100 วันเปลี่ยนความโทมนัสเป็นพลัง
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดนิทรรศการภาพถ่าย “100 วันเปลี่ยนความโทมนัสเป็นพลัง" ร่วมรำลึก ผ่านห้วงเวลาโศกเศร้าของพสกนิกรชาวไทย เปิดผลสำรวจ ประชาชนยกในหลวง ร.9 ทรงเป็นต้นแบบความพอเพียง พระผู้ทรงวางรากฐานสังคมแห่งสุขภาวะ ร่วมบันทึกทุกความทรงจำให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้
เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ลานวิคทอรี่ พ้อยส์ เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข จัดแถลงข่าว “100 วัน ร้อยเรื่อง เปลี่ยนความโทมนัสเป็นพลัง” พร้อมเปิดนิทรรศการภาพถ่าย เปลี่ยนความโทมนัสเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ จัดแสดงที่ลานวิคทอรี่ พ้อยส์ จนถึงวันที่ 22 กันยายน 2560 โดยภายในงานมีการแสดงคณะนักร้องประสานเสียงของผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษมีนบุรี การเสวนาการสร้างแรงบันดาลใจ และการแสดงดนตรีจากกลุ่มนักดนตรีอิสระจากโครงการโคตรอินดี้
โดย ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. และภาคีเครือข่ายได้ดำเนินโครงการแรงบันดาลใจการสร้างสุขภาวะจากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อบันทึกเรื่องราวและความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อพระองค์ท่านอันเป็นที่รักยิ่งของชาวไทยทุกคน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างเสริมสุขภาพและสร้างพลังในการทำความดีตามรอยพระบาท โดยได้เก็บข้อมูลตลอด 100 วันแรกของการสวรรคต ประกอบด้วย 1.การบันทึกภาพปรากฏการณ์ต่างๆ จากช่างภาพชื่อดัง จัดแสดงเป็นนิทรรศการภาพถ่าย และจัดทำเป็นหนังสือสมุดภาพประวัติศาสตร์ 2.การวิจัยประสบการณ์ของประชาชน สะท้อนถึงการเปลี่ยนความโทมนัสเป็นพลังสร้างแรงบันดาลใจ 3.การรวบรวมบทความ บทกวี จัดทำเป็นหนังสือบันทึกคำจงรัก และหนังสือบันทึกความจงรัก ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณเก่ง ธชย ประทุมวรรณ ขับร้องบทกวี 4.การประกวดหนังสั้น “อาชีวะทำดีเพื่อพ่อ” วิดีโอภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ และรวบรวมบทเพลงเกี่ยวกับพระองค์ท่าน การบันทึกประวัติศาสตร์นี้ไว้จะเป็นการบันทึกหลักฐานที่สามารถแสดงพระบารมีอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่านให้คนไทยทั้งรุ่นปัจจุบันและรุ่นหลังและคนทั่วโลกได้รับรู้รับทราบต่อไป
ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการวิจัยฯ ทีมนักวิจัยได้สำรวจความคิดเห็นและความรู้สึกที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 จากประชาชน 400 คน โดยพระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างในด้านความพอเพียง ร้อยละ 83.7 โดยรับรู้พระปรีชาสามารถในด้านแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงมากที่สุด ร้อยละ 99.2 รองลงมาคือ ด้านการชลประทาน ร้อยละ 98.0 ด้านการดนตรี ร้อยละ 97.5 นอกจากนี้ ร้อยละ 81.5 รับรู้ในด้านคุณูปการด้านสาธารณสุข ผ่านโครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน และโครงการแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน ร้อยละ 81.47
“ตัวอย่างของหลักฐานที่ชัดเจนมากที่แสดงว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีคุณูปการต่องานสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชนชาวไทย คือ การที่องค์การอนามัยโลกได้ถวายโล่เกียรติยศ แด่พระองค์ท่านในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำทางจิตใจที่มุ่งมั่นและกอปรด้วยพลัง ทรงเป็นแบบอย่างทางสาธารณสุข ได้ทรงสร้างแนวทางตลอดจนบริบททางวัฒนธรรมที่สนับสนุนกิจกรรมต่อต้านบุหรี่ที่โดดเด่นที่สุดในเอเชีย และอีกครั้งที่พระองค์ทรงเป็นแสงส่องนำทางการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ คือ พระราชดำรัสที่ทรงตรัสในวันที่ 4ธันวาคม พ.ศ. 2547 ที่ทรงแสดงความห่วงใยของการสูบบุหรี่ของเยาวชนไทย โดยทรงตรัสให้เห็นโทษของการสูบบุหรี่ว่าทำให้สมองทึบ คิดอะไรไม่ออก เพราะเส้นเลือดในสมองตีบจากการ สูบบุหรี่ และทรงแนะให้เลิกสูบบุหรี่ดีกว่า” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว
ด้าน นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ หัวหน้าโครงการแรงบันดาลใจการสร้างสุขภาวะจาก พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชกรณียกิจที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรในทุกด้าน ในด้านสุขภาพของประชาชนงานทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นพระราชกรณียกิจที่ทรงให้ความสำคัญตั้งแต่แรกที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ ทั้งการสนับสนุนสมาคมต่อต้านวัณโรคและการผลิตวัคซีนบีซีจี การก่อตั้งราชประชาสมาสัย เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อน การควบคุมและรักษาโรคโปลิโอ การแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีน ทั้งยังได้ทรงริเริ่มสร้างภาพยนตร์ส่วนพระองค์ พระราชทานจัดฉายเพื่อหารายได้มาใช้สร้างอาคารและโรงพยาบาลหลายแห่ง ทรงจัดให้มีหน่วยแพทย์พระราชทาน งานทันตกรรมเคลื่อนที่ โครงการศัลยแพทย์อาสา รวมทั้งทรงรับผู้เจ็บป่วยที่ยากไร้ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์
“จากการวิเคราะห์โครงการวิจัยของประชาชนได้แรงบันดาลใจเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะ และนำแบบอย่างทั้งในเรื่องพระอัจฉริยภาพ พระราชดำรัส และโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต การทำงาน โดยส่วนใหญ่นำเรื่อง “ความพอเพียง” “ความอดทน” “ความซื่อสัตย์” และ “ความรับผิดชอบ” มาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยจะมองว่าแม้พระองค์เป็นถึงกษัตริย์ สามารถใช้ชีวิตแบบองค์อื่นๆ ทั่วไปได้ แต่ก็ยังใช้ชีวิตสมถะ ไม่ฟุ่มเฟือย และยังคงทำงานจนกระทั่งอายุ 88 ปี” นพ.โกมาตร กล่าว
ทั้งนี้ สสส. โดยรวบรวมผลงานนำเสนอผ่านเว็บไซต์ สสส. www.thaihealth.or.th 100 วัน เปลี่ยนความโทมนัสเป็นพลัง เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์นี้ไว้ให้ประชาชนอนุชนรุ่นหลังได้ค้นคว้าศึกษาและเรียนรู้ สำหรับสมุดภาพ “เปลี่ยนความโทมนัสเป็นพลัง” หนังสือบันทึกคำจงรัก และบันทึกความจงรัก ประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ซ.งามดูพลี กรุงเทพฯ หรือ โทร. 0 2343 1500 ต่อ 2 ได้ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายนนี้เป็นต้นไป โดยมีจำนวนจำกัดเพียง 10,000 เล่มเท่านั้น