ไม่ควรกิน’ข้าวโพดกับข้าว’มื้อเดียวกัน

ไม่ควรกิน'ข้าวโพดกับข้าว'มื้อเดียวกัน  thaihealth


          กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนไม่ควรกินข้าวโพดและข้าวในมื้อเดียวกัน เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับสารคาร์โบไฮเดรตและพลังงานมากเกินความจำเป็น


          ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ข้าวโพดฝักจัดเป็นอาหารกลุ่มข้าว-แป้ง มีสารอาหารคาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งให้พลังงานแก่ร่างกาย นอกจากจะให้พลังงานแล้วยังมีใยอาหาร วิตามินเอที่มีมากเป็นพิเศษ เส้นใยอาหาร และแร่ธาตุชนิดต่างๆ อีกหลายชนิด อีกทั้งสีของข้าวโพดแต่ละสีก็จะมีสารอาหารและสารอื่นๆที่ไม่ใช่สารอาหารแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายต่างกันด้วย ข้าวโพดสีเหลืองจะมีวิตามินเอสูง เบต้าแคโรทีน คาร์โบไฮเดรตข้าวโพดสีม่วง จะมีแอนโทไซยานินสูง คาร์โบไฮเดรต ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระ และการเลือกข้าวโพดสุกที่ต้ม นึ่ง ปิ้ง ควรเลือกข้าวโพดที่มีเมล็ดแต่งตึงไม่ลีบแบน เมล็ดไม่แก่เกินไป โดยสังเกตจากสีของเมล็ดข้าวโพด หากเมล็ดข้าวโพดที่แก่มีสีเหลืองเข้ม เมล็ดจะแข็ง และเปลือกหุ้มเมล็ดข้าวโพดจะแข็งอีกด้วย


          ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า ข้าวโพดฝัก สามารถกินแลกเปลี่ยนกับอาหารชนิดอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันคือ ข้าวสวย ข้าวเหนียว ขนมจีน เส้นก๋วยเตี๋ยว กลอยและแป้งชนิดต่างๆ เป็นต้น ซึ่งหลักการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยคือ ให้กินข้าวเป็นอาหารหลักสลับกับแป้งเป็นบางมื้อ ถ้าหากมื้อไหนกินข้าวโพดแล้ว ควรลดข้าว-แป้ง ลงด้วย เพราะข้าวโพดครึ่งฝัก หรือประมาณทัพพีครึ่ง เท่ากับข้าวสวย 1 ทัพพี เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรต และพลังงานมากเกินความจำเป็น


          ควรซื้อข้าวโพดในปริมาณที่เพียงพอจะประกอบอาหารในแต่ละครั้งเท่านั้น หากใช้ไม่หมดก็ควรนำไปนึ่งหรือต้มให้สุกนาน 10 นาที แล้วทิ้งให้เย็น ฝานเอาแต่เมล็ด เก็บใส่ภาชนะที่มีฝาปิดสนิท นำเข้าช่องแช่แข็ง ไม่ควรเก็บข้าวโพดดิบที่ซื้อมาไว้ในตู้เย็นนานเกินไป เพราะเมล็ดข้าวโพดจะลีบแบนเพราะสูญเสียน้ำ และการกินข้าวโพดฝักสด ควรกินในรูปแบบอาหารว่างระหว่างมื้อ โดยผ่านกระบวนการทำให้สุกด้วยการต้ม นึ่ง หรือปิ้งให้สุก ซึ่งข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวมาใหม่ๆ จะมีคุณภาพและรสชาติหวานกว่าข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวแล้วเก็บไว้นานจะจืด และเหนียวขึ้น


          "ทั้งนี้ การกินอาหารในแต่ละมื้อหรือในแต่ละวัน ควรเลือกกินอาหารให้หลากหลายชนิดเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันการได้รับสารพิษที่อาจจะเกิดโทษกับร่างกายได้อีกทางหนึ่ง และควรกินในปริมาณที่พอเหมาะกับความต้องการของร่างกายซึ่งจะประเมินได้จากน้ำหนักตัวต้องไม่มากเกิน รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้สุขภาพดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด


 


 


          ที่มา: เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code