ไม่ดื่ม ไม่ซิ่ง เพื่อชีวิตที่ดีปีใหม่
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากผู้จัดการออนไลน์
ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่มีวันหยุดยาวๆ หลายคนเลือกจะท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อชาร์ตพลังงานในตัวก่อนเริ่มต้นลุยงานในปีหน้า ขณะที่อีกหลายคนกลับมุ่งหน้าสู่บ้านเกิด เพื่อจะฉลองเทศกาลปีใหม่กับครอบครัว แต่คงจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจไม่น้อยหากบางคนกลับไม่ถึงบ้าน เพราะความประมาทของผู้ใช้รถใช้ถนนจนนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ
เหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เหยื่ออุบัติเหตุ และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมรับมือปีใหม่ ภายใต้แนวคิด "ปีใหม่ กลับบ้านปลอดภัย มีวินัย มีน้ำใจ ไม่ดื่ม ไม่ซิ่ง"เพื่อร่วมรณรงค์ขับขี่ปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่นี้
รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าว สรุปข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนในช่วงปีใหม่ (7 วัน) 3 ปีย้อนหลัง ระหว่างปี 2557-2559 พบว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 52 ราย บาดเจ็บเฉลี่ยวันละ 474 คน โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 380 ราย โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก พฤติกรรมของผู้ขับขี่ที่ไม่เคารพกฎหมาย และขาดวินัยในการขับขี่ และพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญคือการใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนดและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
พลตำรวจโทวิทยา ประยงค์พันธ์รักษาการผู้ช่วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดูแลด้านการจราจร กล่าวว่า ปกติแต่ละวันจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ บนท้องถนน 30 ราย ยิ่งถ้าเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว มาตรการ รับช่วงเทศกาลปีใหม่ ล่าสุดได้ประชุมฝ่ายอำนวยการงานจราจรตำรวจทางหลวง ตำรวจภูธร ด่านชุมชน และฝ่ายต่างๆ เน้นย้ำเรื่องการอำนวยความสะดวกในการจราจร จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง ทางโค้ง ทางลาดชัน ทั่วประเทศกว่า 2,602 จุด ประชาสัมพันธ์ทางเลี่ยงเพื่อบรรเทารถติดสะสม อีกทั้งกำชับกวดขันวินัยจราจร การใช้ความเร็ว การขับย้อนศร มาตรการเมาแล้วขับ จับยึดรถ ตามนโยบายรัฐบาลซึ่งจะมี จัดตรวจทั้งหมด 3 พันกว่าแห่ง ทั่วประเทศ ทั้งนี้ขอความร่วมมือประชาชนให้เข้าใจเวลาที่ตำรวจตั้งด่านและมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อตัวเองและ ผู้อื่น ไม่ละเมิดกฎหมาย
สุวีระ บุญรอด ศิลปินวงฟลัวร์ กล่าวว่า จากอุบัติเหตุถูกรถจักรยานยนต์ชนขณะเดินข้ามถนนเมื่อ 4 เดือน ที่ผ่านมา ทำให้ต้องนอนไอซียู รักษา เลือดคลั่งในสมอง กระดูกไหปลาร้าหัก ขาขวาหัก เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ตั้งใจเลิกดื่มสุราตลอดชีวิต เพราะรู้สึกว่าชีวิต มีค่า หันมารักชีวิตดีกว่า
"ผมหมดเงินไปกับสุราวันละ 1-2 พันบาท วันนี้กลับมาเป็นคนใหม่หลุดพ้นจากสุราได้ ปีใหม่นี้ควรลดละเลิกและฉลองอย่างมีสติ อย่าให้เทศกาลแห่งความสุขต้องกลายเป็นเทศกาลเจ็บ ตาย พิการ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่คนไทยอยากทำสิ่งดีๆ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นโอกาสอันนี้ที่จะปฏิบัติบูชาด้วยความตั้งใจที่จะเลิกดื่มน้ำเมาตลอดชีวิต ซึ่งถือเป็นบุญกุศล อันยิ่งใหญ่ถวายพระองค์ท่าน" สุวีระ กล่าว
สมร บรรณา วัย 66 ปี ต.นาส่วง อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี เหยื่อจากอุบัติเหตุบนท้องถนนรายหนึ่ง เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า ค่ำคืนของวันที่ 31 ธันวาคม ปี 2558 ขณะที่กำลังเดินข้ามถนนเพื่อไปร่วมสวดมนต์ข้ามปี ณ วัดในหมู่บ้าน ได้มีรถจักรยานยนต์ที่ขับมาด้วยความเร็ววิ่งเข้ามาชนเธออย่างรุนแรง ผลทำให้กระดูกเชิงกรานหักไป 4 ท่อน กระดูกสบ้าเคลื่อน แม้ไม่ถึงขั้นต้องเสียชีวิตแต่เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลกระทบให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมาก จากที่เคยช่วยเหลือตัวเองได้และยังมีรายได้เสริมในช่วงวันว่างจากการทำนาซึ่งหันมารับจ้างนวดแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน กลับต้องกลายมาเป็นคนเดินไม่สะดวกและไม่สามารถนั่งพับเพียบสวดมนต์ได้
"ปัจจุบันต้องพึ่งพารายได้ในการดำรงชีพจากลูกชายเพียงช่องทางเดียว ชีวิตค่อนข้างลำบากกว่าเดิมมาก จึงอยากจะฝากถึงคนใช้รถทุกคนให้ตระหนักและใส่ใจคนรอบข้างบ้าง โดยเฉพาะคนเดินถนน ง่วงก็ไม่ขับและอย่าขับรถเร็ว เพราะความประมาท ของคุณเพียงครั้งเดียวอาจส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตของคนๆหนึ่งได้ แม้นั่นอาจจะมาจากอุบัติเหตุเพียงครั้งเดียวก็ตาม" เหยื่อจากอุบัติเหตุกล่าว
ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าว ในตอนท้ายว่า สำหรับช่วงเทศกาล หยุดยาวในปีนี้ คาดว่าจะเป็นช่วงที่มีประชาชนจำนวนมากเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาร่วมลงนามถวายอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งอาจเป็นการเดินทางที่มีความแตกต่างจากปีอื่นๆ ที่ผ่านมา จึงอยากสนับสนุนการรณรงค์ภายใต้แคมเปญ "กลับบ้านปลอดภัย" เพื่อกระตุ้นเตือนประชาชนที่เดินทาง ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ สัญจรด้วยความระมัดระวังและลดพฤติกรรมเสี่ยงด้วยการมีวินัยเคารพกฎจราจร มีน้ำใจ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับรถหรือโดยสาร
"การดื่มแอลกอฮอล์เพียง 1 แก้ว (200 ซีซี) จะส่งผลให้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 20-30 มิลลิกรัม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการตัดสินใจและ การตอบสนองของคนช้าลง ความเสี่ยงที่ตามมาจึงมีมากขึ้น นอกจากนี้ควรใช้ ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ฝืน ขับรถขณะง่วงเพลีย และควรใช้อุปกรณ์นิรภัยตลอดการเดินทางทั้ง การคาดเข็มขัดนิรภัยและการ สวมหมวกนิรภัยเพื่อช่วยรักษาชีวิตได้หากประสบอุบัติเหตุ"