‘4อี’ เพิ่มวันดีๆ ให้ผู้ป่วยโรคหืด
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
"ผู้ป่วยโรคหืด ไม่จำเป็นต้องหอบ" เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยโรคหืดจำนวนมากในประเทศไทยไม่ทราบว่าตนเองป่วย ด้วยโรคนี้ เพราะไม่ได้มีอาการหอบ หรือ บางคนมีอาการไม่รุนแรง จนชาชินกับความหอบ ส่งผลให้ไม่ได้เข้ารับการรักษา จนนำมาสู่การเสียชีวิต ทั้งที่โรคนี้หากมีอาการแล้วพบแพทย์ได้ทันเวลา เกือบ 100% จะไม่เสียชีวิต บวกกับหากคนไข้รับรู้ถึงโรคที่เป็นและปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องก็จะช่วยลดอัตราการหอบ ทำให้มีวันดีๆ ในชีวิตมากกว่าวันแย่ๆ ที่โรคแสดงอาการ
ในการประชุมวิชาการประจำปี 2561 ของสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทยซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด "โรคหืดในทศวรรษใหม่"ศ.นพ.สมเกียรติ วงษ์ทิม นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าอุบัติการณ์ผู้ป่วยโรคหืดในประเทศไทยราว 7% ของ
ประชากรทั้งประเทศ หรือราว 3-4 ล้านคน จากข้อมูลของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าผู้ป่วยโรคหืดมีแนวโน้มเสียชีวิตมากกว่า 2,000 รายต่อปี โดยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตที่บ้านหรือระหว่างเดินทางก่อนพบแพทย์ เพราะหากเข้าพบแพทย์ที่ระบบฉุกเฉินได้ทันเกือบ 100% จะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้
สมาคมเล็งเห็นความสำคัญในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหืด ยกระดับการพัฒนาองค์ความรู้ เสริมสร้างศักยภาพและการเข้าถึงการบริการเพื่อนำไปสู่พัฒนาการด้านการรักษา และจัดการโรคอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดทำแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหืด ฉบับใหม่ ปี 2562 (Thai Asthma Guideline for Adults 2019) ภายใต้ความร่วมมือกับอีก 5 สมาคมวิชาชีพ ได้แก่ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย, สมาคมโรคจมูก, สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืดและวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย, ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย
ผศ.นพ.ธีระศักดิ์ แก้วอัมตวงศ์ เลขาธิการสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในไกด์ไลน์ฉบับใหม่มีส่วนที่เพิ่มเติมแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาอย่างน้อย 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.การรักษาโดยใช้ระบบภูมิคุ้มกัน ด้วยการฉีดวัคซีนภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยโรคหืดที่แพ้สารก่อภูมิแพ้จากไรฝุ่น 2.การส่องกล้องหลอดลมเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคหืดรุนแรง นับเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย และปัจจุบันสามารถดำเนินการได้เฉพาะที่ รพ.จุฬาลงกรณ์
3.การรักษาพร้อมคำแนะนำให้คนไข้ดูแลตนเองด้วยแนวทาง 4 อี (4E) และ 4.ดูแลผู้ป่วยโรคหืดที่เข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน ที่ไม่ควรรักษาเพียงให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นในแต่ละครั้งเท่านั้น แต่ควรส่งผู้ป่วย เข้ารับการประเมินอาการโรคหืดด้วยและต้องมีการติดตามผู้ป่วยต่อเนื่อง
"มีการจัดทำระบบขึ้นทะเบียนผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการรุนแรง เพื่อให้เห็นถึง อุบัติการณ์ ความชุก และหาแนวทางการรักษา ที่เหมาะสม เพื่อลดอาการกำเริบและลดการใช้ งบประมาณในการรักษาลง เพราะผู้ป่วยที่มี อาการรุนแรงจะใช้งบประมาณในการรักษาสูงมาก ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงคือไม่สามารถ ควบคุมอาการได้ มีอาการหอบทุกวัน มักอาการ กำเริบจนต้องมารักษาที่ห้องฉุกเฉินบ่อยครั้งหรือมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ต้องใช้ยาระดับ 4-5 หรือระดับสูง ขณะที่สมรรถภาพของปอดต่ำกว่า 80% เมื่อเทียบกับคนทั่วไป" ผศ.นพ.ธีระศักดิ์กล่าว
ขณะที่ ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกผู้รั้งสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และระบบหายใจ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิม พระเกียรติ แนะนำว่า ผู้ป่วยโรคหืดจะมีช่วงวันดีๆ ที่ใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไปและวันที่มีอาการก็คือหอบ ซึ่งผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากอาการหอบกำเริบเฉียบพลัน มักเป็นกับผู้ป่วยโรคหืดที่มีอาการน้อย เพราะนานๆ จะมีอาการหอบสักครั้ง คนไข้จึงมักจำไม่ได้ ว่าอาการหอบรุนแรงเป็นอย่างไรที่ต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความรู้กับคนไข้ในการดูแลและประเมินตนเองทุกครั้งที่คนไข้มาพบแพทย์
จากการศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสม ปัจจุบันจึงประยุกต์ใช้ทฤษฎี 4Es ที่คิดค้นขึ้นมาเอง โดยให้คนไข้หันมาใส่ใจดูแลตนเอง ได้แก่ 1.ต้องออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ (Exercise) 2.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์(Eating) 3.สิ่งแวดล้อม (Environ ment) คนไข้โรคหืดจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ และ 4.อารมณ์ความรู้สึก (Emotion) ในภาวะที่คนไข้เครียด ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน จะทำให้โรคกำเริบขึ้นมาได้ สิ่งเหล่านี้คนไข้สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เพื่อการดูแลตนเอง ทั้งนี้ได้ทำ เฟซบุ๊คเพจ Asthma Talk by Dr.Ann และแอพพลิเคชั่น Asthma Care เป็นช่องทางในการสอนการปฏิบัติตัวให้กับผู้ป่วยโรคหืดด้วย
ในส่วนของ รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย เล่าว่า จากการดำเนินการคลินิกโรคหืด ที่มีเครือข่ายทั่วประเทศทั้งในระดับโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ พบว่าสัดส่วนของคนไข้โรคหืดทั้งประเทศที่เข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานมีเพียง 30% เท่านั้น โดย เป้าหมายสำคัญต้องทำให้คนไข้โรคหืด มีอัตราการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเข้าใกล้ศูนย์ครั้ง
"ผู้ป่วยโรคหืดไม่จำเป็นต้องหอบ ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคหืด และบางคนก็ ชาชินกับอาการหอบจนเป็นเรื่องปกติ ไม่คิดว่าตนเองจะต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ เพราะเมื่อซื้อยาขยายหลอดลมมาใช้เองแล้วอาการก็หาย ซึ่งโรคนี้อาจรักษาไม่หายขาด แต่ในการรักษาของแพทย์จะช่วยให้โรคสงบ คนไข้สามารถหยุดยาได้ ใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป ซึ่งโรคอาจจะสงบตลอดชีวิตก็คือการหายจากโรค หรืออาจกลับมามีอาการอีกได้ ไม่มีใครบอกได้ จึงอยากให้แนะนำให้ผู้ที่ไม่ได้มีอาการหอบแต่ต้องใช้ยาขยายหลอดลมควรไปรับการประเมินจากแพทย์" รศ.นพ.วัชรา กล่าว
ท้ายที่สุด ศ.นพ.สุชัย เจริญ รัตนกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอแนะว่า เป้าหมายในการดูแลผู้ป่วยโรคหืด คือ อยากเห็นคนไข้มีแต่วันดีๆ ไม่มีวันเลวๆ ที่มีอาการหอบ สามารถใช้ชีวิตปกติได้ ไม่ต้องหยุดเรียน หยุดทำงาน ไม่ต้องเข้ารักษาตัวในห้องฉุกเฉิน ซึ่งสามารถได้ไม่ยากใน 2 ข้อ คือ 1.ระดับจุลภาค คนไข้มีวินัยในการดูแลตนเอง เช่นใช้ยาโดยเฉพาะยาควบคุมอาการขณะที่ไม่มีอาการอย่างต่อเนื่อง และ 2.ระดับมหภาค จะต้องจัดให้มีคลินิกโรคหืดในทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ รวมถึงจัดงบประมาณและบุคลากรสนับสนุนด้วย