10 ปี เส้นทางแผนสุขภาวะชุมชน ของผู้หญิงขาลุย ดวงพร เฮงบุณยพันธ์

10 ปี เส้นทางแผนสุขภาวะชุมชน  ของผู้หญิงขาลุย ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ thaihealth


“การใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง พูดอีกด้านหนึ่งก็คือ การเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ไม่ต้องคุม ไม่ต้องกด เปิดพื้นที่ให้เปล่งแสงสว่างในตัวเอง” สะท้อนแนวคิดการทำงาน ของ ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ที่กล่าวไว้ในหนังสือ “จึงถามไถ่และไผ่ฝัน” 10 ปี ของแผนสุขภาวะชุมชน


ชื่อของพี่ด้วง “ดวงพร เฮงบุณยพันธ์” ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน หรือ ที่ภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เรียกติดปากว่า สสส. สำนัก 3 เชื่อว่าคนในแวดวงคนที่ทำงานด้านชุมชนไม่มีใครไม่รู้จัก ผู้หญิงเสียงดังขาลุยคนนี้


“พี่ชอบทำงานชุมชน พี่รู้ตัวตั้งแต่เป็นนักศึกษาพยาบาลที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น พอเรียนจบเราก็เลือกที่ไปทำงานเป็น พยาบาลชุมชน ตั้งเป้าแต่แรกเป็นจุดยืนเป็นเป้าหมายของชีวิต” เป็นคำตอบที่ทางทีม Exclusive Interview by สสส. ได้รับเมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านชุมชน    


ในโอกาสครบรอบ 10 ปี (พ.ศ.2552-2562) ของแผนสุขภาวะชุมชน ภายใต้การทำงานของพี่ด้วง เราถือโอกาสนี้ เจาะลึกถึงแนวคิด และการทำงานตลอด 10 ปี ร่วมกับภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ตลอดจนบรรดาทีมงาน นักวิชาการ ที่ผ่านทุกข์สุขมาด้วยกันนับครั้งไม่ถ้วน


 thaihealth


“ปากพูน” จุดเริ่ม..เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่


ก้าวแรกเมื่อมาเป็นผอ.สำนัก 3 พี่ด้วง เล่าว่า เราเข้ามาแก้ปัญหาโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองวิชาการและกรรมการบริหารแผนมาหมดแล้วให้ปรับให้ทุน พร้อมๆ กับการเปิดช่องทางการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) จำนวน 400 แห่ง  ในขณะที่ตอนนั้นจวนจะสิ้นปีงบประมาณ จึงต้องเร่งอย่างหนัก ซึ่งเหลือเพียงพิจารณาอนุมัติ เพื่อเดินหน้าทำงานต่อ


เมื่อแก้ปัญหาได้เปราะหนึ่ง ก็ตัดสินใจลงมาลุยงานในพื้นที่ โดยใช้เวลาเรียนรู้การทำงานของท้องถิ่น 8 เดือนเต็มๆ ที่ปากพูน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็น 1 ใน 400 อปท. ที่ทำงานร่วมกับสสส. อยู่แล้ว เพื่อให้เข้าใจโครงสร้างการทำงานของท้องถิ่นอย่างละเอียด จากนั้นอบต.ปากพูน ก็กลายเป็น “ศูนย์จัดการเรียนรู้สุขภาวะ 4 มิติ” หรือ “แม่ข่าย” แห่งแรก และเกิดการขยายผลต่อยอดถอดบนเรียน เกิดลูกข่าย  อบต. ดอนแก้ว อบต. หัวไผ่ เทศบาลตำบลขุนทะเล อบต.ท่าข้าม เทศบาลตำบลชากไทย อบต.หนองโรง ถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่การขยายเครือข่าย 3,000 ตำบลในปัจจุบัน  


“เรามีต้นทุนที่ทำงานกับท้องถิ่นอยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยทำงานพยาบาลชุมชน ก็ทำวิจัยชุมชน ร่วมกับรศ.ดร. ขนิษฐา นันทบุตร เพื่อนสมัยเรียนพยาบาล เป็นช่วงเวลาที่เกิดเครื่องมือ 2 ตัวคือ RECAP และ TCNAP ที่นำมาใช้ในการทำงานชุมชน ขณะเดียวกัน อาจารย์ขนิษฐา ถือเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนงานทางวิชาการและพัฒนาวิธีการทำงานร่วมกันของภาคีกับ สสส. ทั้ง อปท. และสถาบันวิชาการ โดยเน้นใช้พื้นที่เป็นฐานการพัฒนา” 


บทบาท “น้ำมันหล่อลื่น” ของ สสส. ต่องานชุมชน  


เมื่อถามถึงบทบาทของ สสส.ต่องานสุขภาวะชุมชน พี่ด้วง บอกว่า “บทบาทของสสส.เราเน้นเป็น “น้ำมันหล่อลื่น” ร่วมกันเป็นขบวนการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน โดยที่ชุมชนต้องลุกขึ้นมาทำเอง ดังนั้น บทบาทของสสส.จึงเป็นการเข้าไปชวนพูดคุย ชุมชนอยากทำอะไร ชุมชนจะจัดการปัญหาต่างๆ ได้อย่างไร โดยที่สสส. สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ หลักสูตร เครื่องมือต่างๆ ขณะที่ชุมชนเป็นผู้ปฏิบัติการลงมือทำ”


พี่ด้วง บอกอีกว่า บางเรื่อง สสส. ก็ต้องไปกระตุ้น จัดหาข้อมูล ทำหลักสูตร เพื่อให้เกิดเรียนรู้ร่วมกันของชุมชน เพราะชุมชนอาจไม่ได้เลือกเรื่องที่ควรทำ แต่เริ่มที่ประเด็นปัญหาประจำ อย่างการลดปัจจัยเสี่ยง เช่น เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ ก็ต้องกระตุ้นให้เรื่องปัจจัยเสี่ยงอยู่ในวาระของชุมชน ในช่วง 2-3 ปี แรก เขารู้สึกว่า เขาทำงานให้ สสส. แต่พอทำไปเรื่อยๆ ปีที่ 5 ชุมชนให้ความไว้วางใจ ประเด็นปัจจัยเสี่ยงกลายเป็นวาระของชุมชน ทำให้การลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยาก บอกได้เลยว่า ผู้นำชุมชนที่เป็นภาคีขับเคลื่อนงานกับสสส. สูบบุหรี่ไม่เกิน 3% ดื่มเหล้าไม่เกิน 8%


ทุนไม่ใช่ “เงิน” อย่างเดียว ทุนศักยภาพชุมชนสำคัญยิ่งกว่า


ขณะที่ปัจจัยความสำเร็จของการทำงานชุมชนในวันนี้ พี่ด้วงมองว่า สสส.ทำงานกับชุมชนท้องถิ่นเหมือนครอบครัว เป็นเพื่อน เป็นพี่เป็นน้อง ไม่เคยทิ้งกัน  


“สำนัก 3 สนับสนุนทุนไม่เยอะ เราทำงานโดยใช้ 3 ส่วน คือ ความรู้ เครื่องมือ และทุนสนับสนุน ซึ่งการมีเงินอย่างเดียวก็ไม่ได้หมายความว่างานจะประสบความสำเร็จ เช่น ตำบลปลอดเหล้า ทุนที่มี คือ ทุนศักยภาพคน ทุนสถาบันวิชาการ ทุนทางสังคม แผนสุขภาวะชุมชน ให้ทุนในพื้นที่ที่  ขาดเทคโนโลยี ใช้สถาบันวิชาการเป็นเพื่อนจับคู่เรียนรู้ นำความรู้จากนักศึกษาไปสู่ชุมชน โดยใช้พื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ในการฝึกงานในพื้นที่จริง ดังนั้น สสส. จึงไม่ใช่หน่วยงานให้ทุนอย่างเดียว เราต้องใช้ทุนทางสังคม สาน และเสริมพลัง เยอะมาก พูดได้ว่า สสส.ไม่ใช่องค์กรที่ให้เงิน เราเป็นเพื่อนสนิทกับชุมชนและเดินไปด้วยกัน”


พี่ด้วงบอกอีกว่า สสส.จะสร้างโมเดลการทำงานในพื้นที่นำร่องที่พิสูจน์ว่าได้ผล นำไปขยายผลโดยสื่อสารและเชื่อมร้อยงานเข้าสู่นโยบาย หรืองานประจำ และสสส.จะเป็นพี่เลี้ยงให้จนกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเดินต่อได้ ซึ่งเรื่องยากอาจใช้เวลา แต่เรื่องง่ายบางทีเหมือนพลิกฝ่ามือ


“องค์ความรู้ที่ สสส. มีเมื่อนำมาใช้ทำงานในระดับชุมชนไม่ใช่เรื่องยากนะ เช่น หากเปรียบเครื่องมือ หรือความรู้ของสสส. เป็นมะพร้าว สำนัก3 จะนำมะพร้าวนั้นมาใช้ในบริบทศักยภาพของพื้นที่ชุมชน เพราะเราอาจไม่ได้ใช้มะพร้าวนั้นได้เลย แต่ต้องประยุกต์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ทุกงานเท่ากับเราไม่ต้องเริ่มจากนับหนึ่ง”


 thaihealth


เราไม่ล้มเหลว เพราะทุกงานที่ทำเราได้เรียนรู้


ดังนั้นหากกล่าวถึง ผลสำเร็จของงานสุขภาวะชุมชน พี่ด้วง เอ่ยว่า สำนัก 3 สรุปถอดบทเรียนความสำเร็จและสิ่งที่ต้องปรับปรุงทุก 3 ปี ถ้าถามว่า 10 ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จหรือไม่ พูดได้เต็มปากว่า ประสบความสำเร็จ 4 เรื่องสำคัญ คือ 1. ทำให้ชุมชนท้องถิ่นรู้สึกต้องรับผิดชอบต่อปัจจัยเสี่ยงและกลายเป็นวาระสาธารณะของชุมชน 2. ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบต่อคุณภาพชีวิตประชากรในพื้นที่ เข้าใจมากขึ้นว่า ท้องถิ่นมีเรื่องที่ยังไม่ได้ทำ และงานที่สสส.ทำในพื้นที่สามารถขยายผลอยู่ในภารกิจของอปท.มากขึ้น 3. เปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานของตัวละครหลักๆ ในชุมชน โดยเฉพาะท้องถิ่น มักจะเข้าใจว่าคุณภาพชีวิต คือเรื่องทั่วไป แต่ที่จริงคุณภาพชีวิตเป็นเรื่องสุขภาวะ และ 4. ชุมชนรู้จัก สสส.มากขึ้น


“การทำงาน สสส.ปี แรกๆ คือ ชาวบ้านไม่รู้จัก สสส. เลย ถามว่าสสส.เป็นใคร แต่พอได้ทำงานร่วมกัน ชุมชนรู้จักสสส.มากขึ้น เราไม่ใช่ “ราชการ” ไม่ทำงานแบบราชการ เราเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้าน คิดเอง หาวิธีทำ สสส.สนับสนุนองค์ความรู้ เครื่องมือที่ชุมชนสามารถนำไปปรับใช้ ทั้งหมดกลับคืนมาเป็นการสร้างคุณค่า และภูมิคุ้มกันให้กับ สสส. ดังนั้น เราจึงไม่เคยล้มเหลว เพราะทุกงานที่ทำเราได้เรียนรู้”             


พี่ด้วง บอกอีกว่า แต่หากมองในเชิงปริมาณ สสส. มีอปท. 1 ใน 3 ของตำบลทั้งประเทศ หรือมีสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้อถิ่นน่าอยู่ถึง 3,000 กว่าอปท. ในจำนวนนี้มี 600 ตำบล ที่มีความเข้มแข็งมาก รองลงมาอีก 300 ตำบล เข้มแข็งระดับปานกลาง และ 1,000 ตำบล อยู่มาตรฐานทั่วไป ที่เหลือต้องมีการกระตุ้นมาก แต่เราไม่ทิ้งใคร หากเดินมาเป็นเพื่อนกับสสส. แล้ว ใครที่เหนื่อยท้อ พักก่อนได้ ระหว่านนั้นอาจขาดผู้นำที่ขาดความกล้าหาญ แต่เมื่อพร้อมก็เริ่มใหม่ ขณะเดียวกันการที่สสส. มีพื้นที่การทำงาน เป็นต้นทุน การทำงานเชิงประเด็นที่ สสส. ไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง เมื่อมีงานใหม่ๆ เชิงทดลอง เราสามารถทำในพื้นที่ได้ทันที ซึ่งได้ผลตอบสนองเร็วและเป็นรูปธรรม


 thaihealth


ทิศทางและก้าวต่อไป…ของงานสุขภาวะชุมชน


ในมุมของคนทำงานด้านชุมชนอย่างยาวนาน ตั้งแต่วันที่เริ่มจนถึงวันนี้ พี่ด้วง กล่าวอย่างภูมิใจว่า เรามีความสุขกับงานที่ทำ พนักงานของสสส. ก็คิดเหมือนกัน ทำงานแล้วอยากมีสุข เราเห็นคนในชุมชนมีแววตาที่มีมิตรภาพ มีความไม่ยอมแพ้ หรือจนมุมต่อปัญหา โควิดมาก็จัดการได้ วิกฤตมาก็จัดการ และคิดว่าชุมชนเครือข่ายฯ ก็มีความสุขไม่ต่างกัน


“ช่วงโควิด-19 เข้ามามันชัดเจนนะ สสส.สามารถปรับแผนงบประมาณได้ทันที ทำให้ผู้คนผ่อนคลายทุกข์จากโรค ทุกข์จากระบบ เราปรับแผนเพื่อให้ความช่วยเหลือ สสส.เป็นองค์กรที่ยืดหยุนมาก สามารถช่วยสร้างสุขภาวะของคนได้มาก”


ถามว่ามีปัญหาอุปกรรค หรือ เหนื่อยไหม พี่ด้วง ตอบเสียงดังฟังชัดว่า ไม่เหนื่อย แต่สนุก เหนื่อยก็พัก พักก็หาย ไม่มีความทุกข์สะสม เหนื่อยกายแต่ใจไม่ทุกข์ เวลาทำงานกับเครือข่ายปัญหาเข้ามาก็เป็นความท้าทาย จะทำอย่างไรให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง จัดการตนเองได้ ตอบได้เลยว่า มี 3 ปัจจัย คือ 1. ทำให้ 4 องค์กรหลักในชุมชนลุกขึ้นมาขับเคลื่อนไปด้วยกัน 2.บ่มเพาะผู้นำ 3. บริหารเครือข่ายขนาดใหญ่ ซึ่งหมายถึงการทำงานข้ามพื้นที่ มีภูมิคุ้มกัน มีเพื่อน


พี่ด้วงย้ำว่า การทำงานนับ 10 ปี บทพิสูจน์หนึ่งของชุมชน คือ หาก 4 องค์กรหลักในพื้นที่ ไม่ทำงานขับเคลื่อนไปพร้อมกัน “อย่าเพิ่งเริ่ม” เพราะเราจะทุกข์หนัก บาดเจ็บมาก และหนทางที่จะประสบความสำเร็จนั้น มีแต่อุปสรรค


“สสส. เข้าไปเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงาน ชุมชนไม่จำเป็นต้องแบมือขอตลอดเวลา เขาไม่ใช่ผู้ขอ แต่เป็นผู้ให้ได้เช่นกัน ต้องเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ เช่น อย่าคิดว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) จะช่วยเขายังไง แต่หาวิธีทำช่วยตัวเองก่อน เพราะหากหวังพึ่งคนอื่น เราจะผิดหวัง”


สำหรับก้าวต่อไปของงานสุขภาวะชุมชนที่วางทิศทางไว้ คือ 1.การสร้างชุมชนดิจิทัลที่เท่าทันเทคโนโลยี 2. นำ RECAP และ TCNAP เข้าสู่ระบบปกติผลักดันให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย นำไปใช้ และยังมีอีกหลายๆ งาน ที่ยังต้องเดินต่อ และส่งไม้ต่อให้กับคนทำงานรุ่นใหม่


10 ปีของการทำงานด้านสุขภาวะชุมชน จึงถือเป็นการวางฐานรากอย่างแน่นหนาให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะมาสานต่ออุดมการณ์และเจตณารมย์ สร้างชุมชมเข็มแข็งน่าอยู่ต่อไป


10 ปี เส้นทางแผนสุขภาวะชุมชน  ของผู้หญิงขาลุย ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ thaihealth

Shares:
QR Code :
QR Code