โดย kai
|วันที่ 07 ธันวาคม 2564
|อ่าน : 679
ในงานครบ 20 ปีในเดือนเกิด สสส. ที่เพิ่งผ่านมา ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บรรยายถึงแนวโน้มใหญ่ของการเปลี่ยนโลกในทศวรรษหน้าที่จะส่งผลสำคัญต่อสุขภาวะคนไทยใน 3 เรื่องใหญ่ คือ สังคมอายุยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนวัตกรรมเปลี่ยนโลก
สำหรับ "สังคมอายุยืน" นับเป็นเรื่องที่ประเทศไทยเริ่มเตรียมรับมือมานานแล้วตั้งแต่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ใน พ.ศ.2564 ที่มีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุร้อยละ 20 ความท้าทายสำคัญคือการที่ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จะเพิ่มสูงขึ้น เป็นภาระหนักทางสาธารณสุขที่ต้องหาวิธีแก้ไขอย่างเป็นระบบ
หนึ่งในกลุ่มปัญหาสุขภาพนี้ ก็คือการที่ผู้สูงอายุจะมีสุขภาพช่องปากที่ไม่ดีพอที่จะช่วยทำให้สุขภาพโดยรวมไม่เสื่อมถอยลงมากเกินสมควร มีการศึกษาพบว่า สุขภาพช่องปากมีความสัมพันธ์กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยการมีปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน เช่น เบาหวาน ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดกับโรคปริทันต์ หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน สภาวะในช่องปากที่มีปัญหาและการสูญเสียฟันมีความสัมพันธ์กับภาวะทุพโภชนาการและการมีน้ำหนักลดลง ภาวะสุขภาพจิตสัมพันธ์กับภาพลักษณ์จากสุขภาพช่องปาก ที่สำคัญหากเกิดการติดเชื้อในช่องปากจะทำให้เกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง การติดเชื้อในช่องปากยังนำไปสู่สาเหตุการเสียชีวิตด้วยปอดอักเสบจากการสำลักได้อีก
การวิเคราะห์ผลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ.2560 พบว่า ประชากรไทยยังมีสัดส่วนการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากที่ไม่มากนัก และไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควรในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และยังมีปัญหาความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการมากที่สุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีเศรษฐานะต่ำ และผู้ไม่มีสิทธิสวัสดิการ ผู้สูงอายุมีการสูญเสียฟันทั้งปากและบางส่วน พบผู้สูงอายุวัยตัน (60-70 ปี) มีฟันธรรมชาติเหลือใช้งานอย่างน้อย 20 ซี่ เพียงร้อยละ 54 และลดลงเป็นร้อยละ 22.4 เมื่ออยู่ในวัย 80-85 ปี
ทางมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) โดยการสนับสนุนของ สสส. ร่วมกับสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัยองค์กรวิชาชีพด้านทันตกรรม และองค์กรในภาคส่วนต่าง ๆ รวม 26 องค์กร จึงได้จัดให้มีการรณรงค์นโยบาย "80 ปี ฟันดี 20 ซี่ เติมเต็มคุณภาพชีวิต" เพื่อจุดประเด็นทางสังคมให้เห็นความสำคัญของการมีสุขภาพฟันดีและคงเหลือใช้งานได้อย่างยาวนานอย่างน้อย 20 ซี่ แม้ในวัย 80 ปี โดยใช้งานวิชาการนำเสนอมาตรการต่าง ๆ มารองรับการขับเคลื่อนเป้าหมายนี้อย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ สสส. ยังจะได้จับตาสถานการณ์ทางสุขภาพ พร้อมรายงานสรุปถึงสิ่งที่ประชาชนจะต้องรับมือและเตรียมความพร้อมในรายงาน ThaiHealth Watch ซึ่งจะพร้อมเผยแพร่ในเดือนธันวาคมนี้ โดยมีทั้งผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ และเหตุการณ์ที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ทางสุขภาวะได้
ในปีใหม่ที่จะถึงนี้ สสส. ยังคงเป็นกลไกของบ้านเมืองนี้ ที่จะยังเดินหน้าสานพลังทุกภาคส่วน มาร่วมกันสร้างหนทางใหม่ ๆ ที่จะนำพาผู้คนบนแผ่นดินไทยให้มีวิถีชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่สุขภาวะกาย จิต ปัญญา และสังคมที่ดีต่อไป
แสดงความคิดเห็น