9 เมืองที่พ่อสร้าง ก้าวย่างที่ลูกตาม
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
คัด "9 เมืองเด่น" จาก 73 พื้นที่นำร่อง บอกเล่าสิ่งที่ "ต่อยอด" หลังจาก "ในหลวงรัชกาลที่ 9" ทรงวางรากฐานไว้ สู่โครงการ 9 เมืองที่พ่อสร้าง ก้าวย่างที่ลูกตาม
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช "ในหลวงรัชกาลที่ 9" พระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่เคารพรักยิ่งของปวงชนชาวไทย ซึ่งภาพหนึ่งที่คนไทยคุ้นชิน คือ พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปยังชนบท ห่างไกล เพื่อเยี่ยมประชาชน แม้บางพื้นที่การเดินทาง จะยากลำบากก็ตาม ก่อเกิดเป็นหลากหลาย "โครงการในพระราชดำริ" เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎร โดยเฉพาะในถิ่น "ทุรกันดาร" จนมี คำกล่าวว่า "ไม่มีพื้นที่ใดของแผ่นดินไทย ที่พระราชา พระองค์นี้จะเสด็จฯไปไม่ถึง"
แม้วันนี้ "พ่อหลวง" จะเสด็จสวรรคตแล้ว แต่ "งานของพ่อ" จะยังมีผู้คนอีกมากมายร่วม "สานต่อ" ดังตัวอย่างจาก…"9 เมืองที่พ่อสร้าง ก้าวย่างที่ลูกตาม" โครงการที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ได้คัด "9 เมืองเด่น" จาก 73 พื้นที่นำร่อง ร่วมบอกเล่าถึงสิ่งที่ร่วมกัน "ต่อยอด" หลังจากพระองค์ท่านไว้ทรงวางรากฐานไว้ ประกอบด้วย 1.อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี สานต่อโครงการพระราชดำริและการสร้างเสริมสุขภาพกลุ่มเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผ่านนวัตกรรมโบแดงแสลงใจ 2.อ.ปัว จ.น่านอดีตพื้นที่สีแดงที่พ่อได้พัฒนาโดยเล็งเห็นความสำคัญของผืนป่าและต้นน้ำ นำสู่การสานต่ออนุรักษ์น้ำและป่าไม้ ลดการใช้สารพิษในสิ่งแวดล้อม และป้องกันผู้ป่วยโรคมะเร็ง
3.อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร เครือข่ายภาคประชาชนที่จับมือร่วมกับท้องถิ่นและระบบสุขภาพ 4.อ.แก่งคอย จ.สระบุรี การทำงานที่เชื่อมโยงของภาคประชาชน ท้องถิ่น และระบบสุขภาพในการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน 5.อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูนการหลอมรวมวัฒนธรรมท้องถิ่นในการดูแลสุภาพ 6.อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ กับเป้าหมายการทำงานเพื่อเตรียมคนให้มีคุณภาพ
7.อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กับการตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงที่ส่งผลต่อสุขภาพในชุมชน 8.อ.นาทวี จ.สงขลา กับระบบจัดการช่วยเหลือและดูแลผู้พิการ และ 9.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส กับ เครือข่ายการทำงานสังคมคนพิการที่ไม่ทอดทิ้งกัน โดยดึงพลังของชุมชนเข้าร่วมที่ส่งผลต่อสถานการณ์ความสงบในพื้นที่
สำหรับ "นราธิวาส" 1 ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกระบุในฐานะ "พื้นที่สีแดง" มีเหตุความไม่สงบเป็นระยะๆตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นอีกจังหวัด "ยากจน" ประชาชนทำการเกษตรได้ผลผลิตน้อย เนื่องจากปัญหา "ดินเปรี้ยว" ดังที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อ 24 ส.ค. 2524 ความตอนหนึ่งว่า… ".ด้วยพื้นที่จำนวนมากในจังหวัดนราธิวาส เป็นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำขังตลอดปี ดินมีคุณภาพต่ำ ซึ่งพื้นที่ ทั้งหมดประมาณสามแสนไร่ เกษตรกรจำนวนมากไม่มีที่ทำกิน แม้เมื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่หมดแล้วยังยากที่จะใช้ประโยชน์ทางการเกษตรให้ได้ผล ทั้งนี้ เนื่องจากดินมีสารประกอบไพไรท์ ทำให้มีกรดกำมะถัน เมื่อ ดินแห้งทำให้ดินเปรี้ยว ควรปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ดังนั้นเห็นสมควรที่จะมีการปรับปรุงพัฒนา โดยให้มีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุร่วมกัน แบบผสมผสานและนำผลสำเร็จของโครงการไปเป็นแบบอย่างในการที่จะพัฒนาพื้นที่ดินพรุ ในโอกาสต่อไป…"
จากพระราชดำรัสนี้ เกิดเป็นโครงการ "แกล้งดิน" หมายถึงเร่งให้ดิน "คายกรด" ออกมา อย่างรุนแรงที่สุด แล้วจึงใช้วิธีต่างๆ ปรับปรุงดินจากสภาพเป็นกรดให้กลายเป็นกลาง จนสามารถปลูกพืช โดยเฉพาะ "ข้าว" ได้มากขึ้น โดยปี 2535 เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนิน ณ บ้านโคกอิฐ-โคกใน อ.ตากใบ และทรงมีรับสั่งว่า…"..เราเคยมาโคกอิฐโคกใน มาดูเขาชี้ตรงนั้นๆ เขาทำ แต่ว่าเขาได้เพียง 5 ถึง 10 ถัง แต่ตอนนี้ได้ขึ้นไปถึง 40-50 ถัง ก็ใช้ได้แล้ว เพราะว่าทำให้เปรี้ยวเต็มที่แล้ว โดยที่ขุดอะไรๆ ทำให้เปรี้ยวแล้วก็ระบาย รู้สึกว่านับวันเขาจะดีขึ้น อันนี้สิเป็นชัยชนะที่ดีใจมาก ที่ใช้งานได้แล้ว ชาวบ้านเขาก็ดีขึ้น แต่ก่อนชาวบ้านเขาต้องซื้อข้าว เดี๋ยวนี้เขามีข้าวอาจจะขายได้…"
"นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตากใบ กล่าวว่า ในการสานต่อ "ตามรอยพ่อหลวง" จึงเชื่อมโยงการทำงานที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเน้นที่ "คนพิการ-ผู้สูงอายุ"อันเป็นกลุ่มประชากรชายขอบด้อยโอกาส เกิดการทำงานภายใต้หลักคิด "ไม่ทอดทิ้งกัน" เชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น สาธารณสุข และภาคประชาชน แบ่งหน้าที่กัน อบต. กับชุมชนที่เข้าถึงพื้นที่ได้มากสุด สอบถามความคิดเห็นและความต้องการของผู้พิการและผู้สูงอายุ จัดบริการรับ-ส่งยังสถานพยาบาลหากสภาพร่างกายไม่สะดวกในการเดินทางด้วยตนเอง จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูในหมู่บ้าน โดยทางโรงพยาบาลจะส่ง นักกายภาพบำบัดไปช่วยถึงในพื้นที่
"เราเรียนรู้จากการทรงงานของพระองค์ที่ปรับการทำงานให้เข้ากับบริบท ไม่ได้ไปเปลี่ยนอาชีพเขาเพราะเป็นวิถีชีวิต แต่หาวิถีทำนาให้ได้ผล เราก็ปรับการทำงานแทนที่ให้คนไข้เดินทางมาที่ โรงพยาบาล และไม่ได้ทำแค่ระบบสาธารณสุข เพียงอย่างเดียว มันเป็นเรื่องคุณภาพชีวิตที่หลายหน่วยงานร่วมมือกัน" นพ.สมชาย กล่าว
หรือที่ "น่าน" จังหวัดทางภาคเหนือที่ครั้งหนึ่ง เคยเป็น "สมรภูมิรบ" ในสงครามระหว่างรัฐบาลไทย กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หลัง ความขัดแย้งยุติลง ชาวไทยภูเขาและอดีตแนวร่วม พคท. ในนาม "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" มีชีวิตอยู่อย่างลำบาก กระทั่งวันที่ 24 ม.ค. 2532 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้กองทัพภาคที่ 3 อันเป็นหน่วยทหารบกที่ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ ช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว
ระยะแรก คณะทำงานพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริ ได้ก่อสร้างฝายที่บ้านน้ำรีพัฒนา และสร้างระบบประปาภูเขาที่บ้านสบมาง กิ่งอำเภอบ่อเกลือ การสร้างเส้นทางคมนาคม สายบ้านน้ำยาวบ้านห้วยโก๋น ทำให้คุณภาพชีวิตราษฎรในพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ
"สุทิน เขื่อนเป๊ก" สาธารณสุขอำเภอปัว กล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมองการณ์ไกลถึงอนาคต ว่าความอุดมสมบูรณ์ของป่าและน้ำเป็นเรื่องสำคัญ "หากหมดไปชาวบ้านจะเดือดร้อน" ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญทำให้ชาว อ.ปัว ได้สำนึกถึงการรักษาป่าต้นน้ำให้คงอยู่
สุทิน กล่าวต่อว่า เมื่อฟื้นฟูป่าให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง "แม่น้ำน่าน" ที่เป็นแหล่งชีวิตก็สามารถหล่อเลี้ยงคนทั่วทั้งจังหวัดน่านได้ กระทั่งช่วงหลังมานี้มีสถิติการตายของคนใน อ.ปัว ด้วยโรคมะเร็งและไตเพิ่มสูงขึ้น แสดงว่าสิ่งแวดล้อมและสิ่งที่บริโภคมีผลต่อร่างกาย จึงรณรงค์ไม่ให้เติมสารพิษลงในสิ่งแวดล้อมอีก
"แม้จะเริ่มทำตอนนี้ก็ไม่สายเกินไป จึงเกิดชุมชนที่ขับเคลื่อนพื้นที่ปลอดสารเคมีที่เริ่มมีมากขึ้น" สุทิน ระบุ
ทั้ง 9 พื้นที่ ใช้หลัก 4 ประการ คือ 1.ระเบิดจากข้างใน ชุมชนต้องรู้สึกกระตือรือร้นอยากพัฒนาเสียก่อน 2.มีส่วนร่วม ทุกฝ่ายพูดคุย หารือ แสดง ความคิดเห็น จนได้ข้อสรุปร่วมกันถึงความต้องการที่แท้จริง 3.ปลูกป่าในใจคน ปลูกจิตสร้างสำนึกในความคิดของแต่ละบุคคล แล้วคนเหล่านั้นจะปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้นั้นด้วยตนเองสืบไป และ 4.เศรษฐกิจพอเพียง มีเหตุมีผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ดำรงอยู่ได้อย่างสมดุลท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโลก.