180 นาทีทอง อย่าให้จอครองลูก

ที่มา : หนังสือเรื่อง เล่นให้ได้เรื่อง พ่อแม่ 4.0 รู้ทันเรื่องเล่นเจนอัลฟ่า


180 นาทีทอง อย่าให้จอครองลูก thaihealth


แฟ้มภาพ


การเล่น คือการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ในทุก ๆ วัน ผ่านการเล่น ทั้งของเล่นที่มาจากธรรมชาติ เช่น หิน ไม้ ทราย น้ำ หรือของเล่นเสริมจินตนาการ เช่น เล่านิทาน, เล่นตุ๊กตา, วาดภาพ และการปั้น รวมไปถึงของเล่นเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย เช่น เล่นลูกบอล, เล่นน้ำในสระ โดยมีผู้ใหญ่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด


การเล่นของลูกในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยพัฒนาร่างกาย สมอง จิตใจ อารมณ์ สังคม และภาษา ให้กับลูก ๆ ซึ่งสามารถนำไปทำได้ง่าย ๆ โดยในส่วนปริมาณการเล่นนั้น มีข้อแนะนำให้เด็กปฐมวัย (0-6 ปี) ให้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การยืน, เดิน, กระโดด, ปั่น, วิ่ง และปีน อย่างน้อย 180 นาทีต่อวัน


และมีการใช้กล้ามเนื้อทั้งมัดเล็ก เช่น นิ้วมือ และมัดใหญ่ เช่น แขน ขา ในกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงให้ลดเวลาที่นั่งอยู่กับที่ โดยให้มีการขยับเคลื่อนไหวร่างกายทุกหนึ่งชั่วโมงของการนั่ง เพื่อให้ร่างกายมีความแข็งแรง และกระตุ้นการเจริญเติบโตของลูกจากการได้ขยับร่างกาย


นอกจากนี้ยังแนะนำให้งดการใช้โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือโทรทัศน์ ที่มีภาพเคลื่อนไหว ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี และใช้ได้อย่างจำกัด วันละไม่เกิน 15 นาที ในเด็กที่อายุ 2 ปี ขึ้นไป เนื่องจากจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกาย, ภาษา, สมาธิ, อารมณ์ และสังคม


เนื่องจากเป็นการสื่อสารทางเดียว เด็กไม่สามารถโต้ตอบได้ และความเร็วของภาพบนจอไวเกินกว่า ที่สมองของเด็กจะประมวลผลได้ทัน ส่งผลต่อสมาธิและการรับรู้ พ่อแม่ควรชวนลูกไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ที่ส่งผลดีต่อลูกมากกว่าเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

Shares:
QR Code :
QR Code