5 องค์กรสุขภาพหนุนทำ R2R
5 องค์กรสุขภาพ ลงนามสนับสนุนการทำ R2R เผยช่วยพัฒนาระบบสุขภาพทุกระดับ ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ชี้ภาพรวมระบบสุขภาพประเทศไทยดีขึ้น ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อดำเนินงานสนับสนุนการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R) ระดับประเทศระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การทำวิจัย Routine to Research หรือ R2R จัดเป็นเครื่องมือพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย โดยหลักของ R2R คือ การตั้งคำถามจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากงานประจำ แล้วแก้ให้ดีขึ้นด้วยการพัฒนาผลการวิจัยที่ได้ ถ้ามีระบบการบริหารจัดการที่ดีสามารถนำผลไปพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นได้
ด้าน ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า ศิริราชเริ่มทำ R2R มาตั้งแต่ปี 2547 ช่วยให้บุคลากรศิริราชเกิดการพัฒนา ผ่านการสร้างงานวิจัยเพื่อปรับปรุงงานประจำให้ดีขึ้น ให้คุณภาพด้านการรักษา การบริการ จนประสบความสำเร็จ ผู้ป่วยได้รับการบริการที่ดีขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลดลง ความพึงพอใจสูงขึ้น ซึ่งความสำเร็จนี้เป็นที่สนใจของต่างประเทศจนต้องมาศึกษาดูงาน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และลาว เป็นต้น
ขณะที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า นโยบายสุขภาพของไทยคือรัฐบาลแบกรับภาระค่าใช้จ่าย กลไกเช่นนี้ระบบต้องมีประสิทธิภาพ ซึ่ง R2R สามารถทำให้หน่วยบริการมีประสิทธิภาพได้ ซึ่ง สปสช.จะสนับสนุนให้หน่วยบริการในเขตทั้ง 13 เขตของ สปสช. และ กทม.ได้จัดแสดงผลงาน เป็นการกระตุ้นให้เกิดการตั้งโจทย์การทำงานที่ดีขึ้น การเก็บข้อมูลที่เป็นหลักวิทยาศาสตร์ รวมถึงใช้เครือข่ายที่มีอยู่ทั้งหมดอย่างกองทุนสุขภาพตำบลที่มีอยู่กว่า 7,850 แห่ง ดำเนินการตามกรอบ R2R ทำสะสมไปเรื่อยๆ ก็จะช่วยให้ระบบสุขภาพของประเทศดีขึ้น
ส่วน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรม โรงพยาบาลต้องเน้นบทบาทการส่งเสริมป้องกันมากขึ้นจึงต้องนำ R2R มาใช้คิดทำงานเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ สสส.จะสนับสนุนให้ภาคีเครือข่าย สสส.ที่มีมากกว่า 10,000 องค์กร พัฒนางาน R2R ในประเด็นปัจจัยเสี่ยง ทั้งยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อุบัติเหตุ และการป้องกันโรคไม่ติดต่อไปปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยตั้งเป้า 2 ปี ต้องได้อย่างน้อย 10 ประเด็น และเกิดนักสร้างเสริมกระบวนการ R2R 100 คน
นพ.กำจัด รามกุล หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข สธ. เห็นว่าระบบ R2R มีความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร และระบบบริหารการจัดการโดยเฉพาะการปฏิรูป สธ. โดยมีสำนักวิชาการฯ ควบคุมกำกับและสนับสนุนด้านวิชาการแนะนวัตกรรมด้านสุขภาพให้ร่วมผลักดันและส่งเสริมภาคีเครือข่ายใช้ R2R ให้เกิดนวัตกรรมการบริหารจัดการด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำประโยชน์ด้านวิชาการมาใช้เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการปฏิรูป สธ.
ส่วน นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผอ.สรพ. กล่าวว่า R2R เป็นเหมือนแว่นขยายในการมองปัญหาและช่วยหาทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งปัจจุบัน สรพ.กำหนดให้ทุกองค์กรต้องมีผลงานวิจัย R2R เป็นหนึ่งในเกณฑ์รับรองคุณภาพสถานพยาบาลในระดับสูงขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ