5 วิธีเรียกรอยยิ้ม ลดเครียด

ที่มา : MGR Online


5 วิธีเรียกรอยยิ้ม ลดเครียด thaihealth


แฟ้มภาพ


จิตแพทย์ แนะ 5 วิธีเรียกรอยยิ้ม ลดเครียด ชะลอใบหน้าเหี่ยวย่น เปิดสวิตช์สมองหลั่งสารความสุข ชี้นึกถึงเรื่องตลก ลดใช้หน้าจอหันมาพูดคุยกับเพื่อน ครอบครัว อ่านหนังสือ ดูหนังตลก ฝึกยิ้มหลังตื่นนอน ก่อนเข้างาน แชร์ภาพคลิปตลกในไลน์ช่วยได้


นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า ต้นเหตุปัญหาสุขภาพจิตหรือการเจ็บป่วยทางจิต ล้วนมีต้นตอมาจากความเครียด ซึ่งการยิ้มเป็นความรู้สึกอย่างเดียวที่ทำให้ระบบภายในผ่อนคลาย โดยการยิ้มใช้กล้ามเนื้อใบหน้าเพียง 2 มัด คือ กล้ามเนื้อไซโกเมติก เมเจอร์ ช่วยดึงมุมปากทั้ง 2 ข้างให้ยกขึ้นไปหาโหนกแก้ม และกล้ามเนื้อออร์บิคิวลาริส ออคิวไล จะช่วยดึงเนื้อแก้มและเบ้าตาให้ยกขึ้น เมื่อกล้ามเนื้อใบหน้าเคลื่อนไหวจนเกิดเป็นรอยยิ้ม มีผลให้เลือดแดงไปเลี้ยงที่สมอง อุณหภูมิในสมองจะลดลง เกิดความรู้สึกสบาย


นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า ผลงานวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า การยิ้มมีผลให้สมองหลั่งสารเอนดอร์ฟิน หรือสารแห่งความสุขออกมาเป็นวงจรอัตโนมัติ ทำให้อารมณ์แจ่มใส ระบบต่างๆในร่างกายจะผ่อนคลาย ขณะเดียวกันจะมีผลให้ร่างกายลดการหลั่งสารอะดรีนาลิน หรือสารแห่งความเครียด ทำให้หัวใจเต้นช้าลง ความดันโลหิตลดลง ผ่อนคลายความเครียด ทำให้ไม่ป่วยง่ายและหายป่วยเร็ว จึงสามารถนำการยิ้มมาใช้สร้างสุขภาพจิตตัวเองแบบง่ายๆใกล้ตัว เมื่อจิตใจดีสุขภาพกายจะดีตามไปด้วย


"คนเราจะยิ้มเมื่อมีความสุข การยิ้มจัดเป็นยารักษาความงามตามธรรมชาติ ช่วยชะลอความเหี่ยวย่นบนใบหน้าได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใบหน้าได้ออกกำลัง ไม่ได้ทำให้รอยตีนกาเพิ่ม และยังเป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้ตัวเอง นอกจากนี้ ยังสามารถใช้การยิ้มในสถานการณ์ที่คับขันได้ จะช่วยเพิ่มความกล้าในจิตใจ มีพลังเอาชนะอุปสรรคมากขึ้น การยิ้มที่ดีนั้นจะต้องยิ้มทั้งปากและตา โดยให้มองตากันค้างไว้อย่างน้อย 3 วินาที เรียกว่ายิ้มแบบจริงใจ นักมานุษยวิทยาสังเกตุพบว่าคนจะเห็นรอยยิ้มได้ชัดแม้อยู่ห่างกัน 45 เมตร ทั้งนี้ การยิ้มที่ดีจะต้องถูกที่ ถูกเวลาและถูกกาลเทศะด้วย" นพ.กิตต์กวี กล่าว


นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สภาพสังคมในยุคดิจิทัล มีประเด็นที่น่าห่วง เนื่องจากประชาชนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปมาก ต่างคนต่างก้มหน้าดูหน้าจอมือถือตัวเอง การยิ้มที่เกิดขึ้นก็จะอยู่ในลักษณะยิ้มกับมือถือของตัวเองคนเดียว คือ สายตาทั้งคู่จ้องดูที่หน้าจอมือถือ ไม่ได้ยิ้มสบตากับคนอื่นๆ เหมือนในอดีต ขณะเดียวกันก็อาจจะได้รับการยิ้มตอบจากผู้อื่นลดลงไปด้วย เพราะไม่ได้ยิ้มสบตาหรือทักทายกับใครก่อน จึงเชื่อว่าหากทุกคนส่งรอยยิ้มแย้มแจ่มใสให้กัน จะทำให้สังคมไทยในยุคดิจิทัลอบอุ่นขึ้น ทั้งนี้ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯจึงนำการยิ้มมาเสริมคุณภาพบริการ เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ามาใช้บริการแล้วจะมีความสบายใจ มีความสุข โดยส่งเสริมให้บุคลากรทุกคนยิ้มทักทายกันเพื่อสร้างความสุข เสมือนชาร์จแบตเติมพลังบวก สร้างบรรยากาศเป็นมิตร และนำมาใช้เป็นเครื่องมือดูแลฟื้นฟูผู้ป่วย โดยที่แผนกผู้ป่วยนอก


นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า ทุกเช้าเจ้าหน้าที่จะจัดกิจกรรมสอนผู้ป่วยและญาติ เช่น การคลายเครียดด้วยการแพทย์แผนไทย ฝึกการยิ้มเพื่อบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า และให้ความรู้ด้วยภาษาถิ่นที่ผ่อนคลายและสนุกใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที ส่วนที่แผนกผู้ป่วยในจะกระตุ้นให้ผู้ป่วยยิ้มบ่อยๆ เพื่อฟื้นฟูด้านจิตใจและสังคม โดยเฉพาะในรายที่ซึมเศร้า ซึ่งมีผลวิจัยพบว่าช่วยให้ฟื้นตัวหายป่วยได้ดีขึ้น สำหรับวิธีการกระตุ้นให้มีรอยยิ้ม สามารถทำได้ 5 วิธี คือ 1.ให้นึกถึงเรื่องตลกในอดีตที่ทำให้เราขำ หัวเราะ 2. พูดคุยเรื่องสนุกสนานในหมู่เพื่อนที่สนิทคุ้นเคยหรือคนในครอบครัว 3. อ่านหนังสือประเภทชวนหัวเราะ ขำขันหรือดูหนัง ละครประเภทตลก เฮฮา 4. ฝึกโดยใช้วิธีการเตือนตัวเอง เช่น ยิ้มหลังตื่นนอนทุกวัน ยิ้มทุกครั้งเมื่อพบหน้าคนใกล้ชิด ยิ้มก่อนออกจากบ้าน หรือทุกครั้งเมื่อเข้าที่ทำงาน เป็นต้น และ 5 .ให้เพื่อนส่งเรื่องสั้น หรือรูปภาพ หรือคลิปภาพที่ตลก ขำขัน ให้ทางไลน์ ก็ได้ ช่วยสร้างรอยยิ้มให้ได้เช่นกัน แต่ควรฝึกข้อ 1-4 เสริมกันไปด้วย โดยทุกครอบครัวควรปลูกฝังการยิ้มให้ลูกหลานตั้งแต่ยังเป็นเด็ก จะทำให้เด็กมีแนวโน้มเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ยิ้มแย้ม สุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพจิตดีในอนาคตด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code