3 วิธี เลี่ยงสมองเสื่อม-อัลไซเมอร์
ที่มา : ข่าวเพื่อสื่อมวลชน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
กรมการแพทย์แนะบันได 3 ขั้น บำรุงรักษา พัฒนาสมอง ห่างไกลสมองเสื่อมอัลไซเมอร์
โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ เกิดจากการตายของเซลล์สมองทำให้การทำงานของสมองเสื่อมถอยลง ส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน พบ 1 ใน 9 คน ในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และ 1 ใน 3 คน ในผู้ที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไป กรมการแพทย์แนะบำรุงรักษาสมอง ป้องกันอัลไซเมอร์ ด้วยหลักบันได 3 ขั้น
นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ เป็นภาวะสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการตายของเซลล์สมองทำให้การทำงานของสมองเสื่อมถอยลง จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน ภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์จะมีการดำเนินของโรคแย่ลงเรื่อยๆ เนื่องจากความเสียหายของเซลล์สมองที่ตายเพิ่มมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้ เมื่ออาการของโรคดำเนินไประยะหนึ่งผู้ป่วยจะเริ่มสูญเสียความเป็นตัวเองและความสามารถในการดูแลตัวเองจะน้อยลงไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ เป็นภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยมากที่สุดโดยมีปัจจัยที่เป็นเหตุส่งเสริม คือ อายุมากกว่า 65 ปี และกรรมพันธุ์ เช่น มีบิดามารดาป่วยเป็นโรคนี้ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 1 ใน 9 คน จะมีภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ในขณะที่ผู้ที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไป 1 ใน 3 คน มีภาวะเสี่ยงอัลไซเมอร์เช่นกัน
นายแพทย์อุดม ภู่วโรดม ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา เปิดเผยว่า อาการของโรคนี้แบ่งเป็น 3 ระยะ
คือ 1.ระยะเริ่มต้น มีอาการเฉยเมย สูญเสียความจำระยะสั้น พฤติกรรมเปลี่ยนไป นึกคำพูดไม่ออก 2.ระยะกลาง ผู้ป่วยจะมีอาการเห็นภาพหลอน อารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรง สูญเสียความจำระยะยาว สูญเสียความสามารถในการใช้ภาษา 3.ระยะรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการเฉยเมยอย่างรุนแรงไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ สูญเสียความสามารถในการสื่อสารและต้องอาศัยผู้ดูแล 100% ทั้งนี้ สามารถบำรุงรักษาสมอง ป้องกันอัลไซเมอร์ ด้วยหลักบันได 3 ขั้น คือ 1.บันได: ขั้นพื้นฐาน ต้องดูแลระบบไหลเวียนเลือดให้ดี ให้ร่างกายรับออกซิเจน พลังงานและสารอาหารอย่างพอเหมาะ ควบคุมน้ำหนักตัว อย่าให้มีไขมันในเลือดสูง และออกกำลังกายสม่ำเสมอ 2.บันได : ขั้นกลาง รักษาสุขภาพ เลิกบุหรี่ สุรา และยาเสพติด ทำจิตใจให้เบิกบาน เอื้อเฟื้อผู้อื่น ช่วยเหลือสังคม ชื่นชมคนดี มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ และ 3.บันได : ขั้นสูง ฝึกจำให้ได้ โดยตั้งใจจำ หาเทคนิคช่วยจำ ทำการทบทวน และที่สำคัญควรฝึกเพื่อลดสนิมในสมอง โดยคิดเลขที่ไม่ยากนัก เล่นเกมต่างๆ และบริหารสมองด้วยกิจกรรม เช่น วาดรูป ประดิษฐ์สิ่งของ เล่นปริศนาอักษรไขว้ รวมทั้งทำงานที่เคยทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปลีกตัว และฝึกสมาธิ หากปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวก็จะมีสมองดีสดใส จำได้ คิดดีมีเหตุผล ห่างไกลโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์