ไอเดียเลิศกลั่นขยะเป็น’น้ำมัน’
ไอเดียสุดเจ๋งจากคนไทย คิดเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะพลาสติก ลดปริมาณขยะล้นเมือง
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบุว่าทุกวันนี้ประเทศไทยมีปริมาณขยะมากถึง 64 ล้านตัน ตัวเลขนี้ไม่นิ่งเพราะทุกวันจะเพิ่มขึ้น 4-5 หมื่นตัน แบ่งเป็นขยะพลาสติก 20 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบวันละ 1 หมื่นตัน ที่ผ่านมาการกำจัดทำได้ด้วยวิธีเผาหรือฝังกลบ ซึ่งได้ทิ้งผลเสียและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น มูลนิธิพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนแห่งเอเชียแปซิฟิก โดย นายยุทธการ มากพันธุ์ จึงคิดค้นเครื่องกลั่นน้ำมันจากขยะพลาสติก ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขร้างเสริมสขภาพ (สสส.)
นายยุทธการ มากพันธุ์ ผอ.มูลนิธิพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน บอกว่า ปริมาณขยะล้นเมืองและการกำจัดที่ไม่ถูกวิธี ส่วนใหญ่ใช้วิธีเผาซึ่งทำให้เกิดสารไดออกซินล่องลอยไปในอากาศจนเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามมา จึงคิดว่าทำอย่างไรปัญหานี้จึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน
จากการศึกษาวิธีจัดการขยะของต่างประเทศพบมีหลายวิธีที่น่าสนใจคือ เทคโนโลยีการกลั่นน้ำมันจากขยะพลาสติกของญี่ปุ่น หรือการอบขยะด้วยกระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) เอาสารพิษต่างๆ มารวมกันแล้วใช้ความร้อนอบด้วยออกซิเจนกลายเป็น น้ำมันเชื้อเพลิง แต่เครื่องกลั่นนี้มีราคาสูงมาก จึงนำแนวคิดที่ได้มาประดิษฐ์ขึ้นเอง ด้วยเม็ดเงิน 3 แสนบาท
โดยเครื่องกลั่นน้ำมันที่ประดิษฐ์นี้ ใช้วิธีไพโรไลซิส คือ กระบวนการหลอม เหลวพลาสติกในห้องโลหะด้วยการใช้ความร้อนต่อเนื่องในระบบจำกัดอากาศ กระทั่งอุณหภูมิ 300-350 องศาเซลเซียส พลาสติก ที่ถูกหลอมเกิดการแตกตัวเป็นแก๊ส หรือ ไอออกมา แล้วถูกส่งไปยังหอกลั่นเพื่อให้ ความเย็นแล้วควบ แน่นกลายเป็นน้ำมันเหลวออกมา
“กระบวนการกลั่นน้ำมันจะเริ่มจากการนำขยะที่คัดแยกแล้วใส่ลงไปในห้องโลหะ ใช้แก๊สแอลพีจีให้ความร้อน 1 ชั่วโมงเพื่ออบขยะ เมื่อความร้อนได้ที่และเกิดการแตกตัว ไอน้ำมันจะส่งผ่านท่อไปยังหอกลั่นเพื่อคัดแยกเป็นน้ำมัน น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน จากนั้นจะนำน้ำมันที่ได้ไปกรองอีกชั้นหนึ่งเพื่อนำไปใช้กับเครื่องยนต์ต่อไป”
ผอ.มูลนิธิพัฒนาเทคโนโลยี กล่าว เสริมว่า ปริมาณขยะ 100 กิโลกรัม เมื่อนำมากลั่นจะได้น้ำมัน 70 ลิตร แยกตามชนิดลดหลั่นไปตามวัตถุดิบหรือขยะที่ใส่ลงไป ซึ่งหากเป็นขยะยางรถยนต์จะได้น้ำมันเตากับน้ำมันดีเซล แต่หากเป็นพลาสติกประเภท ถุงปุ๋ย ขวดน้ำ จะได้เป็นน้ำมันเบนซิน และขยะที่ถูกอบจนกลายเป็นผงถ่านมีค่าความร้อนสูงสามารถนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้ เมื่อคำนวณต้นทุนการผลิตพบว่าต่ำมากเพียง 7 บาทต่อลิตร เมื่อนำน้ำมันที่ได้ไปทดลองใช้กับเครื่องยนต์ทั่วไป พบว่ามีประสิทธิภาพดีไม่เกิดปัญหาต่อเครื่องยนต์แต่อย่างใด
“ขั้นตอนต่อไปเราหาวิธีเพื่อลดต้นทุนของเครื่องกลั่นนี้ให้มีขนาดเล็กลง ราคาถูกลง อีกทั้งพัฒนาเรื่องวัตถุดิบ เช่น เศษกิ่งไม้ ใบไม้แทนขยะ การใช้ฟืนหรือพลังงานแสงอาทิตย์ใช้แทนแก๊สในการให้ความร้อน ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายและเหมาะกับชุมชนขนาดเล็กที่จะนำไปใช้ต่อไป” ผอ.ยุทธการ กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก