8 เคล็ดลับดีๆ แฮปปี้ได้ทุกวัน
ที่มา : YOUNG HAPPY
แฟ้มภาพ
จริงอยู่ว่าชีวิตต้องมีทั้งด้านหวานขมปนกันไป แต่รู้มั้ยว่าเราเองก็สามารถบังคับให้ตัวเรามีความสุขเป็นเปอร์เซนต์หลักได้ถ้าลองฝึก! ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ถ้าเราตั้งใจที่จะมีความสุขกับชีวิต และแน่นอนว่า วิชานี้ถ้าฝึกแล้วจะมีค่ายิ่งกว่าได้ทอง จากเคล็ดลับ เทคนิคทางจิตวิทยา และกลไกของร่างกายทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยให้เรามีความสุขได้
เทคนิคที่ 1 เรียนรู้ที่จะพูดคำว่า “ขอบคุณ”
เมื่อเราขอบคุณใครสักคน หรือแม้กระทั่งขอบคุณโชคชะตาสำหรับบางสิ่ง จะทำให้เราโฟกัสในด้านบวกของชีวิตมากขึ้น ความทรงจำที่น่าพอใจนี้จะทำให้มีการผลิตเซโรโทนินในส่วนหน้าของเปลือกสมอง CINGULATE CORTEX โดยเทคนิคนี้ก็มักใช้สำหรับการรักษาภาวะซึมเศร้าด้วย
เทคนิคที่ 2 แก้ปัญหาทีละอย่าง
เมื่อเรากังวลเมื่อไร ก็ต้องตามมาด้วยการค้นหาคำตอบกันใช่มั้ยคะ นั่นแหละเป็นอีกหนึ่งงานหนักของสมอง ที่กินพลังงานจำนวนมากเลยทีเดียว ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่สมองเหนื่อยและปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข เราจะรู้สึกวิตกกังวลและไม่สบายใจ
ในทางตรงกันข้ามเมื่อเรามีการตัดสินใจที่ประสบความสำเร็จ สมองของเราจะให้รางวัลตัวเองด้วยสารส่งผ่านประสาท (NEUROTRANSMITTERS) ที่ช่วยให้ระบบลิมบิกสงบลง และช่วยให้เรากลับมามองโลกอย่างสดใสอีกครั้ง ดังนั้นเราจึงควรที่จะพยายามจัดการกับปัญหาทีละอย่างในแต่ละครั้ง
เทคนิคที่ 3 อย่าเก็บปัญหาไว้คนเดียว เขียนระบายมันออกมา
เมื่อเราพบเจอกับปัญหาที่ทำให้เราไม่สบายใจ ลองใช้วิธีเขียนแทนการพูดดู การเขียนระบายออกมาจะทำให้เราได้ใช้สมองหลายๆส่วน ทำให้อารมณ์ที่ไม่ดีของเราลดลง ดังนั้นอย่าเก็บปัญหาเอาไว้ข้างใน เมื่อไรก็ตามที่เราระบายปัญหาออกมา สมองของเราจะผลิตเซโรโทนินและยังช่วยให้เราเจอด้านดี ๆ ของสถานการณ์อีกด้วย
เทคนิคที่ 4 การสัมผัสและโอบกอด
สำหรับมนุษย์นั้นการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งเราก็ทำได้หลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสัมผัสและโอบกอด ซึ่งสามารถช่วยเร่งการฟื้นตัวของเราหลังจากการหายป่วยได้ แต่หากเราไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับใครจากการสัมผัสเลย สมองจะรับรู้ถึงการขาดในรูปแบบเดียวกับที่รับความรู้สึกเจ็บปวดทางกาย ทำให้สมองถูกกระตุ้นในบริเวณเดียวกับเมื่อได้รับความเจ็บปวด มีผลต่ออารมณ์ของเราและยังนำไปสู่การพัฒนาภาวะซึมเศร้าอีก
เทคนิคที่ 5 มาเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอีกครั้ง
สำหรับสมองนั้น การได้รับความรู้ใหม่ๆ หมายถึง การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป กระบวนการนี้สมองของเราจะถูกพัฒนา และยังมีรางวัลให้กับความพยายามของตัวเองด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ฮอร์โมนแห่งความสุข” หรือโดพามีน รู้อย่างนี้แล้วถ้าพี่ ๆ ต้องการที่จะมีความสุขอย่ากลัวที่จะลองอะไรใหม่ ๆ ลองเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ดูกันนะคะ
เทคนิคที่ 6 เล่นกีฬา
การออกกำลังกายไม่เพียงแต่ดีต่อสุขภาพ ยังส่งผลที่ยิ่งใหญ่ต่ออารมณ์ของเราด้วย สังเกตได้ว่าเราจะอารมณ์ดีขึ้นหลังได้ออกเหงื่อ นั่นเป็นเพราะรางวัลที่ได้จากการออกกำลังกาย คือสารเอ็นโดฟินส์ที่ถูกปล่อยออกมาจากต่อมใต้สมอง มีผลคล้ายกับยาที่ประกอบด้วยฝิ่น (เช่น มอร์ฟีน) ช่วยลดอาการปวดและทำให้อารมณ์ดีขึ้น แต่ก็อาจไม่ถึงขั้นต้องวิ่งมาราธอนเพื่อที่จะได้ผลนี้ แค่การเดินธรรมดา ๆ ก็ทำให้เกิดผลดี ๆ ได้แล้วล่ะ การันตีเคล็ดไม่ลับนี้จากนักเขียนและนักแต่งเพลงหลาย ๆ คน ก็บอกว่าการเดินเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ของพวกเค้าอีกด้วย
เทคนิคที่ 7 นอนหลับให้เพียงพอ
ในขณะที่เรานอนหลับอยู่ในความมืดนั้นร่างกายของเราจะหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน ฮอร์โมนนี้ทำให้ทุกระบบในร่างกายทำงานช้าลง ช่วยในการซ่อมแซมร่างกายและเพิ่มระดับของเซราโทนินในสมองส่วนไฮโปทาลามัส ซึ่งหากสมองตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของแสงจะทำให้สมองปล่อยฮอร์โมนความเครียดเพื่อกระตุ้นร่างกายให้ตื่นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนอนหลับ 6-8 ชั่วโมงต่อวันและโดยเฉพาะในห้องที่มืดเพียงพอ
เทคนิคที่ 8 ความสุขจากการคาดหวัง
เคยมีความสุขกับการรออะไรสักอย่างที่ชอบ ต้องการ หรือน่าตื่นเต้นมั้ยคะ เช่น รอที่จะได้รับประทานอาหารอร่อยๆ นี่ก็เป็นอีกกระบวนการที่สมองของเราจะได้สัมผัสกับความสุขเมื่อเราคาดหวังสิ่งที่จะได้มาตอบแทน เป็นเหตุผลที่เราชอบนับเวลาแล้วตั้งตารอช่วงพิเศษบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวันเกิดหรืองานแต่งงาน การพบปะกับเพื่อน หรือเพียงแค่สิ้นสุดวันทำงานอันยาวนาน