6 จังหวัดขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะการอ่าน

ส่งเสริม 6 นครแห่งการอ่าน เพื่อทุกคนในพื้นที่เข้าถึงวิถีสุขภาวะ


6 จังหวัดขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะการอ่าน thaihealth


เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน และนครแห่งการอ่าน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ สุรินทร์ ลำปาง เชียงราย ขอนแก่น และกรุงเทพมหานคร ร่วมจัดประชุมปฏิบัติการขับเคลื่อน "นครแห่งการอ่าน : ยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อทุกคนในพื้นที่เข้าถึงวิถีสุขภาวะ"  มี ศ.นพ. ประเวศ วะสี ปาฐกถาพิเศษ "สร้างสังคมอุดมปัญญา ร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่านเต็มแผ่นดิน" โดยมีผู้บริหาร สสส. คณะกรรมการโครงการอ่านสร้างสุข และเครือข่ายส่งเสริมการอ่านร่วมขานรับหนุนเสริมการขยายงานในระดับจังหวัดเข้าร่วมงาน


ก่อนหน้านี้ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. ได้ทำการขับเคลื่อนการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยตลอดระยะเวลา 5 ปี พบผลสำเร็จสำคัญ อาทิ เกิดนโยบายระดับท้องถิ่นในการจัดสรรงบประมาณและดำเนินงานส่งเสริมการอ่าน เกิดเวทีประชาคมผลักดันให้เกิดการอ่านในหลายระดับ และเกิดธนาคารหนังสือและมุมการอ่านมากกว่า 100 พื้นที่ทั่วประเทศไทย


ในปี 2556 ทางแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมกับสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (สนศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินโครงการ "สถานศึกษาต้นแบบ ชุมชนอ่านสร้างสุข" โดยได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองโครงการและกิจกรรมงานเฉลิมพระเกียรติฯ ที่มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ และในปีที่ผ่านมาเกิดยุวทูตส่งเสริมการอ่าน จำนวนทั้งสิ้น 6,115 คน ในพื้นที่ 16 โรงเรียน 5 กศน. จนนำมาสู่การขับเคลื่อน "ยุทธศาสตร์ 6 นครแห่งการอ่าน" ในครั้งนี้


6 จังหวัดขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะการอ่าน thaihealthทั้งนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวว่า สังคมใดที่มีการอ่านน้อย เมื่อเกิดเรื่องที่ซับซ้อนก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ เมื่อไม่เข้าใจก็จะไม่สามารถเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แก้ไม่ได้ ทำให้สังคมติดขัด และเกิดวิกฤติขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องเร่งสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นเต็มแผ่นดิน


ด้าน รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) กล่าวว่า การอ่านช่วยสร้างมิติสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งจะช่วยหนุนการสร้างเสริมสุขภาวะด้านอื่นๆ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสังคม และ "การอ่าน" จะทำให้คนเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ ซึ่งสามารถช่วยกันคลี่คลายปัญหา และร่วมสร้างสังคมสุขภาวะได้ตั้งแต่ระดับตนเอง ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และสังคม ดังที่โครงการอ่านสร้างสุขริเริ่มไว้


นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน หนึ่งในองค์กรร่วมจัดงานครั้งนี้ เสริมว่า จากการจัดประชุมในครั้งนี้ คณะผู้บริหารจังหวัดจะได้นำแนวทางตั้งต้นในวันนี้ไปแปลงยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติที่มีวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของชุมชน จังหวัดเป็นตัวตั้ง โดยกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่เกิดขึ้นแต่ละจังหวัดคาดหวังปูพรมทั่วเมือง เพื่อร่วมสร้างสังคมแห่งปัญญา สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างมีความสุขแก่คนทุกวัยต่อไป


สำหรับยุทธศาสตร์นครแห่งการอ่าน ได้แก่ ความสุขจากการอ่าน ขยายฐานการเรียนรู้ทั่วเมือง ส่วนนิยามของนครแห่ง6 จังหวัดขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะการอ่าน thaihealthการอ่านคือ นครที่ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าถึงบริการการอ่านอย่างทั่วถึงทุกที่และเท่าเทียม เป็นสังคมที่มีสื่ออ่านที่เพียงพอ ทุกคนเกิดความตระหนัก เห็นคุณค่า และใช้ความรู้ในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิต นครแห่งการอ่านจึงนับเป็นยุทธศาสตร์เพื่อทุกคนในพื้นที่เข้าถึงวิถีสุขภาวะ


ทั้งนี้ จากการสำรวจภาวะสุขภาพคนไทยครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.2551-2552 มีการประเมินพัฒนาการเด็กช่วงปฐมวัย พบว่า เด็กอายุ 18-23 เดือน จำนวนร้อยละ 1 (4 คนจากจำนวนทั้งหมด 259 คน) ยังพูดไม่ได้ สำหรับในกลุ่มเด็กอายุ 18-23 เดือนที่พูดเป็นคำได้แล้ว พบว่า 68 คน ไม่พูดเอง มักพูดตามเป็นส่วนใหญ่ หมายความว่าจำนวนหนึ่งในกลุ่มนี้อาจมีความเข้าใจภาษาค่อนข้างล่าช้า และจากผลการสำรวจการพัฒนาการเด็กปฐมวัยของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ปี พ.ศ.2550 พบว่า พัฒนาการเด็กรวมปกติของเด็กปฐมวัย ร้อยละ 67.7 เปรียบเทียบกับปี พ.ศ.2542 และปี พ.ศ.2547 พบว่า พัฒนาการเด็กปฐมวัยภาพรวมปกติหรือสมวัย ลดลง และ พัฒนาการด้านภาษาเป็นปัญหามากกว่าด้านอื่นๆ ปัญหาพัฒนาการด้านภาษาจึงเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญควรหาแนวทางเพื่อแก้ไข (กรมอนามัย, 2553)การสำรวจพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2542-2552 ของกรมอนามัย พบว่า เด็กไทยมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าเฉลี่ยร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเฉลี่ยร้อยละ 5-15 เท่านั้น ซึ่งวิธีการหนึ่งที่สามารถพัฒนาทักษะด้านภาษาให้ดีขึ้น รวมถึงพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ อาทิ การสื่อสาร การพัฒนาด้านอารมณ์ สังคม คือ "การอ่านหนังสือกับลูก"


หนังสือและการอ่านจึงเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก เมื่อเด็กอ่านหนังสือหรือฟังเรื่องราวจากหนังสือจะซึมซับถึงแบบอย่าง และบรรทัดฐานของสังคมที่สะท้อนรูปแบบให้เห็น ทั้งการกระทำ ข้อพึงปฏิบัติ คุณธรรมและจริยธรรม รวมไปถึงแบบแผน กฎเกณฑ์ และค่านิยมต่างๆ ที่ปรากฏในหนังสือ เด็กจะค่อยๆ เรียนรู้ เลียนแบบ และสะสมไปทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งยึดเป็นแนวปฏิบัติเมื่อเจริญวัยขึ้น


การอ่านหนังสือจึงเป็นการปูพื้นฐานความเป็นพลเมืองที่พึงประสงค์ ซึ่งมีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมในการกำหนดทิศทางของสังคมอนาคต การส่งเสริมให้เด็กมีประสบการณ์ร่วมกับหนังสือตั้งแต่วัยแรกเริ่มของชีวิต ซึ่งเป็นวัยที่รับรู้และรับสิ่งแวดล้อมได้รวดเร็วที่สุด และเป็นช่วงวัยที่สมองพัฒนาสูงสุด หากผู้ใหญ่ได้ช่วย "เลือกสรร" หนังสือที่เหมาะสมให้กับเด็ก จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและทักษะชีวิตให้แก่เด็กได้


"การอ่าน" ยังก่อเกิดต่อการวางรากฐานของการคิด การวิเคราะห์ การสร้างจินตนาการ รวมถึงการรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) บ่มเพาะความเกื้อกูลในวัยเติบโต


ในการทำงานของแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ยังพบว่า การอ่านเป็นเครื่องมือที่สร้างสัมพันธภาพ ความอบอุ่นแก่ครอบครัว ทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง และยังทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน รวมถึงเกิดระบบสุขภาวะในชุมชน อาทิ การเกิดกองทุนหนังสือของเด็กแรกเกิด การเกิดนโยบายอ่านสร้างสุขในโรงเรียน การเกิดมุมการอ่าน และกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในรูปแบบต่างๆ ในชุมชน.


หนังสือและการอ่านจึงเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก เมื่อเด็กอ่านหนังสือหรือฟังเรื่องราวจากหนังสือจะซึมซับถึงแบบอย่าง และบรรทัดฐานของสังคมที่สะท้อนรูปแบบให้เห็น ทั้งการกระทำ ข้อพึงปฏิบัติ คุณธรรมและจริยธรรม รวมไปถึงแบบแผน กฎเกณฑ์ และค่านิยมต่างๆ ที่ปรากฏในหนังสือ เด็กจะค่อยๆ เรียนรู้ เลียนแบบ และสะสมไปทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งยึดเป็นแนวปฏิบัติเมื่อเจริญวัยขึ้น


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code