20 ปีความเหลื่อมล้ำไทยเหมือนเดิม
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ รร.รามาการ์เด้นส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีนโยบายสาธารณะ หัวข้อ “สองทศวรรษแห่งการพัฒนาของสังคมไทย : นัยยะต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะ”
นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวตอนหนึ่งว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นมากแทบทุกด้านเพราะขนาดของครัวเรือนเล็กลง ทำให้การศึกษาดีขึ้นทั้งในเมืองและชนบท รวมทั้งมีเครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น มีตัวเลขรายได้ต่อหัวของครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากกว่ารายจ่ายต่อหัว และมีตัวเลขคนจนลดลง โดยสาเหตุหลักมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและสาเหตุรองมาจากนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน เช่น เบี้ยคนชรา โครงการอาหารกลางวัน หลักประกันสุขภาพที่เห็นได้ชัดหลังจากปี 2542 นโยบายนี้ช่วยลดจำนวนคนจนลงเกือบ 7.5 แสนคน
“ที่น่าสนใจคือจากการศึกษาพบว่า ตัวเลขความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้มีค่อนข้างสูงและมีแนวโน้มขึ้นๆ ลงๆ ตั้งแต่ปี 2535 แต่หลังจากนั้นความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยก็ยังคงระดับสูง หรือแทบไม่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา และมีข่าวร้ายเรื่องการกระจายรายได้ เพราะยังพบตัวเลขคนรวยยังคงมีรายได้ในระดับสูง หรือสูงกว่าคนจนกว่า 14 เท่า ดังนั้น จึงถือว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำไม่ได้ลดลงเลย เพราะรายได้ยังคงมีการกระจุกเช่นเดิม ถ้ามีการพัฒนาที่ดีจะไม่เป็นอย่างนี้” นายนิพนธ์กล่าว
ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวด้วยว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความเสียเปรียบเรื่องการศึกษาในเมืองกับชนบทแทบไม่มี แต่น่ากังวลคือ ผู้มีการศึกษาต่ำส่วนใหญ่ทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่มีรายได้ไม่มั่นคงและยังคงรายได้ต่ำ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์