15 หน่วยงานเฝ้าระวังอาการทางจิตจากยาเสพติด

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเททธุรกิจ


ภาพประกอบจาก สสส.


15 หน่วยงานเฝ้าระวังอาการทางจิตจากยาเสพติด thaihealth


หากจะเอ่ยว่าหลายกรณีข่าวร้ายที่ปรากฏบนพื้นที่สื่ออย่างต่อเนื่อง รวมถึงในบางกรณีเกิดขึ้นกับผู้มีชื่อเสียงในสังคมที่คนส่วนใหญ่รู้จัก อาจเป็นอีกสาเหตุที่กำลังทำให้สังคมไทยเริ่มตื่นตัวและเห็นความสำคัญของโรคทางใจมากขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ผิด


อีกทั้งประเด็นที่หลายฝ่ายต่างยอมรับกันมากขึ้นว่า นอกจากสารเคมีในสมองที่ทำงานผิดปกติแล้ว การใช้สารเสพติดก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะอาการทางจิตได้เช่นกัน ข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้ 15  หน่วยงานในประเทศไทย ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน แห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมประชาสัมพันธ์ จึงร่วมกันจัด "พิธีลงนามบันทึก ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ เพื่อการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหา ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตอันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติด" เพื่อร่วมกันลดจำนวนผู้ป่วยและคุ้มครองผู้ที่มีภาวะทางจิตจากการใช้สารเสพติดให้ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง สู่เป้าหมายการส่งกลับคืนเป็นพลเมืองในสังคม


15 หน่วยงานเฝ้าระวังอาการทางจิตจากยาเสพติด thaihealth


พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และประธานกรรมการผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ กล่าวว่า ยาเสพติดเป็นภัยร้ายที่ทำลายชีวิตและคนใกล้ชิดที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เสพมักจะได้รับผลกระทบทางร่างกายและระบบสมองจนเกิดอาการทางจิต จนนำไปสู่พฤติกรรมการใช้ความรุนแรง คลุ้มคลั่ง หวาดระแวง หลอน ที่จะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนในสังคม จึงมีคำสั่งที่ ศอ.ปส.ที่ 6/2561 เรื่องการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ปัญหาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตจากการใช้ยาเสพติด เพื่อลดผลกระทบของผู้ใช้ยาเสพติดบางรายที่มีผลกระทบ ต่อสังคม จนนำมาสู่การลงนามความร่วมมือ ของ 15 หน่วยงาน ที่ร่วมกันเสริมพลังศักยภาพและทรัพยากรที่แต่ละองค์กร มีเพื่อเป็นกลไกในการแก้ปัญหา


15 หน่วยงานเฝ้าระวังอาการทางจิตจากยาเสพติด thaihealth


ขณะที่ นิคม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า การลงนามฯ ครั้งนี้มีสาระสำคัญในการกำหนดกลไกในการดำเนินการป้องกัน เฝ้าระวัง การเผชิญเหตุ การส่งต่อรักษา และการติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งกรมสุขภาพจิตคาดการณ์ว่าประเทศไทยมีคนติดสารเสพติดประมาณ 300,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้มีโอกาสเกิดภาวะโรคทางจิตเวชประมาณ 21,000 -45,000 คน และกว่า 3,000 รายเป็นผู้มีภาวะเสี่ยงต่อพฤติกรรมรุนแรงที่ยังไม่รับการรักษา และศูนย์ปฏิบัติการสำนักงาน ป.ป.ส. ยังพบข้อมูลการรายงานข่าวว่า ในปี 2560-2561 มีผู้มีอาการทางจิตหรือผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้สารเสพติดก่อเหตุในสังคมถึง 323 ราย ส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับการปล้น ชิงทรัพย์ ทำลายข้าวของ และวางเพลิง 111 ราย ก่อเหตุทำร้ายตนเองและ ผู้อื่น 92 ราย ก่อเหตุฆ่าผู้อื่นและฆ่าตัวตาย 73 ราย ก่อเหตุข่มขืน อนาจาร ล่วงละเมิดทางเพศ 19 ราย และก่อเหตุอื่น ๆ อีก  26 ราย


15 หน่วยงานเฝ้าระวังอาการทางจิตจากยาเสพติด thaihealth


ส่วนตัวแทน 1 ใน 15 องค์กร อย่าง สสส. นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และประธานบริหารแผนที่ 1 แผนควบคุมยาสูบ สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. ขับเคลื่อนงานเรื่องปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ทั้งแอลกอฮอล์ บุหรี่ และยาเสพติด โดยมีแผนงานวิชาการเรื่องสารเสพติด ที่ดำเนินการร่วมกับภาคีมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแกนหลักในการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ ในด้านสุขภาพจิต สสส. เข้าไปสนับสนุนกรมสุขภาพจิตในการหารูปแบบจัดตั้งหน่วยบริการการบำบัดสารเสพติด แอลกอฮอล์ และบุหรี่ ทำให้พบปัจจัยสำคัญว่าครอบครัวและชุมชนเป็น ส่วนสำคัญที่มีผลต่อการเข้ารับบำบัด ซึ่งสอดคล้องกับภาระหน้าที่การลงนามความร่วมมือในการสนับสนุนพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการที่เกี่ยวข้อง


15 หน่วยงานเฝ้าระวังอาการทางจิตจากยาเสพติด thaihealth


"สสส. หวังเห็นเด็ก เยาวชน และพลเมืองไทยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีสุขภาพจิตใจที่หนักแน่นเข้มแข็ง ห่างไกลอบายมุข แอลกอฮอล์ บุหรี่  ยาเสพติด และการพนันต่าง ๆ เพื่อสร้างประชากรที่มีคุณภาพ ซึ่งการลงนามความร่วมมือครั้งนี้แต่ละหน่วยงานมีกลไกขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับนโยบายสู่ระดับชุมชน เชื่อว่าจะเกิดผลดีในระดับประเทศ" นพ.คำนวณ ทิ้งท้าย


ถือได้ว่าความร่วมมือจาก 15 หน่วยงานในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการผนึกกำลังเฝ้าระวัง ป้องกัน และส่งต่อ ผู้ที่มีอาการทางจิตจากการใช้ยาเสพติดให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างเร็ววันแล้ว  จะเป็นการจุดประกายให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการทำงานแบบบูรณาการงานร่วมกันเพื่ออุดช่องโหว่ปัญหาต่าง ๆ ที่ยังอยู่ในสังคมอีกด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code