรัฐ ร่วมปั้น "นักสร้างสุของค์กร"
เริ่มแล้วอย่างเป็นทางการ สำหรับการสร้างสุขในที่ทำงาน หรือ แฮปปี้ เวิร์กเพลส ในภาคราชการ ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) จับมือกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ และ ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดคอร์สฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร "นักสร้างสุของค์กร (นสอ.)" ครั้งที่ 1 เมื่อเร็วๆ นี้
โดย 16 องค์กรภาคราชการ ได้แก่ราชบัณฑิตยสถาน, กรมชลประทาน, กรมราชทัณฑ์, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, กรมสุขภาพจิต, สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม, สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ, สำนักงานปลัด กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, กรมประมง, สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และกรมทรัพยากรธรณี ให้การตอบรับด้วยดี ส่งบุคลากรระดับหัวหน้างานพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานตบเท้าเข้าร่วมอบรมด้วยความเต็มใจ
ส่วนสาเหตุใหญ่ที่แฮปปี้ เวิร์กเพลสต้องเบนเข็มมาช่วยสร้างสุขให้ข้าราชการ เป็นเพราะปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ภายใต้บริบทการทำงานในระบบข้าราชการที่เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงข้อจำกัดเรื่องจำนวนบุคลากรที่ลดน้อยลง ในขณะที่เนื้องานมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนต้องคำนึงถึงความประหยัด คุ้มค่า ลดต้นทุนให้มากที่สุด แต่ต้องมีประสิทธิภาพและตอบสนองความพึงพอใจแก่ผู้รับบริจาครัฐอย่างสูงสุด "เหล่านี้ล้วนมีผลต่อคุณภาพชีวิตของบุคลากรในหน่วยงาน อันเป็นทรัพยากรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนพันธกิจตามนโยบายขององค์กรให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ฉะนั้นการสร้างที่ทำงานให้มีสุขมีบรรยากาศที่ดี ตลอดจนสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากร จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญ" ดร.ศิริเชษฐ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการนักสร้างสุของค์กรให้เหตุผล
ด้าน นพ.ชาญวิทย์ กล่าวถึงหลักสูตร "นักสร้างสุของค์กร (นสอ.)" ในข้าราชการไว้ว่า สิบกว่าปีที่ทำงานเรื่องแฮปปี้ เวิร์กเพลสในภาคเอกชนเขาสะท้อนให้เห็นเลยว่าองค์กรที่ดีควรประกอบด้วย เพื่อนร่วมงานดีนายดี คุณภาพชีวิตที่ดี และต้องดูแลรวมไปถึงครอบครัวของพนักงานด้วยและสำคัญคือรู้ว่าใครเป็นนายจะได้จัดลำดับความสำคัญของงานถูก จึงเป็นเรื่องดีที่เราจะนำตัวอย่างที่เคยมีมาปรับใช้กับระบบข้าราชการ ที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องนายเยอะ ทำให้ข้าราชการทำงานไม่ถูกว่าอะไรควรทำก่อนทำหลัง หรือมีงานโหลดมากเกินไป
นพ.ชาญวิทย์ กล่าวต่อว่าอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ที่เราจะใส่ลงไปในหลักสูตรนักสร้างสุของค์กร คือทำให้ภาพแห่งความภาคภูมิใจที่ได้เป็นข้าราชการกลับคืนมา ให้เขาได้รู้สึกว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพเพื่อสังคม ทำเพื่อคนเป็นแสนเป็นล้าน เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งถ้าข้าราชการไม่ทำประเทศก็เขยื้อนไม่ได้
"หลักการผลิตนักสร้างสุของค์กรเราจะเน้นการเรียนรู้ร่วมกันเป็นสำคัญโดยให้กองการเจ้าหน้าที่ของแต่ละองค์กร ที่มีประสบการณ์ด้านงานพัฒนาคนมาแชร์องค์ความรู้แลกเปลี่ยนส่วนองค์ความรู้เรื่องแฮปปี้ เวิร์กเพลส ที่ทาง สสส.ได้ทำมา จะไว้ใช้เสริมเป็นคู่ขนานกับสิ่งที่ ก.พ. และก.พ.ร. มีอยู่แล้ว คาดว่าในช่วง 2 ปีแรก จะวางเป้าสร้างหน่วยงานราชการต้นแบบในเรื่องนี้ให้ได้ 20-30 องค์กร และวางแผนกันให้ชัดว่า ต่อจากนี้อีก 5 ปี อีก 10 ปี หรือ อีก 20-30 ปีข้างหน้า ประเทศของเราต้องการข้าราชการแบบไหน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากสำเร็จเห็นผลจริงระบบข้าราชการไทยจะดีขึ้น ทั้งเรื่องประสิทธิภาพ วิธีคิด การบริหาร และผลลัพธ์ที่ได้ก็คือธรรมาภิบาลในการจัดการ ที่เชื่อมโยงไปยังกระบวนคอรัปชั่นที่จะค่อยๆ หมดไปและโปร่งใสมากขึ้น" ต้นน้ำแฮปปี้ เวิร์กเพลสในประเทศไทยแจง
หัวหน้าโครงการนักสร้างสุของค์กรภาครัฐ ดร.ศิริเชษฐ์ กล่าวเสริมว่า เรื่องที่เรามุ่งหวังไว้ต้องอาศัยเวลา และการร่วมมือร่วมใจทำอย่างจริงจัง เพราะการปรับความคิดปรับโครงสร้างผลักดันให้ใช้นโยบายใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ให้คำมั่นไว้ว่าภายใน 10 ปีนี้ เราต้องทำให้ได้
"หลังจากโครงการอบรมนักสร้างสุของค์กรที่ตั้งเป้าไว้ที่ 400 คน สิ้นสุดลงเราจะนำเอาเวทีความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์นี้มาถอดบทเรียนให้ส่วนราชการนำไปใช้กฎระเบียบอะไรที่ติดขัดก็ต้องสะท้อนให้รัฐได้รับรู้และหาทางยืดหยุ่น ก่อนสร้างเป็นภาคีเครือข่ายแฮปปี้ เวิร์กเพลสอย่างมีคุณภาพในส่วนราชการที่ผ่านมาเรื่องสร้างสุขในองค์กรของรัฐไม่ค่อยยั่งยืนก็เพราะ ไม่มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เมื่อมีการโยกย้ายสิ่งที่คิดสร้างไว้ก็ล้มหากนายคนใหม่ไม่เห็นความสำคัญ"
อย่างไรก็ดี ดร.ศิริเชษฐ์ ยังบอกด้วยว่าไม่ใช่แค่การอบรมและถอดบทเรียน ขณะที่ภาครัฐนำองค์ความรู้เรื่องแฮปปี้ เวิร์กเพลสไปใช้ ทางโครงการฯ ก็จะมีนักนิเทศน์เข้าไปติดตามให้ความรู้เผื่อมีอะไรขลุกขลัก แถมยังมีคลินิกพิเศษช่วยให้ความรู้ในเรื่องแฮปปี้ 8 แก่หน่วยงานที่สนใจด้วย
"เราไม่หยุดแค่เพียงเท่านี้ เพราะความตั้งใจที่แท้จริงอยากแอดวานซ์ให้แต่ละหน่วยของภาครัฐ ที่มีอยู่ 100 กว่ากรม ใน 20 กระทรวง เดินไปถึงการสร้างรูปแบบองค์กรแห่งความสุขเฉพาะของตนเอง รวมถึงการสร้างแบบนักประเมินของตนเอง ซึ่งแท้จริง นสอ. ก็เปรียบได้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่ไม่ได้ทำงานในภาพรวมทั้งหมด แต่สร้างขึ้นมาเพื่อดูงานเฉพาะในองค์กรของตนเอง" ดร.ศิริเชษฐ์ทิ้งท้าย
หากแนวคิด "นักสร้างสุของค์กร" สามารถสร้างความสุขให้คนข้าราชการ และปฏิวัติระบบการทำงานให้มีศักยภาพได้แท้จริง ...เชื่อว่าคนไทยคงยิ้มได้กว้างกว่าที่เคย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
คุณคิดอย่างไรกับการนำเสนอข่าว/บทความนี้
แสดงความคิดเห็น