4 บันไดสู่ความสุข สไตล์โนนทอง’s way

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ 


4 บันไดสู่ความสุข สไตล์โนนทอง's way thaihealth


แฟ้มภาพ


ปัจจุบันมีชาวบ้านมากกว่า 50 %  เลือกที่จะหันมาจัดงานศพปลอดเหล้า ค่านิยมสืบต่อกันมา ทำให้กลายเป็นเรื่องที่เห็นชินตา คือปัญหาการจัดงานฌาปนกิจที่ต้องเลี้ยงเหล้า มีเรื่องเล่าที่น่าสะเทือนใจ กับกรณี "คนตายขายคนเป็น" เมื่อชาวบ้านบางรายต้องสิ้นเนื้อประดาตัว จากการต้องจัดงานศพให้กับสมาชิกในบ้านแต่ละครั้ง ซึ่งต้องใช้ งบประมาณถึง 60,000 ไปจนถึงหลักแสนบาท เพื่อเป็นค่าเหล้าและอาหารเลี้ยงคนในงาน


มิใยพอเหล้าเข้าปาก ก็จำต้องสรรหากับแกล้มประเภทที่เข้าคู่กัน ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นอาหารจำพวกสุกๆ ดิบๆ ยิ่งนำพาให้ไม่ถูกหลักอนามัย ล้วนทำลายสุขภาพทั้งสิ้น


แต่เหตุจากการไปร่วมงานศพของสมาชิกในหมู่บ้านในครั้งกระโน้นได้ จุดประกาย เปลี่ยนชีวิตคนในชุมชน  "บ้านโนนทอง" สู่วิถีใหม่ที่ไร้สิ่งมัวเมาวันนี้


4 บันไดสู่ความสุข สไตล์โนนทอง's way thaihealth


นวัตกรรมสกัด "น้ำเมา"


"พอดีผมไปเจองานศพลูกบ้านคนหนึ่ง เสียชีวิตเขาเป็นคนด้อยโอกาส จนที่สุดในหมู่บ้าน ครอบครัวไม่มีเงินสักบาท จะจัดงาน แต่พอแขกเข้ามาก็เอ่ยปาก คำแรกขอเหล้ากิน ตอนนั้นเราเริ่มฉุกคิดแล้วว่าทำไมจัดงานศพทั้งทีต้องสิ้นเปลืองขนาดนั้น" ศุภเกียรติ โทแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนทอง อ.แวงใหญ่ จ.ขอนแก่น บอกเล่าที่มาของแนวคิด "งานศพปลอดเหล้า" ที่บ้านโนนทอง


นายก อบต.โนนทองเล่าว่า เขาตัดสินใจ นำเรื่องนี้เสนอเข้าสู่ประชาคมหมู่บ้าน  แม้จะเจอเสียงคัดค้านอยู่บ้าง แต่ก็พยายามผลักดันการจัดตั้งอาสาสมัครงานศพปลอดเหล้า (อศล.) เป็นรูปธรรมขึ้น ในปี 2553


คีย์ซัคเซสโครงการนี้คือ การทำงานร่วมกันระหว่างท้องถิ่นและท้องที่ โดยคณะกรรมการยังเชิญคณะสงฆ์ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ชาวบ้านนับถือเข้าร่วมเพื่อเป็น สักขีพยาน ประกาศเจตนารมณ์ "โนนทอง จะจัดงานศพปลอดเหล้า" จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ทั่วตำบล โดยจะมีคณะกรรมการทั้ง 11 หมู่บ้านๆ ละ 7 คน ซึ่งจะใส่เสื้อทีมสีดำคอยทำหน้าที่ช่วยประสานและประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าว


"เวลาที่มีคนเสียชีวิต คณะกรรมการเราจะเดินไปถามเขาว่าจะจัดงานศพ ปลอดเหล้าไหม ให้เขาสมัครใจเลือก  ซึ่งหากชาวบ้านสนใจทางคณะกรรมการ จะทำหน้าที่จัดงานและเตรียมการให้ทั้งหมด ข้อดีของโครงการนี้ คือเราสามารถช่วยชาวบ้านปลดภาระตรงนี้ได้ เครื่องเสียงเรามีให้ฟรีไม่ต้องเสียเงิน น้ำหวานจะถูกจัดวางแทนขวดเหล้า นอกจากนี้ เรายังมีสมทบงบประมาณค่าจัดงานศพให้ บางรายอาจยังได้รับเงินจากกองทุนวันละ 1 บาท"


ปัจจุบันมีชาวบ้านมากกว่า 50 % เลือกที่จะหันมาจัดงานศพปลอดเหล้า สุดท้ายวันนี้ โครงการไม่จำเป็นต้องติดป้ายประชาสัมพันธ์อีกต่อไป แต่คณะทำงานก็ยังไม่หยุดเดินหน้า วันนี้พวกเขากำลังหารือกับท่านพระครูอาคม บุญรักษ์ แห่งวัดสาละวันที่ชาวบ้านนับถือ เตรียมยกระดับสู่ มาตรการใหม่ที่ช่วยกระชับพื้นที่มากขึ้น  นั่นคือ หากครอบครัวไหนไม่จัดงานศพปลอดเหล้า พระในพื้นที่นี้จะไม่รับกิจนิมนต์ แนวคิดที่แม้จะดูสุดโต่ง แต่ทุกคนก็เคารพกติกา เพราะเรื่องนี้ผ่านมติจากในประชาคมหมู่บ้านเรียบร้อยแล้ว


ศุภเกียรติ อธิบายว่า ความมีจุดเด่นในการประชุมประชาคมประจำเดือนของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลโนนทองระหว่างผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก สภาองค์การบริหารส่วนตำบล โรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพตำบล ผู้แทนโรงเรียนในเขตพื้นที่ ทำให้เกิดแนวคิดในการแก้ไขปัญหาของชุมชนต่อเนื่อง จนวันนี้คนโนนทองสามารถบอกเล่าเส้นทางพัฒนาของพวกเขา ก่อนจะก้าวสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้บ้านโนนทอง อย่างเต็มภาคภูมิ


เขายังย้อนความหลังต่อ ถึงความพยายามของชาว อบต.โนนทอง ที่ต้องการหย่าขาดจากเหล้า ว่ามีที่มาเริ่มจากการก่อตั้ง "ชมรมคนรักสุขภาพเลิกเหล้าตลอดชีวิต" ซึ่งมุ่งเน้นสร้างต้นแบบรายบุคคลและรายครอบครัว โดยมีการจัดให้สมาชิกชุนชนที่สมัครใจปวารณาตัวเลิกเหล้าในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งได้คนเลิกเหล้าจำนวน 11 คน ในปีแรก พวกเขาสาบานต่อหน้าพระและ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะเลิกเหล้าตลอดชีวิต


แต่งานรณรงค์ยังดำเนินไปต่อ เพราะปีที่สองโครงการต่อยอดด้วยการให้สมาชิก ที่เลิกได้ 1 คน ชักชวนเพื่อนบ้านอีก 2 คนมาเลิกเหล้า สุดท้าย โครงการสามารถ ขยายผลเป็น "ทีมงานคนเสื้อชมพู" ที่รับรู้กัน ในพื้นที่ว่าคือ "คนต้นแบบที่ประกาศเลิกเหล้า ตลอดชีพ" ซึ่งน่าชื่นใจที่โครงการนี้สามารถชวนชาวบ้านให้เลิกได้แล้วถึง 127 คน


4 บันไดสู่ความสุข สไตล์โนนทอง's way thaihealth


โนนทอง 4 ดี


ตำบลโนนทอง อ.แวงใหญ่ จ.ขอนแก่น มีพื้นที่ทั้งหมด 11 หมู่บ้าน 1,405 ครัวเรือน ประชากร 5,938 คน ได้เริ่มเข้ามาเป็นเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ตั้งแต่ปี 2557 โดยมีอบต.ป่าโมง อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เป็นแม่ข่ายพื้นที่ต้นแบบเรียนรู้ ชุมชนขยายผลสู่การจัดการตนเอง อย่างเป็นรูปธรรม มาตั้งแต่ปี 2539 แต่ถ้าหากย้อนกลับไปนานกว่านั้น  จะพบว่า เส้นทางพัฒนาสร้างความมั่นคงทาง อาหารของพี่น้องโนนทอง นั้นมีจุดเริ่มจากความร่วมมือร่วมใจของพี่น้อง ซึ่งร่วมก่อตั้งกองทุนฉางข้าวบ้านรัตนะวดี ในหมู่ 11  มาตั้งแต่ปี 2528


เสาว์ ดีนอก ผู้ใหญ่บ้านในเวลานั้น เกิดแนวคิดที่ต้องการช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบปัญหาน้ำท่วมหรือภัยแล้ง จึงมีการให้กู้ยืมเมล็ดพันธุ์ข้าว ทั้งเพื่อการบริโภคและเพาะปลูก โดยขอบริจาคข้าวเปลือกจาก สมาชิก ที่ปัจจุบัน มีสมาชิก 109 ครัวเรือน มีข้าวเปลือกสุทธิ 4,000 กิโลกรัม โดยสมาชิก ที่กู้ยืมข้าวเปลือกตั้งแต่ 100 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 200 กิโลกรัม กรณีเพื่อการบริโภคจะคิดดอกเบี้ย 15 กิโลกรัม ส่วนกรณี ยืมข้าวเป็นเมล็ดพันธุ์จะไม่คิดดอกเบี้ย


4 บันไดสู่ความสุข สไตล์โนนทอง's way thaihealth


งานกองทุนข้าวเปลือกเป็นเพียงจุดเริ่มต้นน้อยๆ ที่ยังเชื่อมโยงและขยายต่อสู่งานขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่


นายก อบต.โนนทองยังเผยถึง  4 กระบวนการ ซึ่งคือฐานคิดในการขับเคลื่อน การพัฒนาของโนนทอง ว่าได้แก่ การสร้างการมีส่วนร่วมของ 4 องค์กรหลักในพื้นที่ โดยใช้ประชาชนเป็นตัวตั้ง สองการสร้างบุคคลให้มีจิตอาสา สามการจัดสวัสดิการโดยชุมชนเพื่อชุมชน และสี่ การจัดการพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ซึ่งพื้นที่เข้มแข็งอย่างโนนทองได้ใช้ครบทุกเครื่องมือ


ยกตัวอย่างงานด้านสวัสดิการที่ชุมชนบ้านหนองแซง หมู่ 7 ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ห่างจากอำเภอถึง 26 กิโลเมตร และห่างจากขอนแก่นถึง 110 กิโลเมตร ทำให้เวลาจะซื้อสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นแต่ละครั้ง ชาวบ้านจึงลำบากในการเดินทางเข้าตัวเมือง แต่เมื่อ กอง พิลาวัน ผู้ใหญ่บ้านขณะนั้น และ สุบิน หนันทุม ชาวบ้านจิตอาสาที่มีโอกาสดูงานนอกพื้นที่ จึงนำไอเดียก่อตั้งเป็น "ร้านค้าชุมชนบ้านหนองแซง" ที่เข้ามา ช่วยแก้ปัญหาด้วยการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคแก่สมาชิกเน้นการทำงานโปร่งใสตรวจสอบได้ นอกจากนี้กำไรที่ยังสามารถปันผลให้แก่สมาชิกได้ปีละ 2 ครั้ง จากร้านค้า ชุมชนยังขยายผลสู่การจัดสวัสดิการอื่นๆ ให้สมาชิก อาทิ การจัดสวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์ในอัตราศพละ 1,000 บาท เงินกู้ยืม ในการประกอบอาชีพดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น


นอกจากนี้ ไม่กี่ปีก่อน โนนทองเริ่มก้าวสู่กระแสเกษตรชีวภาพ มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรภายในชุมชนกันเอง โดยมีเป้าหมายคือการปรับปรุงดินและลดการใช้สารเคมีในพื้นที่ จึงเป็นที่มาของ "กลุ่มปอเทือง" พืชที่มีคุณสมบัติสามารถทำเป็นปุ๋ยพืชสด ทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีในการปลูกข้าว โดยชาวบ้านโนนแดง หมู่ 5 นำร่องปลูกปอเทืองหลังเก็บเกี่ยว ในนาข้าว ไม่เพียงสร้างผลผลิตข้าวในพื้นที่ตำบลโนนทองที่เป็นข้าวปลอดสารเคมี สิ่งที่เกิดความคาดหมาย คือไร่ปอเทืองสีเหลืองอร่าม ยังสร้างจุดขายกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ของชุมชน นอกจากนี้ รายได้อีกส่วนยังมาจากการจำหน่ายเมล็ดปอเทืองในราคากิโลกรัมละ 18-20 บาท ปี 2558 ที่ผ่านมาสมาชิก มีรายได้จากการขายเมล็ดพันธุ์เฉลี่ยคนละ 20,000-30,000 บาท


ล่าสุด โนนทองยังคิดการใหญ่ ขยับฐานะสู่การจัดตั้งโรงสีข้าวชุมชนบ้านโนนทองขึ้นเอง ซึ่งเกิดจากการดำเนินงานของศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลโนนทอง  โรงสีชุมชนโนนทองช่วยปลดล็อกปัญหาการกดราคาข้าว ซึ่งจากข้อมูลเกษตรอำเภอที่พบว่าแวงใหญ่สามารถผลิตข้าวได้เฉลี่ยปีละ 35,000 ตัน โดยเป็นข้าวสำหรับประชาชนบริโภคในชุมชนประมาณ 15,000 ตัน เหลือสำหรับจำหน่ายกว่า 20,000 ตัน โดยหากชาวบ้านสามารถแปรรูปใส่บรรจุภัณฑ์ได้เอง ก็จะทำให้ได้กำไรเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาท เมื่อเห็นช่องทางโอกาส ทั้ง  17 วิสาหกิจชุมชนในแวงใหญ่ จึงจับมือกันจัดตั้งโรงสีข้าวชุมชนขึ้น เริ่มดำเนินกิจการเต็มตัวในปี 2558 มีการแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ จำหน่ายข้าวภายใต้แบรนด์ "ปอเทือง"  เดินหน้ากิจการสู่รูปแบบธุรกิจ โดยส่งขายในห้างเซ็นทรัลขอนแก่น และส่งออกให้กับประเทศจีน โดยปี 2559 ที่ผ่านหลังนำรายได้หักค่าใช้จ่ายและเงินกู้ยืมแล้ว ยังมีเหลือเงินปันผลคืนแก่สมาชิกด้วยกำไรสุทธิ 300,000 บาท


4 บันไดสู่ความสุข สไตล์โนนทอง's way thaihealth


'ทุกคนเป็นครู'


ในวันนี้ คือวันที่คนโนนทองจะถูกเรียกจากคนภายนอกว่าเป็น "ศูนย์เรียนรู้การจัดการตนเอง" ภายใต้เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.)


ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. เอ่ยว่า ในอนาคตจะมีคนมาเรียนรู้ที่นี่ ไม่ต่ำกว่า 600 คน โดยผ่านหลักสูตรการเรียนรู้ของศูนย์จัดการเครือข่ายตำบลสุขภาวะซึ่งเป็นหลักสูตรที่จากประสบการณ์ตรง  กับสิ่งที่ชุมชนปฏิบัติในพื้นที่


ด้วยฐานคิดในการขับเคลื่อนการพัฒนา ใน 4 กระบวนการ ซึ่งพื้นที่เข้มแข็งอย่างโนนทองได้ใช้ครบทุกเครื่องมือ  รวมถึงมีศูนย์สนับสนุนทางวิชาการเพื่อ ขับเคลื่อนเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ (ศวภ. อีสาน) สสส. เป็นเสมือนคลังทางวิชาการที่จะให้คำปรึกษา แนะนำ สำหรับการพัฒนาสู่ระบบหลักสูตรการเรียนรู้นี้ยังจะเป็นเครื่องมือเปลี่ยนวิธีคิดแก่ชาวบ้าน เพราะยกจากระดับปฏิบัติการของรู้ชุมชน นำประสบการณ์มาเป็นองค์ความรู้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งการสรุปบทเรียนการจัดการพื้นที่ที่มาต่อยอดสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code