4 มาตรการ ดับพิษ ‘บุหรี่’

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


4 มาตรการ ดับพิษ 'บุหรี่' thaihealth


4 มาตรการ ดับพิษ 'บุหรี่' ลดสิงห์อมควันน้อยกว่า 9 ล้านคน


จากการอาศัยหลายมาตรการ ในการควบคุมบริโภคยาสูบมายาวนานหลายสิบปีของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ส่งผลให้อัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยลดลงอย่างชัดเจน จากปี 2532 ที่มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ถึง 12.26 ล้านคนหรือร้อยละ 32 ลดลงเหลือ 10.7 ล้านคนหรือร้อยละ 19.1 ในปี 2560 ซึ่งสถิติดังกล่าว แสดงถึงชัยชนะขั้นต้นในการสนับสนุนคนทำงานที่สนใจในเรื่องของการลดละเลิกบุหรี่


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า เป้าหมาย ต่อไปที่ สสส.จะดำเนินการคือ  การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะ ผู้หญิง เด็กและเยาวชน รวมถึงลด ผลกระทบจากการรับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งมีข้อมูลว่า ยังมีผู้รับควันบุหรี่มือสองทั่วประเทศถึงร้อยละ 33.2 โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ในบ้าน ทำให้มีผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านสูงถึง 17.3 ล้านคน และเมื่อเกิดการสูบบุหรี่ในบ้าน  เด็กหรือลูกหลานก็จะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ ในอนาคตได้


"ที่สำคัญ ยังต้องเดินหน้าลดอัตราการสูบบุหรี่ลงให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก โดยประเทศไทยจะต้องลงอัตราการสูบบุหรี่ลงในปี 2568 ให้เหลือผู้สูบบุหรี่น้อยกว่า 9 ล้านคน หรือจะต้องลดคนสูบบุหรี่อีก 25% เฉลี่ยปีละ 2.5 แสนคน" ดร.สุปรีดา กล่าว


4 มาตรการ ดับพิษ 'บุหรี่' thaihealth


สำหรับมาตรการที่ส่งผลต่อความสำเร็จ ในการลดอัตราการสูบบุหรี่ของประเทศไทยนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลไว้อย่างชัดเจนว่า ความสำเร็จของการจำนวนผู้สูบบุหรี่ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เพราะไม่ใช่เรื่องแค่ของคนสูบ และคนขาย แต่ยังมีปัจจัยอื่นทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม ธุรกิจผลประโยชน์ เรื่องของสังคมและพฤติกรรมด้วย จึงต้องอาศัยหลายมาตรการในการดำเนินการ ร่วมกัน หลักๆ นั้นมีอยู่ 4 มาตรการ คือ


มาตรการที่ 1 มาตรการทางกฎหมาย ซึ่งเมื่อปี 2560 ได้มีการออก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งก็เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่คลอดออกมาอย่างยากลำบาก แต่ก็เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการกระทำที่ ผิดกฎหมายและคุ้มครองไม่ให้คนไทยเข้าถึงบุหรี่หรือยาสูบโดยง่าย  โดยเฉพาะเยาวชน


มาตรการที่ 2 มาตรการทางด้านความรู้ คือ จะต้องรณรงค์และให้ความรู้ แก่ประชาชนถึงพิษภัยที่เกิดขึ้นจากบุหรี่ โดยการรับรู้ว่าก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดและโรคถุงลมโป่งพอง แต่จะต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้เพิ่มมากขึ้น อย่างเรื่องของบุหรี่เป็นพิษต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือดที่เป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้


4 มาตรการ ดับพิษ 'บุหรี่' thaihealth


มาตรการที่ 3 มาตรการทางด้านสังคม เช่นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการสูบบุหรี่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ควบคุม สิ่งแวดล้อมโดยกฎหมาย เรื่องที่สอง คือ ในเรื่องของค่านิยมและทัศนคติ และสาม คือ การทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เช่น การสร้างต้นแบบให้กับคนในชุมชน


มาตรการที่ 4 มาตรการด้านการจัดการ จากการออก พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มีประเด็นสำคัญคือ เรื่องของการตั้งคณะกรรมการ ควบคุมยาสูบระดับจังหวัด ซึ่งเป็นการเปิดให้มีโครงสร้างการดำเนินงานที่ชัดเจนในพื้นที่ และหากพื้นที่ให้ความสำคัญก็จะเกิดการบังคับใช้กฎหมายด้านบุหรี่อย่างจริงจัง


อย่างไรก็ดีแม้จะมีถึง 4 มาตรการหลัก แต่ทุกฝ่ายยังมองว่าจะต้องค้นหามาตรการใหม่ หรือวิธีการใหม่ๆ ที่จะออกมาสนับสนุนให้เกิดการลดการสูบบุหรี่ อย่างจริงจังต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ