4 มาตรการเฝ้าระวัง ‘ไข้หวัดนก’
ที่มา : MGR Online
แฟ้มภาพ
สธ.เฝ้าระวังเข้ม "ไข้หวัดนก" ทั้งในคน สัตว์เลี้ยง และสัตว์ธรรมชาติ หลังเกาหลีใต้พบการแพร่ระบาด กำชับ สสจ.เข้ม 4 มาตรการ ย้ำไม่ห้ามเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด แต่ขอให้ระวัง ไม่เข้าใกล้สัตว์ปีก และล้างมือบ่อยๆ
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงเกษตรของเกาหลีใต้ เตือนภัยไข้หวัดนกระดับสูงสุดเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา หลังพบการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 6 ว่า ประเทศไทยมีรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนกเอช 5 เอ็น 1 รายสุดท้ายเมื่อ ก.ค. 2549 หรือ 10 ปีก่อน โดยมีการบูรณาการทำงานร่วมกันของ 3 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สธ. และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังในคน ในสัตว์ และในสัตว์ปีกธรรมชาติ สำหรับช่วงฤดูหนาวเป็นช่วงที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรคได้ง่าย ทั้งนี้ ได้กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ดำเนินการ 4 มาตรการสำคัญในการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก ดังนี้
1.เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในพื้นที่ทั้งในคนและในสัตว์ ประสานงานปศุสัตว์และหน่วยงานของกรมอุทยานแห่งชาติฯในพื้นที่ หากพบการระบาดในสัตว์ให้แจ้งเตือนโรงพยาบาลในพื้นที่ทันที เพื่อเตรียมพร้อมด้านการรักษาพยาบาล 2.ให้อาสาสมัครสาธารณสุข เฝ้าระวังหากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมทั้งแจ้งเตือนประชาชนป้องกันการติดเชื้อ โดยไม่นำเอาสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายมาชำแหละหรือรับประทาน กรณีพบผู้ป่วยสงสัย โดยมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ร่วมกับมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือมีประวัติอยู่/ไปในพื้นที่ระบาดของโรค แนะนำให้พบแพทย์ทันที
3.ประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคไข้หวัดนกให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง ให้คำแนะนำแก่ผู้เดินทางไปพื้นที่มีรายงานผู้ป่วยหรือสัตว์ปีกติดเชื้อ และ 4.เผยแพร่ข้อมูลความรู้และแนวทางในการคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก ตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข ให้แพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดทราบอย่างทั่วถึง และสั่งให้บุคลากรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
"ขอให้ประชาชนป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก ดังนี้ ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ก่อนและหลังปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นหวัด ไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือป่วยตายมารับประทาน รับประทานเป็ดไก่ได้ตามปกติขอให้ปรุงสุกและชำแหลอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก ไม่ให้เด็กเข้าใกล้สัตว์ป่วย และหากมีสัตว์ปีกตายผิดปกติ ให้แจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขหรือผู้นำชุมชนทันที เพื่อทำลายซากสัตว์ปีกอย่างถูกวิธีและจำกัดการแพร่ระบาดระบาดของโรค" ปลัด สธ. กล่าวและว่า สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาดของโรค ไม่มีข้อห้ามสามารถเดินทางไปได้ตามปกติ แต่ขอให้ระมัดระวัง ไม่เข้าใกล้สัตว์ปีก และล้างมือบ่อยๆ หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกให้สวมหน้ากากอนามัย รีบไปพบแพทย์