7 วันอันตราย ปลอดภัยได้ด้วยวินัยจราจร
เผย “เหล้า” ครองแชมป์อุบัติเหตุโหด แนะ! ตั้งสติก่อนสตาร์ท
จะปีใหม่แล้วนะ ไปเที่ยวไหนกันดี…???
หลายครอบครัวกำลังมองหาสถานที่เพื่อท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นการได้พักผ่อนหลังจากทำงานที่หนักหนามาเกือบทั้งปี แต่อีกหลายครอบครัวกำลังรอให้เทศกาลนี้มาถึง เพื่อเฉลิมฉลองขึ้นปีใหม่ร่วมกัน นั่น…!!! อาจเป็นเพียงด้านหนึ่งของช่วงเวลาแห่งความสุข แต่…ในมุมกลับกัน เทศกาลแห่งความสุขที่ทุกคนกำลังรอให้มาถึงนั้น อาจเป็นช่วงเวลาแห่งการ “สูญเสีย” ของใครอีกหลายคนก็ได้!!!!
สาเหตุแห่งการสูญเสียที่ว่านี้!!! มาจากเหตุผลต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย หรือไม่สวมหมวกกันน็อค แต่ที่ติดอันดับต้นๆ ของทุกปีมันคือ “การดื่มสุรา”
จากสถิติอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่เมื่อปี 2551 ของกรมป้องกันและบรรเทาสารธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ที่ผ่านมา พบการเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 4,475 ครั้ง แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ 84.57 เปอร์เซ็นต์ รถปิคอัพ 6.79% รถเก๋ง 2.98% ที่เหลือเป็นรถบรรทุก รถตู้ รถโดยสาร 4 ล้อขึ้นไป 1.22% มีผู้เสียชีวิตถึง 401 คน และมีผู้บาดเจ็บราว 4,903 คน จากตัวเลขบ่งบอกได้ว่าการสูญเสียยังคงมีมากกว่าปีก่อนๆ ถึง 19 ครั้ง
ศ.นพ.
และที่น่าตกใจ…คือผู้ที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในเทศกาลแห่งความสุขนั้น คือ เด็กอายุต่ำกว่า 19 ปี ถึง 29.22% และเป็นวัยแรงงานถึง 57.88% โดยรถจักรยานยนต์ยังคงครองแชมป์ พาคนไปสู่ความตายมากที่สุดถึง 84.75% ซึ่งการขับขี่รถจักรยานยนต์จะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่รุนแรงถึงชีวิต มากกว่าการใช้รถประจำทางหรือรถส่วนตัวสูงถึง 750 เท่า
การเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ย่อมมีแต่ความสูญเสีย ไม่ว่าจะชีวิตหรือทรัพย์สิน จากปีที่ผ่านมา เชื่อหรือไม่ว่า เพียงแค่ 7 วันอันตราย สามารถสร้างความสูญเสียได้ถึง 1 หมื่น 1 พันกว่าล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูง ซึ่งหากนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์คงจะดีต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก
ทุกครั้งที่คนไทยสตาร์ทรถ มีความเสี่ยงมากกว่าชาวอเมริกันถึง 10 เท่า โดยใน 1 วัน มีคนไทยที่ออกสตาร์ทรถแล้วเสียชีวิตจากการใช้รถใช้ถนนถึง 36-50 คน โดยสาเหตุอันดับต้นๆ คือ
เมื่อแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์จะมีผลต่อร่างกายในขณะขับรถ ซึ่งมันจะทำให้ความสามารถในการตัดสินใจช้าลง เกิดอาการตาพร่ามัว มองไม่เห็น บังคับร่างกายไม่ค่อยได้ รวมถึงอุปกรณ์ขับรถด้วย ซึ่งทางกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า ห้ามผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์
หากคุณฝ่าฝืน….
ดื่มแล้วขับ = ถูกจับ + ปรับ + คุมประพฤติ + จำคุก
ผู้ที่ดื่มแล้วขับ มีโทษแน่นอน หากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้พักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
กรณีที่ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ จำคุกไม่เกิน 2 ปี , ปรับไม่เกิน 20,000 – 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
และหากทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องจำคุก 3 – 10 ปี ปรับ 60,000 – 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
“ แบบนี้แล้วคุณยังจะดื่มอีกหรือ…???? ”
อุบัติเหตุที่พบเห็นบ่อยครั้ง ไม่ใช่แต่เพียงแค่ในช่วงเทศกาล สาเหตุส่วนใหญ่ก็มักมาจากการขับรถเร็วเกิน…ของเหล่าบรรดาวัยรุ่น วัยคะนอง การขับรถนั้น เมื่อเราเพิ่มความเร็ว ความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นตาม เพราะรัศมีการมองเห็นจะแคบลง ซึ่งมีผลกับความเร็วตั้งแต่ 40 กม./ชม.เป็นต้นไป เมื่อมองเห็นแคบลง อุบัติเหตุก็มักเกิดได้ง่ายขึ้น
ซึ่งความเร็วที่คนปกติใช้ขับขี่บนท้องถนน ก็อยู่ราวประมาณ 90-120 กม./ชม. ซึ่งเมื่อเกิดการชนกันนัน้ เที่ยบได้กับการขับรถตกจากที่สูง 56 ม. หรือ ตึก 19 ชั้น สูงขนาดนั้นแล้วจะมีใครรอด????
บางคนอ้างว่าเบรคดี หรือเบรคทัน แต่นั่นมันเป็นไปไม่ได้ เมื่อการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งมันเกิดแบบกระทันหัน กระชั้นชิด จากข้อมูลพบว่าระยะการเบรคจะขึ้นอยู่กับความเร็ว หากขับมาด้วยความเร็ว 100 กม./ชม. จะต้องใช้ระยะทางเบรคถึง 112 ม. รถถึงจะจอดสนิท ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ในขณะนั้นเลย ฉะนั้น
“การลดความเร็วเท่ากับ ลดความเสี่ยง”
การคุยโทรศัพท์แล้วขับขี่รถ ซึ่งอีกมือหนึ่ง ต้องถือโทรศัพท์อยู่นั้น เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ จนต้องออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ เพราะขณะเราคุยโทรศัพท์นั้น สมาธิในการขับขี่รถของเรานั้นจะลดลง รวมถึงการจดจำป้ายจราจรก็ลดลงด้วย ซึ่งมันมีความเสี่ยงสูงในการเกิดอุบัติเหตุ
โทรแล้วขับ…ถูกจับแน่ !!!
ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2551 (9) มาตรา 43 กำหนดห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถยนต์ เว้นแต่ใช้อุปกรณ์เสริม หากฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 400 – 1,000 บาท หากพบว่าใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถยนต์ หรือขี่จักรยานยนต์จะถูกจับกุมทันที ส่วนจุดที่มีการติดตั้งกล้องถ่ายภาพเป็นหลักฐานสามารถนำส่งพนักงานสอบสวน สน.ท้องที่ ออกหมายเรียกผู้ต้องหาถึงบ้านและนำตัวมาดำเนินคดีได้ในภายหลัง
การหลับในขณะขับขี่ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่น่าเป็นห่วง เพราะ “อาการง่วง” เป็นอาการอยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์และตัวคุณ ! ซึ่งบังคับไม่ได้
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าขับรถที่ความเร็ว 100 กม. / ชม. แล้วหลับใน?
ระยะเวลาที่วูบหลับเพียง 3 – 5 วินาที รถจะวิ่งโดยปราศจากการควบคุมกว่า 100 เมตร
ซึ่งมีความเสี่ยงในการพุ่งชนประสานงากับรถคันอื่น ต้นไม้ เด็ก หรือ เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงอื่นๆ จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุจำแนกตามสาเหตุสำคัญของตำรวจทางหลวงพบว่า ปี 48 หลับใน 22 ราย, ปี 49 หลับในถึง 35 ราย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพิ่มถึง 59%
การหลับไม่เพียงพอ เพียงคืนละ 1 ชั่วโมง จะเป็นอดนอนสะสม และทำให้ง่วงในเวลากลางวัน ยิ่งดื่มแอลกอฮอล์ ยิ่งเป็นอันตรายสำหรับคนที่อดนอน เพราะการดื่มสุราเพียงแก้วเดียวทำให้บุคคลนั้นหลับในหรือวูบได้ง่ายขึ้น
ตามประมวลฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก 2522 ระบุว่า ผู้ขับขี่รถขณะร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถมีความผิดตาม ม.103 บทลงโทษปรับไม่เกิน 5,000 บ.
ทางรอด…!!! เมื่อเราพอจะรู้แล้วว่าสาเหตุของอุบัติเหตุส่วนใหญ่ ในช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่นี้ มันมาจากอะไร เราก็ควรหาวิธีเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบิตเหตุนั้นๆ ลงได้ ด้วยการ “ตั้งสติก่อนสตาร์ท” “ดื่มไม่ขับ” “ขับไม่ซิ่ง” “ง่วงไม่ขับ” “โทรไม่ขับ” และที่สำคัญอย่าประมาทเป็นอันขาด
เพียงเท่านี้คุณก็จะสามารถเที่ยวฉลองปีใหม่ได้อย่างปลอดภัย แถมลดการสูญเสียทั้งชีวิตและเงินทองได้อีกด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะของตนเองนะ ร่วมถึงของผู้อื่นด้วย
ที่มา : ณัฐภัทร ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th
Update : 23-12-51
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฐภัทร ตุ้มภู่