2 ชายหาดดังพิษควันบุหรี่สูง 27 เท่า
ที่มา : มติชน
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
นักวิชาการเผย ปชช.รับผลกระทบควันบุหรี่มือสองที่ชายหาดสูงกว่าปกติถึง 27 เท่า พนง.โรงแรมเกาะสมุยชี้พฤติกรรม ชาวยุโรปทิ้งก้นบุหรี่โดยดับทิ้งใส่ลงภาชนะ ผิดกับคนเอเชีย ทิ้งเกลื่อนชายหาด
ความคืบหน้ากรณีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เตรียมออกมาตรการห้ามสูบบุหรี่บนชายหาด โดยจัดพื้นที่สูบไว้ให้เป็นการเฉพาะ นำร่องบนชายหาดแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม 20 แห่ง อาทิ หาดแม่พิมพ์ จ.ระยอง, หาดแหลมสิงห์ จ.จันทบุรี, หาดชะอำ จ.เพชรบุรี, หาดเขาตะเกียบ หาดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, หาดบางแสน หาดพัทยา หาดจอมเทียน จ.ชลบุรี, หาดบ่อผุด เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี, หาดทรายรี จ.ชุมพร, หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต หาดเกาะไข่นอก เกาะไข่ใน จ.พังงา และหาดสมิหรา จ.สงขลา เป็นต้น โดย ทช.จะอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 จัดระเบียบห้ามสูบบุหรี่ในบริเวณชายหาด เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยในอนาคตจะประกาศเต็มรูปแบบทั่วทุกหาดนั้น
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม รศ.นิภาพรรณ กังสกุลนิติ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ในฐานะหัวหน้านักวิจัยโครงการศึกษาการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองของผู้ที่พักผ่อนในบริเวณชายหาด 2 แห่งที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย ปี 2560 (ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Public Health, Oxford University Press, available online September 2017) งานวิจัยนี้ สนับสนุนโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำการสำรวจการได้รับควันบุหรี่มือสองบริเวณชายหาดโดยการตรวจวัดปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก (2.5 ไมครอน) เป็นตัวชี้วัดถึงการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองบริเวณที่พักผ่อนใต้ร่มและเก้าอี้ผ้าใบ โดยจุดตรวจวัดอยู่ใกล้กับผู้สูบบุหรี่ในทิศทางใต้ลมของผู้สูบบุหรี่ ผลการตรวจวัดใน 2 ชายหาด ได้พบปริมาณฝุ่นขนาดเล็กมีค่าเฉลี่ย 260 และ 504 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และพบค่าสูงสุดถึง 716 และ 1,335 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยกำหนดปริมาณฝุ่นขนาดเล็กไว้ที่ 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. พบมีปริมาณฝุ่นขนาดเล็กสูงกว่ามาตรฐานกำหนดหลายเท่าสูงถึงประมาณ 27 เท่า ดังนั้นคุณภาพอากาศในบริเวณดังกล่าวจึงไม่เหมาะสมกับการเป็นชายหาดมีชื่อเสียงซึ่งผู้คนมาพักผ่อน และที่สำคัญเป็นการแสดงถึงการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองอย่างมาก
"จากการลงภาคสนามพบเด็กจำนวนมากอยู่ในบริเวณนั้นด้วย ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับมาตรการที่ ทส.กำลังเตรียมออกระเบียบห้ามสูบบุหรี่ในบริเวณชายหาด เพื่อลดควันบุหรี่มือสองซึ่งทำลายสุขภาพด้วย" รศ.นิภาพรรณกล่าว
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ชายหาดเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นชายหาด 1 ใน 20 ชายหาดที่ได้อยู๋ในข่ายจัดระเบียบการสูบบุหรี่ให้เป็นชายหาดปลอดจากการสูบบุหรี่และเป็นชายหาดที่สวยที่สุดและมีชื่อเสียงอันดับต้นของเกาะสมุย พบว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากสูบบุหรี่บริเวณเตียงนอนอาบแดดริมชายหาดตามปกติ โดยมีพนักงานของสถานประกอบการที่ให้บริการคอยเก็บกวาดขยะและก้นบุหรี่บนชายหาดเป็นระยะๆ เมื่อสอบถามผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ทราบว่าจะมีการนำ พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรชายทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดระเบียบห้ามสูบบุหรี่ในบริเวณชายหาดมาบังคับใช้ ในต้นเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่จะถึงนี้
พนักงานของโรงแรมแห่งหนึ่งบอกว่า การบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่กลับเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ชายหาดสะอาดขึ้น พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจากยุโรปจะมีระเบียบ สังเกตได้จากการทิ้งเศษก้นบุหรี่ที่สูบแล้วจะดับแล้วทิ้งในภาชนะที่จัดเตรียมไว้ให้ บางคนก็จะเก็บเศษก้นบุหรี่ใส่ภาชนะของตัวเองก่อนนำไปทิ้งในถังขยะซึ่งเป็นเรื่องปกติ
"แต่มองว่าปัญหาที่พบกับนักท่องเที่ยวชาวเอเชียและคนไทยที่มาเดินเล่นบริเวณชายหาดมักจะทิ้งก้นบุหรี่ลงบนชายหาดและในทะเล ทำให้ภาพที่คลื่นซัดเข้าฝั่งจะมีเศษก้นบุหรี่ดูไม่สวยงาม อย่างไรก็ตามก็พร้อมที่จะประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบโดยทั่วกัน" พนักงานโรงแรมกล่าว