สสส. สานพลัง เล่นเปลี่ยนโลก จัดกระบวนการเล่นอิสระ 100 พื้นที่ 40 จังหวัด ชูมหกรรม “หนองบัวลำภูพื้นที่แห่งความสุข” มุ่งลดเครียด ดึงเด็กห่างจอ
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สุดคึกคัก มหกรรม “หนองบัวลำภูพื้นที่แห่งความสุข” จ.หนองบัวลำภู -เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก-สสส. สานพลัง 20 ภาคี จัดใหญ่มหกรรมเล่นอิสระ ดึงเด็กห่างหน้าจอ ลดความเครียด เพิ่มเวลาเล่น เพิ่มทักษะ เพิ่มความสุข
ตั้งเป้าขยายผลทุกตำบลทั่วประเทศ หวังปั้นคนคุณภาพทุกมิติด้วยการเล่นอิสระ
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2567 ณ รร.บ้านโนนสวรรค์ชัยมงคล ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก จ.หนองบัวลำภู และภาคีเครือข่าย จัดมหกรรม “เล่นอิสระสร้างสุข Happy Play หนองบัวลำภูพื้นที่แห่งความสุข พื้นที่เล่นและเรียนรู้ของเด็กและทุกคน”
นายศศิน พัฒนภิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า การเล่นอิสระเป็นธรรมชาติ ความต้องการ และความสุขของเด็ก ซึ่งความสุขคือพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ที่ดีในทุกด้าน ส่งผลให้เกิดพัฒนาการตามวัย พัฒนาทักษะด้านสมอง ทักษะชีวิตและสุขภาพจิตที่ดี ทั่วโลกยอมรับและใช้การเล่นอิสระพัฒนาเด็กทุกวัย นอกจากนี้ การเล่นเป็นสิทธิของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อที่ 31 และคณะกรรมมาธิการแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิเด็กให้นิยามการเล่นว่า “การเล่นเป็นมิติพื้นฐานที่สำคัญของความสุข ความพึงพอใจในวัยเด็กและเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาทั้งทางกาย สังคม ปัญญา อารมณ์ และจิตวิญญาณ” จ.หนองบัวลำภู ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาและการเล่นเสริมกันและกัน โดยเพิ่มการเล่นในเนื้อหาการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึงการเล่นอิสระในทุก ๆ วัน ทั้งระดับปฐมวัย วัยประถม และมัธยม
“การเล่นอิสระสำคัญไม่เฉพาะกับเด็ก ผู้ใหญ่ก็ต้องการการเล่นผ่อนคลาย อยากเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครอง และผู้ใหญ่ทุกคน ร่วมกันให้โอกาสเด็กเล่นอิสระ คืนความสุขในวัยเยาว์อย่างแท้จริง มีเวลาเล่นสนุกกับลูกหลานให้เป็นเวลาคุณภาพด้วยกัน จะทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น เป็นวิธีการหนึ่งของการป้องกันและแก้ปัญหาเด็กติดโทรศัพท์ สร้างสมดุลการเรียนรู้ในยุคเทคโนโลยี ที่สำคัญให้เด็กได้ฝึกฝนการสร้างสังคมเล็ก ๆ ที่เป็นสุขด้วยตัวเด็กเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีความสุขในอนาคต” รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าว
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า มีข้อมูลทางวิชาการทั่วโลกและไทยสนับสนุนว่าการเล่นอิสระช่วยสร้างความสามารถในการกำกับควบคุมพฤติกรรมตัวเอง เด็กที่เติบโตโดยได้เล่นอิสระทุกวันจะมีความสามารถนี้มากกว่าเด็กที่โตมาแบบขาดโอกาส หากเราอยากได้เด็กที่มีวินัยและสามารถควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ดีเราควรส่งเสริมเด็กทุกคน การเล่นอย่างอิสระ คือ เด็กเล่นอะไรก็ได้ตามความสนใจในขอบเขตของความปลอดภัย ไม่ถูกควบคุมโดยกฎกติกา แค่มีอุปกรณ์ หรือข้าวของรอบตัว แล้วเล่นด้วยกันกับเพื่อนหรือครอบครัว ส่งผลดีหลายอย่างคือ ความสุขเกิดทันทีที่ได้เล่น สลายความเครียดได้ ส่งเสริมการพัฒนาร่างกาย จิตใจ สังคม ปัญญา การจัดการอารมณ์ การควบคุมตัวเอง และหากเด็กได้เล่นเต็มที่ ได้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ จนสำเร็จ เช่น เด็กชอบเล่นก่อปราสาททราย หากจำกัดเวลา เขาอาจทำไม่สำเร็จ แต่หากปล่อยให้มีเวลาเล่นอิสระเต็มที่ เขาจะสามารถใช้เวลาก่อปราสาททราย อาจจะทำล้ม แล้วก่อใหม่อีกหลายครั้งจนสำเร็จ ทำให้ได้เรียนรู้ว่าหากล้มเหลว ยังสามารถเริ่มใหม่ได้ สร้างนิสัยล้มแล้วลุกไวไปต่อได้ ที่สำคัญยังทำให้เด็กห่างหน้าจอ เพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก-ผู้ใหญ่ ลดช่องระหว่างวัยในครอบครัวที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน
ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งเห็นประโยชน์ของการเล่นอิสระได้ชัดเจน แม้เด็กถูกจำกัดพื้นที่ แต่หากมีชั่วโมงเล่นอิสระทุกวัน ก็สามารถสลายความเครียดและมีพัฒนาการตามวัยได้ดี สสส. สานพลัง เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก จัดกระบวนการเล่นอิสระเกือบ 100 พื้นที่ กระจายใน 40 กว่าจังหวัดทั่วประเทศ ในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ ลานเล่นกลางในชุมชน ชั่วโมงเล่นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา รวมทั้งทดลองจัดการเล่นอิสระในสถานที่ทำงานของพ่อแม่ที่ต้องพาลูกไปที่ทำงานด้วย
“เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งหนึ่งของ จ.หนองบัวลำภู กรมสุขภาพจิต ประสาน สสส. และเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ไปจัดกระบวนการเล่นอิสระในพื้นที่ เพื่อฟื้นฟูความสุข ความสัมพันธ์ คลายความเครียด ความหวาดกลัว พบว่าทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ เครียดน้อยลง หลับดีขึ้น ความสัมพันธ์ดีขึ้น จนคนในพื้นที่ต้องการทำต่อด้วยตัวเอง สสส. และเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก จึงช่วยร่วมดำเนินโครงการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ พัฒนาบุคลากรทั้งครู พ่อแม่ อสม. ผู้ใหญ่ในชุมชนให้เป็นผู้อำนวยการเล่น (Play Worker) นำร่องใน 20 พื้นที่ ประกอบด้วย โรงเรียน 10 แห่ง ศพด. 9 แห่ง และชุมชน 1 ชุมชน ตอนนี้ขยายผลไปอีก 12 ชุมนใน 4 ตำบล ของ อ.เมือง และ อ.นากลาง โดยมีมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) ช่วยสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ เป็นหนึ่งในต้นแบบความสำเร็จที่สำคัญ ซึ่ง สสส.ตั้งเป้ายกระดับขับเคลื่อนการเล่นอิสระใน 5 มิติ 1. พัฒนาหลักสูตร play worker ให้เป็นมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ 2.ขยายผลร่วมกับกรมอนามัยและกรมสุขภาพจิต 3. จัดทำระบบฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเด็กให้เข้าใจการเล่นอิสระครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ 4. ผลักดันการเล่นอิสระให้แทรกในหลักสูตรการเรียนการสอน ด้วยแนวทาง “เล่น-เรียน-รู้” (Play-Based Learning) ซึ่งสอดคล้องกับพัฒนาการเด็ก ไม่ใช่การเร่งเรียนเขียนอ่าน 4. ส่งเสริมการเล่นอิสระทุกครอบครัว เพื่อให้เด็กเล่นอิสระได้ทุกวันไม่ว่าอยู่ที่ใด ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นรากฐานสำคัญให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีคุณภาพและมีสุขภาวะที่ดี” น.ส.ณัฐยา กล่าว
นายนิคม บุญเรืองศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโนนสวรรค์ชัยมงคล กล่าวว่า จากความสำเร็จในการฟื้นฟูความสุขของเด็กหลังเหตุการณ์ความรุนแรง พื้นที่จึงสนใจประเด็นการทำงานสร้างสุขและพัฒนาเด็กด้วยการเล่นอิสระ มุ่งพัฒนาศักยภาพครู ชุมชนเป็น Play Worker สร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กเข้าถึงการเล่นอิสระสร้างสุขและปลอดภัย เน้นความง่าย ใช้ทรัพยากรรอบตัวตามท้องถิ่น “อะไรก็เล่นได้ ที่ไหนก็เล่นได้” มีพื้นที่ดำเนินการใน ต.ท่าอุทัย ต.โนนเมือง อ.นากลาง และเทศบาลนามะเฟือง ต.โนนขมิ้น อ.เมือง พัฒนาพื้นที่นำร่องส่งเสริมการเล่นอิสระในโรงเรียนและ ศพด. สู่ครอบครัว 19 พื้นที่นำร่อง พื้นที่เล่นกลางของชุมชน 1 หมู่บ้าน และพื้นที่เล่นในหย่อมบ้านช่วงปิดเทอม 12 หมู่บ้าน มีผู้อำนวยการเล่นกว่า 120 คน บูรณาการการเล่นอิสระเข้ากับกิจกรรมสร้างประสบการณ์เรียนรู้ของ ศพด. บรรจุลงชั่วโมงเล่น วันเล่น (play day) ในแผนการเรียนการสอนของโรงเรียน การดำเนินงานทุกกระบวนการมีคณะผู้บริหารสถานศึกษาและคณะผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น/เทศบาล เป็นผู้นำทีม (Core Team) ช่วยมองแนวทาง วางแผน และขับเคลื่อนงานอย่างเป็นยุทธศาสตร์ จนทำให้เกิดเป็นเครือข่าย Happy Play หนองบัวลำภู
“มหกรรมเล่นอิสระ Happy Play หนองบัวลำภู เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ที่ให้เครือข่าย Happy Play หนองบัวลำภูทั้งหมด 20 พื้นที่ มารวมตัวกัน เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักให้ผู้ปกครอง ครอบครัว ชุมชน เห็นความสำคัญเรื่องการเล่นอิสระ เปิดพื้นที่เล่นอิสระให้เด็ก เยาวชน ครอบครัวและประชาชน เข้าถึงพื้นที่แห่งความสุข ในงาน มีลานเล่นอิสระ “สนุกกับการเล่นอิสระกับธรรมชาติและภูมิปัญญา” อะไรก็เล่นได้ มีมุมต่าง ๆ อาทิ เล่นกับธรรมชาติ เล่นศิลปะ เล่นกับเสียง เล่นผจญภัย เล่นป่ายปีน เล่นในบ้าน เล่นในโรงเรียน เล่นในสวน เล่นน้ำ มีเด็ก ๆ ผู้ปกครอง และผู้สนใจ เข้าร่วมงานกว่า 1,700 คน หลังจบมหกรรม ภาคีเครือข่ายจะร่วมถอดบทเรียนการทำงาน เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนส่งเสริมการเล่นอิสระอย่างต่อเนื่อง คาดหวังให้พื้นที่อื่น ๆ ใช้เรื่องการเล่นอิสระพัฒนาเด็กด้วยเช่นกัน” นายนิคม กล่าว