10 เมนูฮิตปีใหม่เสี่ยงท้องร่วง

/data/content/26951/cms/e_afmopstvw156.jpg


          สธ.เตือนฉลองปีใหม่ประชาชนควรหลีกเลี่ยง 10 เมนูฮิต “ลาบ-ก้อยดิบ-ยำกุ้งเต้น” เสี่ยงท้องร่วง แนะยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ


          นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ 2558 ประชาชนส่วนใหญ่จะพบปะสังสรรค์กับครอบครัว เพื่อนฝูง ซึ่งจะต้องมีการรับประทานอาหารร่วมกัน เช่น ซื้อวัตถุดิบมาปรุงเอง หรือออกไปรับประทานนอกบ้านเพื่อเฉลิมฉลองร่วมกัน ควรเลี่ยง 10 เมนูยอดฮิตที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคอุจจาระร่วงและโรคอาหารเป็นพิษ


          จากรายงานสถานการณ์โรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า สถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยสูงที่สุดในเดือน มกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคมของทุกปี จากการเฝ้าระวังตั้งแต่ 1 มกราคม – 22 ธันวาคม 2557 พบผู้ป่วย 1,067,088 ราย เสียชีวิต 8 ราย คาดว่าในสิ้นปีนี้จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 8,139 ราย ในการป้องกันโรคดังกล่าว ขอความร่วมมือให้ปฏิบัติดังนี้ กลุ่มผู้ประกอบการอาหาร ขอให้ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึงและสะอาด ล้างผักผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้มีด เขียง หั่นวัตถุดิบและอาหารสุกแล้วร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค ดูแลครัวให้สะอาด ส่วนผู้บริโภคขอให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ด้วยสบู่และน้ำหรือแอลกอฮอล์เจล โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลัง เข้าห้องน้ำห้องส้วม


          นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมนูที่มักเป็นต้นเหตุของโรคอุจจาระร่วงพบได้ทุกปี มี10 เมนู ได้แก่ 1.ลาบ ก้อยดิบ 2.ยำกุ้งเต้น 3.ยำหอยแครง 4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5.อาหารหรือขนมที่ราดด้วยกะทิสด 6.ขนมจีน7.ข้าวมันไก่ 8.ส้มตำ 9.สลัดผัก และ10.น้ำแข็ง เพื่อความปลอดภัยขอให้ประชาชนปรุงให้สุกก่อนรับประทาน อาหารที่ปรุงเลี้ยงจำนวนมาก จะต้องปรุงล่วงหน้าไม่เกิน 4 ชั่วโมง สำหรับอาหารประเภทอาหารถุง อาหารกล่อง พร้อมบริโภค ควรแยกกับข้าวออกจากข้าวและรับประทานภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ ส่วนส้มตำซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมให้ระวังเป็นพิเศษ เพราะวัตถุดิบหลายอย่างที่นำมาปรุงอาจปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีตกค้าง อาทิ ปลาร้า ปูดองดิบ มะละกอและผักดิบ พริกขี้หนูที่ล้างไม่สะอาดหรือไม่ได้ล้าง ดังนั้นอยากขอความร่วมมือจากแม่ค้าในการเลือกวัตถุดิบเพื่อใช้สำหรับปรุงประกอบอาหารที่ สด สะอาด ถูกหลักอนามัยเพื่อป้องกันโรคอุจจาระร่วงและโรคอาหารเป็นพิษ


          ทั้งนี้ โรคอุจจาระร่วงและโรคอาหารเป็นพิษ มีอาการใกล้เคียงกัน คือ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาจมีไข้ หากมีบุคคลในครอบครัว หรือบุคคลใกล้ตัวป่วย ในการดูแลเบื้องต้นให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ โออาร์เอส ซึ่งหาซื้อได้ง่ายในร้านขายยาทั่วไป ใช้ดื่มแทนน้ำ หากไม่มีอาจปรุงดื่มเองโดยใช้น้ำต้มสุก 1 ขวดน้ำปลาใหญ่ หรือประมาณ 750 ซีซี. ผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือแกงครึ่งช้อนชา ผสมให้เข้ากัน ทิ้งให้เย็นและดื่มแทนน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ขอให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน


 


 


          ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์    


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต             


      


 

Shares:
QR Code :
QR Code