16 องค์กรผนึกกำลัง เปิดตัวคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อฯ
วันที่ 29 มีนาคม มูลนิธิผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายนักวิชาการด้านสื่อ นักกฎหมาย นักวิเคราะห์สังคม-การเมือง นักกิจกรรมด้านสิทธิสตรี เด็กและเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค แถลงข่าวเปิดตัว “คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน” ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) เพื่อผนึกกำลังเฝ้าระวังสื่อ และผลักดันให้เกิดกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อของประชาชนอย่างแท้จริง
โดยมี นางสุวรรณา จิตประภัสสร์ นางสุมณฑา ปลื้มสูงเนิน น.ส.ณัฐยา บุญภักดี น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ นายธาม เชื้อสถาปนศิริ กรรมการกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน ร่วมแถลงข่าว
นางสุวรรณา จิตประภัสสร์ กล่าวว่า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชนชุดนี้มาจาก 16 องค์กร ประกอบด้วย เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านเด็กและเยาวชน เครือข่ายสตรี เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค นักวิชาการ สภาวิชาชีพด้านสื่อ 2 องค์กรที่ร่วมมือกัน เนื่องจากปัจจุบันการได้รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อทุกช่องทางบางครั้งไม่ครบถ้วน และละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจากการรายงานข่าว อาทิ ข่าวอาชญากรรม ที่ละเมิดสิทธิเด็กและสตรี เนื้อหาละครที่มีความรุนแรง หยาบคาย ลามก รวมถึงการโฆษณาแฝงที่ครอบงำความคิดของประชาชน
“คณะกรรมการฯ จะทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องเรียนจากประชาชนที่ถูกละเมิด และเมื่อมีการพิจารณาว่าส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมแล้ว จะดำเนินการเป็นขั้นตอน นอกจากนั้นยังทำการตรวจสอบ ติดตามการทำงานของสื่อ เพื่อเตือนให้ประชาชนทราบข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสม พร้อมทั้งสะท้อนความคิดเห็น ข้อร้องเรียนของประชาชนไปยังสื่อและสภาวิชาชีพด้านสื่อ เพื่อให้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไข ในทิศทางที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม”
นางสุวรรณา กล่าวต่อว่า มีเครือข่ายผู้บริโภคนำร่อง 11 จังหวัด 5 ภาค คือในจังหวัดลำปาง เชียงราย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ตราด สระบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สุราษฎร์ธานี ตรัง และกรุงเทพฯ ดูแลประเด็นเนื้อหาในการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นสื่อภาคประชาชน ทั้งวิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี อินเทอร์เน็ต ทีวีดาวเทียม สื่อสิ่งพิมพ์ และฟรีทีวี ทำให้มั่นใจได้ว่าการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อถ้าได้พลังประชาชน และพลังผู้บริโภคสื่อจะทำให้การคุ้มครองมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้านนายธาม เชื้อสถาปนศิริ กล่าวว่า งานวิจัยที่ผ่านมาพบกรณีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าวถูกข่มขืน ที่ได้รับผลกระทบต้องตกอยู่ในภาวะลำบากจากการนำเสนอข่าวของสื่อที่รุกล้ำ และละเมิดสิทธิส่วนตัวของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ สะท้อนให้เห็นว่าตัวสื่อมวลชนยังคงมีความคิดเดิมๆ ต่อวิธีการทำข่าวอาชญากรรมที่ต้องทำให้เห็นภาพชัดเจน ซึ่งเป็นทัศนคติที่ผิดต่อการทำงาน
ขณะที่นางสุมณฑา ปลื้มสูงเนิน กล่าวว่า ในมิติของเด็กและเยาวชนเป็นผู้บริโภคตัวยง โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ตที่สำรวจพบว่า ในช่วงปิดเทอมพบว่าเด็กและเยาวชนจะใช้เวลากับสื่อวันละ 15-17 ชั่วโมง และพบว่ามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก มีความรุนแรง เรื่องเพศ และที่สำคัญไม่มีช่องทางที่จะร้องเรียน สื่อสารให้กับผู้ประกอบการได้รับทราบ จึงคิดว่าสำหรับเด็กและเยาวชนแล้วช่องทางการตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ นี้ มีความสำคัญค่อนข้างมาก เพราะเรื่องเหล่านี้ยังไม่มีเกิดขึ้น
ส่วน น.ส.ณัฐยา บุญภักดี กล่าวว่า สำหรับในมิติผู้หญิงกับผลกระทบจากสื่อมีหลายมิติ แต่ที่เห็นได้ชัดคือ กรณีที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศแล้วเป็นข่าว ซึ่งมีผลทำให้ผู้หญิงไม่กล้าเปิดเผย ทำให้ผู้ที่ทำผิดไม่ได้รับการลงโทษ ฉะนั้น สื่อจะต้องมีความเข้าใจ ละเอียดอ่อน และเป็นมิตรกับผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศแล้วต้องการดำเนินคดี
“บ่อยครั้งที่บันทึกปากคำของตำรวจถูกนำมาเป็นข่าว ทำให้ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศเหมือนถูกกระทำอีกทอดหนึ่ง เป็นเหยื่อซ้ำบนหน้าหนังสือพิมพ์และทีวี รวมถึงสื่อออนไลน์ที่ผลิตซ้ำ ขยายบาดแผลอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง การดำเนินคดีไม่ควรจะไปให้ความสนใจกับผู้เสียหาย และรายละเอียดของเหตุการณ์มากนัก ควรจะลงเป็นการเตือนต่อสังคมเกี่ยวกับสถานที่และอันตรายมากกว่า ดังนั้น คณะกรรมการภาคประชาชนชุดนี้จะคุ้มครองสิทธิในการบริโภคสื่อ ที่เป็นอีกกลไกหนึ่งในการช่วยให้ปัจเจกบุคคลไม่ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความเสียหายด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะต่อสู้กับผู้ผลิตสื่อ คณะกรรมการฯ จะเป็นกลไกที่ช่วยอำนวยความสะดวก และเป็นมืออาชีพที่จะทำความเข้าใจกับสื่อ รวมถึงสาธารณะให้เห็นถึงผลกระทบ” น.ส.ณัฐยา กล่าว
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กล่าวว่า การตั้งกลไกนี้สำคัญ เพราะที่ผ่านมายังไม่มีกลไกที่ชัดเจน แม้ว่าจะมีองค์กรวิชาชีพทำอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถตอบสนองได้ รวมถึงระยะนี้มีความคิดหลายแนว เช่น เสนอให้มีการกำกับร่วม หากการกำกับกันเองไม่ได้ผล อาจจะต้องตั้งคณะกรรมการจริยธรรมภายในองค์กรสื่อ หรือ news ombudsman เพื่อลงดาบผู้กระทำผิด
“ส่วนตัวมองว่าท้ายที่สุดจะการจัดตั้งองค์กรต่างๆ เหล่านี้จะไม่สำเร็จเท่าใดนัก แต่ถ้ากลไกผู้บริโภคเข้มแข็งจะเป็นคำตอบของหลายๆ เรื่อง เพราะการที่เอาอำนาจไปให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งก็อาจจะถูกดึงไปข้องเกี่ยวกับการเมือง หรือมีอคติได้ สิ่งที่จะกำกับสื่อได้มากกว่าคือพลังของพลเมือง ฉะนั้น กลไกนี้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเวทีที่เป็นระบบ เชื่อมต่อกับ กสทช. ในอนาคตที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง ในการกำกับเรื่องใบอนุญาต และเป็นการทำงานที่เชื่อมให้องค์กรต่างๆ มาหารือร่วมกัน” น.ส.สุภิญญา กล่าว
ที่มา: สำนักข่าวสถาบันอิศรา