5 เครือข่ายขับเคลื่อน ‘จัดการศึกษาเพื่ออาชีพ’

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์ 


5 เครือข่ายขับเคลื่อน \'จัดการศึกษาเพื่ออาชีพ\' thaihealth


5 เครือข่าย ร่วมขับเคลื่อน 'จังหวัดจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ' เพื่อเตรียมพร้อมด้านอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชน


นายแพทย์สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สสค.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการดำเนินโครงการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพระดับจังหวัด ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงานคือ สสค. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ม.มหิดล ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเตรียมพร้อมด้านอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนให้สอดรับกับทิศทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ และเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ให้แต่ละจังหวัดมีขีดความสามารถที่จะดำเนินการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพได้เองในระยะยาว โดยจะเริ่มนำร่องใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, แม่ฮ่องสอน, กาญจนบุรี, ตราด, นครราชสีมา, อำนาจเจริญ, สุรินทร์, ภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี


นพ.สุภกร กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายของโครงการนี้ต้องการทำให้ทุกภาคส่วนในแต่ละจังหวัดมีแผนและเป้าหมายในการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำงานกับกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนและเกิดการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ที่มีเข้ามาช่วยกันทำงานเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นประสบการณ์ของทั้ง 10 จังหวัดก็จะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เครือข่ายในจังหวัดอื่นๆ ในอนาคตต่อไป


นายพีระ รัตนวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาภาคบังคับ สพฐ. กล่าวว่า โครงการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพระดับจังหวัด เป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐานการทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เชิงนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหรือไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งพัฒนาและเตรียมพร้อมกำลังแรงงานให้สอดรับกับการพัฒนาภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและแรงงานรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมของเด็กและเยาวชนสู่การประกอบอาชีพ


นายพีระ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา สพฐ.พยายามออกแบบโปรแกรมการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์และสะท้อนความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่มคือ 1. ผู้เรียนที่จบม.3 แล้วเรียนต่ออาชีวศึกษา 2.ผู้เรียนที่จบม.3 แล้วเรียนต่อสายสามัญ และ 3.ผู้เรียนที่จบม.3 แล้วออกไปทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มสุดท้ายที่จะต้องมีทักษะอาชีพจริงๆ ให้พร้อมออกไปทำงาน หากโครงการนี้สามารถค้นหาความต้องการแรงงานในจังหวัด และความต้องการและความถนัดด้านทักษะอาชีพได้ ก็จะทำให้เด็กมีปลายทางที่ดี ปัญหาการจบแล้วทำงานไม่ตรงวุฒิก็จะหมดไป และยังตอบโจทย์การพัฒนาของจังหวัดไปพร้อมกันด้วย


ด้า นศ.ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการนี้จะเน้นการสร้างความสนใจและตระหนัก ให้เด็กและเยาวชนเข้าใจและมีเป้าหมายชีวิต รู้จักการวางแผนชีวิตอยู่ในสังคมได้ด้วยการประกอบอาชีพและมีงานทำ โดยสังเคราะห์ออกมาเป็นความถนัดเพื่อการมีอาชีพ เพราะปัจจุบันเรามีเด็กถึงร้อยละ 40 ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลายโดยไม่มีทักษะการทำงาน เราจึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านั้นอยู่ในสังคมและมีอาชีพได้ โดยกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการนี้จะใช้จุดเด่นที่ สสค. ทำมากับหลายๆ จังหวัดคือการใช้พื้นที่เป็นฐานในการทำงาน เพื่อดูว่าแต่ละพื้นที่มีความต้องการแรงงานอย่างไร แล้วนำมาออกแบบให้ตอบโจทย์การพัฒนาและตลาดแรงงานในพื้นที่ เพื่อทำให้เด็กมีทักษะในการทำงานที่สอดคล้องจบแล้วสามารถทำงานได้จริง

Shares:
QR Code :
QR Code