11 ประเทศเอเชียผนึกกำลังรับวิกฤติโรคแห่งศตวรรษที่ 21

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


11 ประเทศเอเชียผนึกกำลังรับวิกฤติโรคแห่งศตวรรษที่ 21 thaihealth


"ผมเดินไม่ได้ หายใจก็ไม่สะดวก ต้องกินแต่ยา ผมมีชีวิตอยู่เพื่อรอความตายเท่านั้น" อนิล คนขับรถแท็กซี่ ชาวเมืองเบงกาลูรู ประเทศอินเดียวัย 55 ปี กล่าวอย่างสิ้นหวัง


ระหว่างเล่าเสียงของเขาขาดหายไป เป็นช่วง ๆ เพราะจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนเพื่อช่วยหายใจมาหลายปี นับตั้งแต่ ล้มป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นผลพวงจากพฤติกรรมที่ทำต่อเนื่องหลายสิบปี "สูบบุหรี่" "กินอาหารไม่เป็นเวลา" และ "ตามใจปาก" ส่งผลให้อนิลต้องเผชิญ ทั้งความอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจถามหา แย่ที่สุดคือเขาต้องถูกตัดขา ไม่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ ทำให้ภาระทั้งหมดจึงตกอยู่กับภรรยาและลูก


อนิลคือตัวอย่างของผู้ป่วยติดเตียง ที่ต้องทุกข์ทรมานด้วย "โรคเรื้อรัง ไม่ติดต่อ" หรือ NCDs โรควิกฤติแห่งศตวรรษที่ 21 ที่กำลังคุกคามสุขภาพของประชากรประเทศรายได้น้อยถึง ปานกลาง ผ่านรูปแบบของพฤติกรรมการดำรงชีวิตและอาหารการกิน


"8.8 ล้านคน" หรือเฉลี่ยเท่ากับ "24,000 คนต่อวัน" คือตัวเลขที่องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า เป็นกลุ่มประชากรในภูมิภาคเอเชียใต้ และตะวันออกต้องเสียชีวิตด้วย NCDs ในแต่ละปี


ขณะที่อีก "130 ล้านคน" กำลัง สุ่มเสี่ยงป่วยด้วยโรค NCDs ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และโรคมะเร็ง


ความท้าทายของวิกฤติสุขภาพนี้ ได้ถูกหยิบยกในการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกเพื่อการป้องกันและการควบคุมโรคไม่ติดต่อภายใต้บริบทการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก ประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก (WHO-SEARO) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 130 คนจาก 11 ประเทศในภูมิภาค เป้าหมายคือเพื่อร่วมมือกันเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างเสริมสุขภาพและ ลดปัจจัยเสี่ยงหลักที่นำไปสู่ปัญหาโรคไม่ติดต่อ ผ่านชุดมาตรการที่คุ้มทุน หรือ Best Buys ที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ


11 ประเทศเอเชียผนึกกำลังรับวิกฤติโรคแห่งศตวรรษที่ 21 thaihealth


ศาสตราจารย์ เค ศรีนารถ เรดดีประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติอินเดีย นำเสนอผลศึกษาความคุ้มทุนในการลงทุนด้านสุขภาพที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ฮาร์วาร์ด บิสซิเนส รีวิวว่า โลกจะต้องสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์เป็นมูลค่าราว 47 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดปี 2554 ถึง 2573 หากเรายังปล่อยให้วิกฤติ NCDs เป็นปัญหาสุขภาพกับประชากร และผู้ป่วย ที่เสียชีวิตจาก 4 โรค NCDs ทั่วโลกจะ พุ่งสูงขึ้นจาก 28.3 ล้านคนในปี 2563 เป็น 38.8 ล้านคนในปี 2568 ซึ่งหนทางที่จะช่วยประชากรราว 37 ล้านคนทั่วโลกให้ปลอดภัยจากความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค NCDs คือการเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างเสริมสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงหลักที่นำไปสู่ปัญหาโรค NCDs รวมถึงต้องลดการสูบบุหรี่ให้ได้ราวร้อยละ 50%


ศ.เรดดี กล่าวต่อถึงมาตรการเพิ่มเติมสำหรับนโยบายด้าน NCDs ที่ดีที่สุด ว่า ควรมีสามองค์ประกอบหลักคือ 1) มาตรการทางนโยบายเช่นการเพิ่มภาษีบาปเหล้า บุหรี่ น้ำตาล 2) มาตรการป้องกันและส่งเสริม สุขภาพ เช่น ลดไขมันทรานส์ อาหารหวาน มัน เค็ม และ 3) มาตรการสาธารณสุขเพื่อชุมชน องค์ประกอบเหล่านี้สามารถนำมาบูรณาการแผน NCDs ให้เป็นส่วนหนึ่ง ของหลักประกันสุขภาพได้


พร้อมยกตัวอย่าง แนวทางการปรับตัว ของแต่ละประเทศ เช่นในสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เพิ่งประกาศแผนเก็บภาษียาสูบ เครื่องดื่มชูกำลัง 100% และ น้ำหวาน 50% มาใช้อย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งภาษีเหล่านี้จะช่วยงาน NCDs ได้ ไม่ว่าจะเป็น  การจัดสรรยาและการตรวจรักษาที่จำเป็น ขั้นตอนการรักษาต่อเนื่องที่ครอบคลุมสำหรับผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิ


ด้าน มิสทรินน์ ฮาบิทช์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคม เอสโตรเนีย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 25 ปี เอสโตเนียมีการวางรากฐานสาธารณสุขมูลฐาน โดยการสร้างระบบคนไข้และระบบเบิกจ่ายรายหัวผ่านเครือข่ายแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และใช้งบประมาณ หลักประกันสุขภาพที่ 12-14% ของงบประมาณประจำปีทั้งหมด โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ เงินรายหัวลดลงจาก 74.3% เหลือ 55% แต่ได้มีการนำเงินหลักประกันสุขภาพกลับไปเพิ่มขึ้นที่งบการตรวจคัดกรองโรคอย่างละเอียดสำหรับโรค NCDs มากขึ้น  เช่นมีการตรวจค้นหาโรคเบาหวานชนิด 2 หลายแบบ รวมทั้งงบเพื่อการบำบัดฟื้นฟู งบกิจกรรม งบสำหรับเจ้าหน้าที่ ที่ทำงานด้านนี้ เป็นต้น


ท้ายสุด ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรุปถึง ความท้าทายของ ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก รวมทั้งไทยว่ายังขาดศักยภาพในการนำเอามาตรการ Best Buys มาปรับใช้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งภาคสาธารณสุขคือ ผู้มีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสามระดับ 1) ระดับนโยบายคือนโยบายสาธารณะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 2) ระดับสุขภาพ ที่เน้นการสร้างนำซ่อมลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ และการมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืนและ 3) ระดับสังคม โดยสร้างการตระหนักรู้และทักษะด้านสุขภาวะแก่ประชาชน เพื่อกระตุ้น ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม ไปสู่บรรทัดฐานใหม่ของสังคมที่ห่างไกล NCDs อย่างยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code