ชู นวัตกรรม “ตลาดเขียว” กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน หนุน เกษตรกรรายย่อย ทางเลือกสุขภาพดีสำหรับผู้บริโภค

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                    สสส. สานพลัง เครือข่ายตลาดเขียว ชู นวัตกรรมทางสังคม “ตลาดเขียว” สร้างความรอบรู้ด้านอาหาร-ฟื้นเศรษฐกิจ หนุน เกษตรกรรายย่อยด้วยมาตรฐาน PGS ผู้บริโภคมีทางเลือกสุขภาพดี ลุยขยายผล จัดทำคู่มือส่งต่อความรู้ทั่วประเทศ มุ่งสร้างระบบนิเวศอาหารปลอดภัยยั่งยืน

                    เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2565 ที่ City farm market จ.นนทบุรี ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า   สสส. ร่วมกับ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา “พลังตลาดเขียว ระบบนิเวศอาหารปลอดภัย” ภายใต้แนวคิดพลเมืองอาหาร ชุมชนอาหาร และระบบอาหารที่ยั่งยืน ขยายผลนวัตกรรม “ตลาดเขียว” แหล่งผลิต จำหน่าย ให้บริการอาหารสุขภาพ ผัก ผลไม้ปลอดภัย/อินทรีย์ พร้อมผลักดันกลไกการกระจายผลผลิตของเกษตรกรอินทรีย์รายย่อยด้วยมาตรฐานการรับรองอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System : PGS) อาทิ PGS ตลาดสุขใจ PGS Thai Green Market ทำให้เกิดตลาดเขียวต้นแบบ 88 แห่ง ใน 19 จังหวัด และขยายผลผ่านการขับเคลื่อนนโยบายโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย    ทำให้เกิดตลาดเขียวในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีกกว่า 338 แห่ง

                    “ตลาดเขียว เป็นนวัตกรรมการสร้างความรอบรู้ด้านอาหาร สานสัมพันธ์ผู้ผลิตและผู้บริโภค ทำให้มีโอกาสรู้จักที่มาของอาหาร เข้าใจกระบวนการผลิต เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ที่ส่วนใหญ่เป็นตลาดที่เกษตรกรและชุมชนเป็นผู้ประกอบการเอง พึ่งพาตนเอง ทุกคนร่วมเป็นเจ้าของ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระบบนิเวศอาหารปลอดภัย กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน ทั้งนี้ สสส. อยู่ระหว่างการพัฒนาคู่มือการจัดการตลาดเขียวเชิงนวัตกรรมสังคม สร้างโอกาสการมีส่วนร่วม ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ขยายผลพื้นที่อาหารปลอดภัยทั่วประเทศ” ทพญ.จันทนา กล่าว

                    นางวัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด ผู้จัดการโครงการบูรณาการเพื่อหนุนเสริมยุทธศาสตร์แผนอาหารและร่วมกับภาคีเพื่อการขยายผลระบบอาหารสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ตลาดเขียว นอกจากการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ยังส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต ผลผลิตการเกษตร เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ มาจากการผลิตที่ดีในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ส่วนอาหารพร้อมทานใช้วัตถุดิบที่รู้แหล่งที่มา คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ราคาเป็นธรรม สร้างการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ 4 ดี 1. ดีต่อสุขภาพร่างกาย 2. ดีต่อเศรษฐกิจของย่าน ชุมชนท้องถิ่น 3. ดีต่อสังคม มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน 4. ดีต่อสิ่งแวดล้อม ใส่ใจธรรมชาติ ลดขยะของเสียและพลังงาน

                    “ความสำเร็จของนวัตกรรมตลาดเขียว วัดผลจากคุณภาพ 2 ข้อ 1. มีผลผลิตที่ดีสู่ตลาดเขียว อย่างต่อเนื่อง 2. การเชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นชุมชนอาหาร เหล่านี้จะถูกบันทึกและทำการศึกษาวิเคราะห์ ให้เห็นเป้าหมายการทำงานตลาดเขียว มีหลักการ แนวปฏิบัติหรือกิจกรรมอย่างไร เช่น การลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพตลาดเขียว อบรมให้ความรู้ผู้ผลิต กิจกรรมให้ความรู้ผู้บริโภค นำไปสู่การถอดบทเรียนตลาดเขียว ใช้เป็นแนวทางหรือแนวปฏิบัติสำหรับกลุ่มคนหรือองค์กรที่สนใจจะริเริ่มทำตลาดเขียวต่อไป” นางวัลลภา กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code